ที่มา มติชน
เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้ทำหน้าที่ควบคุมและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้ง และการออกเสียงประชามติ ตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม
คณะกรรมการการเลือกตั้งในยุคแรกได้ดำเนินการให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม ได้เป็นผลสำเร็จเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปเป็นอย่างดี จนได้รับการยกย่องจากสื่อมวลชนต่างประเทศ ให้เป็นหนึ่งในองค์กรอิสระของประเทศไทยที่มีธรรมาภิบาลดีที่สุดในเอเชีย
คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร มีภารกิจในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร การออกเสียงประชามติ และปฏิบัติภารกิจอื่นตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย
คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร มีกรรมการการเลือกตั้งจำนวน 5 คน จำลองรูปแบบคล้ายกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง คือ แบ่งการปฏิบัติหน้าที่เป็น 5 งาน ได้แก่ งานอำนวยการ งานจัดการเลือกตั้ง งานพรรคการเมือง งานสืบสวนสอบสวน และงานการมีส่วนร่วม
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ระหว่าง พ.ศ.2541-2553 เป็นเวลา 12 ปี ภารกิจในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร ประสบความสำเร็จด้วยดีในทุกด้าน แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ภาพรวมโดยทั่วไปนับว่าได้ดำเนินภารกิจค่อนข้างเรียบร้อย เป็นที่น่าพอใจ ที่สำคัญคือ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่ได้ให้ความช่วยเหลือร่วมมือเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดี การที่จะทำให้ภารกิจ โดยเฉพาะการบริหารจัดการเลือกตั้งให้ประสบความสำเร็จดังที่คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันได้ตั้งเจตนารมณ์ไว้คือ "สุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม" ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกัน รักษา แก้ไข ป้องกัน และทำอย่างต่อเนื่องให้สมกับเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้
การที่จะทำให้การเลือกตั้งประสบความสำเร็จ กลุ่มบุคคล 5 กลุ่มดังต่อไปนี้ต้องมีจิตสำนึกที่ต้องปฏิบัติ คือ
1.ผู้สมัครรับเลือกตั้ง กรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวคะแนน และผู้สนับสนุนต้องปฏิบัติตามกฎ กติกา มารยาท และกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย
2.กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง กรรมการนับคะแนนตลอดจนผู้เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเลือกตั้งทุกคน ต้องสุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม อย่างตรงไปตรงมา ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก โดยไม่มีใจโอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
3.ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างมีความสำนึกในความเป็นพลเมืองดี โดยไม่ขายสิทธิขายเสียง ใช้วิจารณญาณในการออกเสียงเลือกตั้ง เลือกคนที่ตนคิดว่าดีที่สุดไปเป็นผู้แทนหรือผู้บริหารอย่างรู้เท่าทัน
4.องค์กรภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ช่วยกันตรวจสอบไม่ยอมให้ใครทุจริตการเลือกตั้ง หรือหากมีการทุจริตการเลือกตั้ง ต้องช่วยกันท้วงติง และคัดค้านจนถึงที่สุด
5.สื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งอย่างเป็นกลาง ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ถ้าทุกฝ่ายปฏิบัติตามหลัก 5 ประการดังกล่าวได้ การเลือกตั้งของประเทศไทยก็จะเป็นไปโดยสุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม สมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และของคณะกรรมการการเลือกตั้งไว้ทุกประการ