ในชีวิตหลายคน อาจจะไม่เคยสัมผัสกับคุก แต่หลายคนก็เข้าออกราวกับเป็นบ้านหลังที่ 2 ในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ไทยรัฐ ออนไลน์ พาไปรู้จักคุกในความหมายต่างๆ กัน เผื่อคนที่ช่างใจว่าจะทำอะไรผิดลงไปนั้น จะได้กลับใจอะไรได้บ้าง...
จุดเริ่มต้นของคุก...
สำหรับจุดเริ่มต้นนั้น ไม่แน่ชัดว่ามีความเป็นมาอย่างไร แต่เชื่อกันว่าการสร้างคุกขึ้น ไม่น่าจะสร้างขึ้นมาเพื่อความรื่นเริงบันเทิงใจ ทำนองว่า เธอๆ คืนนี้เราจะไปดริงค์ที่คุกไหนกันดี อันนี้ก็คงจะไม่ใช่ เพราะคุกนั้นสร้างขึ้นมากักขัง เป็นการลงโทษแก่ผู้กระทำผิดร้ายแรง เพื่อตักเตือนให้เปลี่ยนพฤติกรรม
อย่างไรก็ดี นอกจากจุดประสงค์สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดก็คือ คุกในสมัยนี้ ความโหด ความน่ากลัวต่างๆ แตกต่างกับคุกในสมัยเก่า ราวฟ้ากับเหวอย่างแน่นอน
ความหมายของคุก...
มาดูความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปีพ.ศ.2542 ให้ความหมายคำว่า “คุก” เอาไว้ว่า หมายถึงที่ ขังนักโทษ, เรือนจำ
ส่วนคำว่า “เรือนจำ” พจนานุกรมฉบับเดียวกัน ระบุความหมายว่า เป็นที่ขังนักโทษและผู้ต้องหา หรือที่ควบคุมกักขังผู้ต้องขังกับสิ่งที่ใช้ต่อเนื่องกัน และหมายความรวมตลอดถึงที่อื่นใด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดและประกาศในราชกิจจานุเบกษา วางอาณาเขตไว้โดยชัดเจน
นอกจากนี้ คำว่า “คุก” นั้น ยังได้บัญญัติความหมายอีกว่า เป็นสถานที่ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ทำผิดตามกฎหมาย ซึ่งมีอยู่หลายแห่งในประเทศ คุกหรือเรือนจำ เลยถูกแบ่งประเภทไว้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2547) โดยออกตามความในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ 2479 ไว้ว่า เรือนจำมี 4 ประเภทด้วยกัน ดังนี้
1. เรือนจำกลาง เอาไว้คุมขังผู้ต้องขังที่มีคำพิพากษาแล้ว และนักโทษเด็ดขาด
2. เรือนจำส่วนภูมิภาค แบ่งเป็นเรือนจำจังหวัด และเรือนจำอำเภอ คุมขังผู้ต้องขังที่เป็นคนฝาก ผู้ต้องขังระหว่างคดี และนักโทษเด็ดขาด
3. เรือนจำพิเศษ หรือทัณฑสถาน คุมขังผู้ต้องขังเฉพาะแต่ละประเภท เช่น หญิง คนวัยหนุ่ม เด็ก คนชรา หรือพิการทุพพลภาพ คนป่วย หรือผู้ต้องขังประเภทเดียวกับเรือนจำส่วนภูมิภาค ซึ่งในพื้นที่นั้นไม่มีเรือนจำส่วนภูมิภาคตั้งอยู่
4. เรือนจำชั่วคราว คุมขังผู้ต้องขังเฉพาะกรณีตามที่รัฐมนตรีกำหนด อำนาจในการคุมขังผู้ต้องขังของเรือนจำแต่ละเรือนจำ ให้เป็นไปตามประกาศของรัฐมนตรี
จำคุกทางการเมือง...!?!
อธิบายเรื่อง “คุก” แล้วไม่พูดถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งในเมืองไทย ที่มีทั้งการเผา การปล้น การฆ่าอย่างมากมายเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ โดยในครั้งนี้มีทั้งที่ถูกกล่าวหาว่า สั่งการทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ประเด็นก็คือ ถ้าหากสืบพบความผิดในที่สุดแล้วคนกลุ่มนี้จะต้องนอนอยู่ในคุกแน่นอน แต่จะเป็นคุกประเภทไหน...?
ไทยรัฐ ออนไลน์ สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ผู้ต้องหาที่ถูกตัดสินคดีทางการเมือง หรือผู้ที่ก่อความไม่สงบภายในบ้านเมือง ถ้าดำเนินคดีจะจัดอยู่ในประเภทคดีทั่วไป ซึ่งเมื่อทางศาลตัดสินแล้วว่ามีความผิดจริง ก็ต้องเข้ามาอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
“ในกรณีเหตุการณ์เผาสถานที่อันเป็นทรัพย์สินของผู้อื่นแบบนี้ เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งระยะเวลาในการจำคุกจะอยู่ที่ 18 ปีขึ้นไป ในบางกรณีที่โทษหนักมากๆ ก็อาจต้องย้ายไปอยู่เรือนจำที่มมีไว้สำหรับนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ เช่น เรือนจำกลางบางขวาง, เรือนจำกลางคลองเปรม เป็นต้น แต่จะมีการยื่นเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในบางรายด้วย” เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์กล่าว
ฟากนักกฎหมายอย่าง รองศาสตราจารย์ดร.เจษฎ์ โทณวณิก นักวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศชื่อดัง เติมเต็มกับไทยรัฐ ออนไลน์ ถึงประเด็นบทลงโทษของผู้ที่ก่อความไม่สงบในบ้านเมืองเมื่อเร็วๆ นี้ว่า
“โทษของการก่อการร้าย การปลุกระดม การก่อวินาศกรรมที่มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ และประชาชนอย่างที่เป็นข่าวนั้น การตัดสินสูงสุดคือโทษประหารชีวิตครับ แต่ถ้าลดหลั่นโทษมา ก็ยังถือเป็นคดีหนัก ซึ่งต้องไปอยู่ที่เรือนจำสำหรับนักโทษคดีอุกฉกรรจ์เรือนจำบางขวาง ส่วนกลุ่มแกนนำที่ปลุกระดมผู้ชุมนุมนั้น ตอนนี้ถือว่าเป็นผู้ต้องหา ผู้คุมจึงอาจจะต้องนำไปฝากขังก่อนที่เรือนจำพิเศษก็ได้ ซึ่งถ้าถึงขั้นการตัดสินของศาลจริงๆ ผมว่าอย่างน้อยๆ พวกเขาคงได้รับโทษไม่ 1 ใน 3 ก็ 2 ใน 3 หรือจำคุกไม่ 50 ปี ก็คงอยู่ที่ 10 กว่าปี”
ส่วนคำว่าคุกทางการเมือง นักกฎหมายชื่อดังคนนี้ ยังอธิบายถึงเรื่องคุกทางการเมืองด้วยว่า จริงๆ แล้วคำว่าคุกการเมืองในเมืองไทยไม่มี
“ในประเทศไทย เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามกลางเมืองเมื่อสมัยก่อนมี เพราะช่วงนั้นปัญหามันค่อนข้างรุนแรง มีความขัดแย้งกันสูง แต่เดี๋ยวนี้บางประเทศเขาก็อาจจะหาคุกสักที่เพื่อไว้สำหรับนักการเมือง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดด้านการเมืองไว้โดยเฉพาะ เนื่องจากว่าจะไปอยู่คุกคดีอุกฉกรรจ์ หรือคุกที่รับโทษทางเศรษฐกิจ มันก็ไม่ใช่เสียทีเดียว อย่างประเทศสาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย และประเทศในกลุ่มสหภาพโซเวียตนั้น จะมีคุกประเภทนี้” ดร.เจษฎ์ กล่าวในที่สุด