ที่มา มติชน แอนนา เปเรซ ชาวฝรั่งเศสวัย 52 ปี ที่อยู่ในเมืองไทยมานานร่วม 10 ปี ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นโศกนาฏกรรมโดยแท้จริง เพราะประเทศนี้มีรัฐประหารมาแล้วหลายครั้ง ไม่เคยมีครั้งไหนที่เกิดการจลาจลลุกลามใหญ่โตเหมือนครั้งนี้ ในขณะที่นายอลัน นีลสัน ชาวอังกฤษวัย 30 ปีเดินทางมาพร้อมกับภรรยาชาวไทยและลูกสาววัย 5 ขวบ ระบุว่า พวกเขาเดทกันหนแรกที่เซ็นทรัล เวิลด์ ทำให้รู้สึกเศร้าและมารำลึกถึงความหลังเป็นกรณีพิเศษ นายเฟดเดอริค นูมานน์ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจของธนาคารเอชเอสบีซี ระบุว่า ไทยมีประวัติเรื่องความรุนแรงทางการเมือง แต่หนนี้เป็นครั้งแรกที่การเผชิญหน้าขยายตัวลุกลามและรุนแรงมากจนถึงระดับนี้ อย่างไรก็ตามพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยยังดี ไม่มีการเสียสมดุลทางด้านเศรษฐกิจมหภาคให้ต้องเป็นกังวล คนเหล่านี้ใช้ทั้งวิธีการคุกคาม ปล้นสะดม และยิงสุ่มไปทั่วใจกลางเมืองหลวงในวันที่มีการสลายการชุมนุม สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงที่ว่าในขบวนการของคนเสื้อแดงมีกลุ่มคนเหล่านี้อยู่จริง ทั้งนี้ ระหว่างการแถลงข้อเท็จจริง นายไมเคิลแองเจโล ปีปิน เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ลุกขึ้นสอบถามถึงกรณีการเสียชีวิตของนาย ฟาบิโอ โปเลนกี ช่างภาพชาวอิตาลี ซึ่งได้รับคำชี้แจงจากฝ่ายไทยว่า นายโปเลนกี เสียชีวิตจากสะเก็ดระเบิด เอ็ม 79 ขณะถ่ายภาพอยู่เคียงข้างกับทหาร ในขณะที่ทางฝ่ายอิตาลีพยายามหาหลักฐานไปอีกทางว่า นายโปเลนกี เสียชีวิตจากกระสุนไม่ใช่ระเบิด
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม สำนักข่าวต่างประเทศที่ติดตามสถานการณ์หลังการชุมนุมในไทย รายงานถึงการรวมตัวกันเก็บกวาดทำความสะอาดและพยายามนำเอาชีวิตชีวาคืนมาให้กับพื้นที่ชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ในขณะที่นักวิเคราะห์ของเอชเอสบีซี เชื่อว่า การท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวก็ต้องรอจนถึงต้นปีหน้า ระบุปัจจัยเสี่ยงยังคงอยู่ นอกเหนือจากการรวมตัวกันเป็นกองกำลังติดอาวุธ หวังลอกเลียนสร้างสถานการณ์คล้ายภาคใต้ของ "คนชุดดำ" ซึ่ง "เดอะ ไทม์ส" ระบุแหล่งใหญ่อยู่ในสลัมคลองเตย
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ในจำนวนอาสาสมัครหลายร้อยคนที่เข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าไปทำความสะอาดในพื้นที่ชุมนุมนั้นมีกลุ่มชาวต่างชาติ ซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงและเริ่มอพยพกลับเข้าสู่ที่พักของตนแล้วรวมอยู่ด้วยหลายคน
รอยเตอร์ระบุว่า หลายคนรวมทั้ง เอียน ออร์บันฟ์ ครูสอบภาษาชาวดัตช์ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในไทยมานานกว่า 20 ปี ใช้รถจักรยานปั่นตระเวนถ่ายภาพเก็บไว้ ด้วยความรู้สึกตะลึงที่ได้เห็นความเสียหายจริงๆ ใหญ่หลวงกว่าที่คิดไว้มาก ออร์บันฟ์ เชื่อว่า หลายคนคงช็อคเหมือนกับตนเอง เพราะความเสียหายที่เห็นด้วยตานั้นมหาศาลกว่าในโทรทัศน์มากและจะติดอยู่ในใจอีกยาวนาน
ทางด้าน นิวยอร์ก ไทม์ส/อินเตอร์เนชั่นแนล เฮรัลด์ ทริบูน นำเสนอรายงานโฟกัสไปที่ความเสียหายเชิงเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยอ้างคำกล่าวของนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ระบุว่าความเสียหายเชิงเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ประท้วง 2 เดือนเศษครั้งนี้น่าจะอยู่ที่ราว 1,500 ล้านดอลลาร์ แต่ตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเคยต่อสู้กับปัญหาและฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็วในอดีต โดยตกต่ำที่สุดระหว่างการยึดสนามบินเมื่อปี 2552 แต่ก็กลับมาฟื้นตัวแข็งแกร่งได้อีกภายในไตรมาสเดียว น่าจะได้รับผลกระทบหนักกว่าทุกๆ ครั้ง ทั้งนี้นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า ภาคการท่องเที่ยวอาจจะไม่สามารถฟื้นตัวได้อีกจนกว่าจะถึงต้นปี 2554
นิวยอร์กไทม์ส ระบุด้วยว่า ผลกระทบยังมีต่อภาคค้าปลีก ภาคการผลิต และพลังงาน ซึ่งมีตั้งแต่การสูญเสียธุรกิจและโครงสร้างทางธุรกิจเสียหาย การปรับลดปริมาณการผลิตรถยนต์ชั่วคราวของบริษัทรถญี่ปุ่นในไทย และการปรับลดการจัดส่งน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าสู่โรงกลั่น ปตท.ใน กทม. อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนเห็นตรงกันว่า ผลกระทบดังกล่าวจะหนักและยาวนานแค่ไหนขึ้นอยู่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองลำดับต่อไปจะเป็นอย่างไร
"ที่เห็นอยู่เป็นเรื่องของความรู้สึกของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน และยิ่งความไม่แน่นอนอยู่ยาวนานมากเท่าใด ผลกระทบก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น" นายนูมานน์กล่าว พร้อมกับชี้ว่า ทุกฝ่ายจะจับตาแผนปรองดองแห่งชาติอย่างใกล้ชิดว่าได้ผลหรือไม่ หรือจะทำให้ประเทศดิ่งลงสู่ความรุนแรงระลอกใหม่ที่รุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิม ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับทรรศนะของนายอัมมาร สยามวาลา จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่กลุ่มคนเสื้อแดงจะเปลี่ยนสภาพเป็นกองกำลังติดอาวุธ
รายงานของ ซันเดย์ ไทม์ส ฉบับพิเศษประจำวันอาทิตย์ของหนังสือพิมพ์ เดอะไทม์ส ออฟ ลอนดอน นำเสนอรายงานพิเศษของ ไมเคิล เชอริแดน และเนท เทเยอร์ เปิดเผยถึงการสลายตัวของกองกำลังกลุ่มติดอาวุธของขบวนการเสื้อแดงซึ่งรู้จักกันในชื่อ "คนชุดดำ" ที่สลายตัวกลมกลืนเข้ากับชุมชนต่างๆอีกครั้ง โดยระบุว่า คนเหล่านี้ได้รับความชื่นชมจากชุมชนสลัมคลองเตยว่าเป็นวีรบุรุษและกลายเป็นจุดที่มีการต่อสู้กันหนักที่สุดในวันที่มีการสลายการชุมนุม
ไทม์ส อ้างการเปิดเผยของคนในชุมชนว่า คนเหล่านี้บอกว่าจะต้องสร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้นเหมือนกับที่คนมุสลิมทำในภาคใต้ ซึ่งหมายถึงการเป็นมือสังหารด้วยวิธีการหลายรูปแบบที่ไม่มีผู้นำ ไม่มีสามารถยับยั้งได้ พร้อมทั้งอ้างความเห็นของนายฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเอาไว้ว่า กลุ่มเสื้อแดงกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการต่อต้านด้วยอาวุธแล้ว
ทางด้านแอนดรูว์ ฮิกกินส์ ผู้สื่อข่าววอชิงตัน โพสต์ รายงานไว้ตอนหนึ่งในวันเดียวกันนี้ระบุว่า บรรดาทูตานุทูตต่างประเทศที่เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงของรัฐบาลเมื่อคืนวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แล้วแสดงความคิดเห็น เห็นพ้องในจุดยืนของรัฐบาลต่อผู้ชุมนุม
อนึ่ง ในวันเดียวกันนี้สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างว่า กลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งได้รับการต้อนรับกลับบ้านเยี่ยงวีรบุรุษ ประกาศว่าจะกลับมาชุมนุมใหม่อีกครั้งในเดือนหน้านี้
เพื่อไทย
Monday, May 24, 2010
"ไทม์ส"แฉ"ชุดดำ"สลายตัวซุกคลองเตย สื่อนอกกระพือข่าวคนไทยร่วมฟื้นฟูเมืองกรุง ท่องเที่ยวสาหัสสุด
สื่อนอกกระพือข่าวคนไทยจับมือร่วมกันทำความสะอาด ฟื้นฟูกรุงเทพฯ ผลกระทบทางเศรษฐกิจมหาศาล ท่องเที่ยวสาหัสที่สุด เดอะไทม์ส แฉ"คนเสื้อดำ"สลายตัวกลมกลืนเข้ากับชุมชนคลองเตย เตรียมแผนสร้างสถานการณ์ให้เหมือนภาคใต้