แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เปิดเผย ผู้สื่อข่าว"มติชนออนไลน์" ว่า เมื่อไม่นานมานี้ องค์คณะพิจารณาอุทธรณ์ 5 คน ได้ ทำบันทึกความเห็น คดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินจำนวน 46,373 ล้านบาทเศษตกเป็นของแผ่นดินว่า สมควรจะรับหรือไม่อุทธรณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยองค์คณะพิจารณาอุทธรณ์ ได้ส่งบันทึกความเห็นไปยังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 นายสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา ได้เรียกประชุมใหญ่ผู้พิพากษาในศาลฎีกา 142 คนเพื่อลงมติเลือกองค์คณะพิจารณาอุทธรณ์
ผลการเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกาปรากกฏว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้ลงมติเลือกองค์คณะพิจารณาอุทธรณ์ 5 คนคือ นายพีรพล พิชยวัฒน์ รองประธานศาลฎีกา นายสมศักดิ์ จันทรา ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา นายมานัส เหลืองประเสริฐ ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกา และนายฐานันท์ วรรณโกวิท ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา
ทั้งนี้ หน้าที่ของ องค์คณะดังกล่าว คือ การพิจารณาอุทธรณ์ว่ามีพยานหลักฐานใหม่ที่ไม่เคยเกิดปรากฏในชั้นไต่สวนตามกฎหมายกำหนดที่ศาลฎีกาสามารถรับอุทธรณ์ไว้พิจารณาได้หรือไม่ โดยองค์คณะจะทำบันทึกความเห็นเสนอความเห็นที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาลงมติเสียงส่วนใหญ่ว่าจะรับอุทธรณ์ไว้พิจารณาหรือไม่ต่อไป หากที่ประชุมใหญ่ลงมติไม่รับอุทธรณ์ถือเป็นการสิ้นสุดกระบวนการ คดีเป็นอันยุติ
ผู้สื่อข่าว ได้สอบถามความเห็น อาจารย์สอนกฎหมาย จาก คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ คำพิพากษาคดียึดทรัพย์ของศาลฎีกาฯ หลายท่าน และส่วนใหญ่ ยืนยันตรงกันว่า ศาลฎีกาฯ จะยกอุทธรณ์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างแน่นอน เพราะไม่มีพยานหลักฐานใหม่ และเหตุผลอีกประการคือ หากรับอุทธรณ์ จะเป็นการหักล้าง คำพิพากษาของศาลฎีกา ฯ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์
สำหรับ ทีมทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้แก่ นายฉัตรทิพย์ ตัณฑประศาสน์ และนายสมพร พงษ์สุวรรณ เป็นทนายความของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ และนายกิตติพร อรุณรัตน์ ทนายความของ นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ
แนวอุทธรณ์ของตระกูลชินวัตร ยืนยันว่า นโยบายทั้ง 5 ของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ขณะนั้นไม่ได้เอื้อประโยชน์ธุรกิจครอบครัว พร้อมยื่นบัญชีพยานบุคคลใหม่ พยานบุคคลที่ศาลยังไม่ได้ไต่สวน ทั้งนี้ ทีมทนายความได้อ้างบทวิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกาฯคดียึดทรัพย์ของ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นความเห็นทางวิชาการที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลฎีกาหลายประเด็น