ที่มา ประชาไท
เพื่อไทย
Saturday, July 3, 2010
ศาลไต่สวน อนุญาตขัง ‘สมบัติ’ ต่อ 7 วัน ยังซักถามไม่เสร็จ
วันนี้ 2 ก.ค.53 เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.ที่ศาลอาญารัชดา ศาลขึ้นบัลลังก์ไต่สวนกรณีทนายความของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวนายสมบัติ ซึ่งถูกควบคุมตัวตามหมายควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เนื่องจากการควบคุมตัวไม่ชอบ ทั้งนี้ ในเบื้องต้นศาลได้สั่งให้มีการไต่สวนผ่านระบบเทเลคอนเฟอร์เรนท์ แต่ภายหลังศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของทนายความ ให้นำตัวนาย สมบัติ มาไต่สวนต่อหน้าศาล เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถแสดงพยานหลักฐาน เหตุผล และข้อเท็จจริงถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัว
ตามคำร้องของนายสมบัติ ระบุว่าการควบคุมตัวดังกล่าวกระทำโดยมิชอบ และไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากการจัดกิจกรรมเป็นไปเพื่อการแสดงออกซึ่งความเห็นทางการเมือง โดยวิธีการสันติและปราศจากอาวุธ ตามสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งผูกพันประเทศไทย
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 พ.ค.53 ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับนายสมบัติ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เข้าควบคุมตัวนายสมบัติขณะทำกิจกรรมผูกผ้าแดงที่ป้ายราชประสงค์ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.53 และถูกนำตัวไปควบคุมที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บก.ตชด.) ภาค 1 คลอง 5 จ.ปทุมธานี ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.53 นายสมบัติ ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวและขอให้ปล่อยตัว โดยได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน (ศรส.) มีนายอานนท์ นำภา ทำหน้าที่ทนายความ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงเช้ามีผู้ใกล้ชิด เพื่อน และประชาชนมารอในกำลังใจและเข้ารับฟังการไต่สวนราว 10 คน ขณะที่นายสมบัติ ถูกเบิกตัวจาก บก.ตชด.ภาค1 มายังศาลอาญา โดยสวมเสื้อยืดสีขาวด้านหน้าพิมพ์ข้อความ “I am RED วันอาทิตย์สีแดง”
สมบัติ ให้สัมภาษณ์ก่อนเริ่มการไต่สวนว่า เพิ่งได้ทราบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่านอกจากการไต่สวนกรณีถูกควบคุมตัวโดยศอฉ.ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว ยังต้องขึ้นศาลกรณีที่ถูกฟ้องในคดีอาญาความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกด้วย โดยในสำนวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบมาว่ามีการระบุว่าเขาได้ปลุกระดมประชาชนให้นำยางรถยนต์มาเผาด้วยทั้งที่ไม่เป็นความจริง
ในการพิจารณาคดีทนายความได้เบิกตัวและซักถามเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบ ผู้ยื่นขอต่อระยะเวลาการควบคุมตัวนายสมบัติ โดยเจ้าหน้าที่ชี้แจงเหตุผลการขอหมายจับต่อศาลว่า ผู้ต้องสงสัยได้ร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงมาโดยตลอด ระหว่างชุมนุมมีเหตุการณ์ไม่สงบภายในบ้านเมืองตลอดมา มีคนร้ายก่อความไม่สงบหลายครั้งจนนายกฯ ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้ต้องสงสัยทราบถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อกำหนดต่างๆ ดีแต่ก็ยังร่วมชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่อยมา ต่อมา ศอฉ.ได้กระชับวงล้อมแยกผู้ชุมนุมกับผู้ก่อการร้าย ผู้ชุมนุมได้ตอบโต้การทำงานของเจ้าหน้าที่จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก หลังเหตุการณ์ดังกล่าวผู้ต้องสงสัยยังนำกลุ่มบุคคลมาชุมนุม ปราศรัยบนถนนประดิษฐ์มนูธรรม ชักชวน ปลุกระดม ให้ผู้ชุมนุมตอบโต้การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงออกหมายจับกุมผู้ต้องสงสัยในฐานะผู้สนับสนุนหรือร่วมกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนั้น วันที่ 26 มิ.ย.53 ผู้ต้องสงสัยยังนำกลุ่มบุคคลมาชุมนุมและผูกผ้าสัญลักษณ์สีแดงที่แยกราชประสงค์ ตำรวจจึงจับกุมตัวตามหมายจับมาควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเห็นได้ว่าหลังเหตุการณ์ไม่สงบผู้ต้องสงสัยยังดำเนินการทางการเมืองโดยการปลุกระดมชักชวนให้มีการชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมืองที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมอันจะทำให้เกิดความไม่สงบ ขัดต่อหลักกฎหมาย แม้จะอ้างเรื่องสิทธิโดยชอบธรรมตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่สิทธิดังกล่าวกระทบต่อการใช้ชีวิตปกติของประชาชนทั่วไป และมีกฎหมายคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บัญญัติห้ามไว้
ส่วนเหตุที่ขอขยายเวลาการควบคุมตัวนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า เนื่องจากผู้ต้องสงสัยมีพฤติการณ์สนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ไม่สงบในบ้านเมือง และพนักงานผู้ซักถามยังซักถามผู้ต้องสงสัยไม่แล้วเสร็จจึงขอขยายระยะเวลาต่ออีก7 วัน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองปราบปรามระบุด้วยว่า เขาไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์การชุมนุมของนายสมบัติในวันที่ 21 พ.ค.ตามที่มีการตั้งข้อกล่าวหา ไม่ทราบรายละเอียดต่างๆ ทราบเพียงรายงานตามที่ตำรวจ สน.วังทองหลางส่งมาให้
จากนั้นในช่วงบ่าย นายสมบัติได้เข้าเบิกความกับศาล โดยกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 21 พ.ค.53 ซึ่งได้กระทำการจนทำให้เกิดเป็นคดีว่า ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาหลังจากเมื่อวันที่ 19 พ.ค.35 มีการสลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ โดยเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบไล่ยิงประชาชนกลางเมือง แต่ในสื่อกลับเสนอแต่ข่าวของเจ้าหน้าที่ทหารและผู้สั่งการ แต่ไม่ได้มีการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงในด้านของผู้ชุมนุม สวนสาธารณะขนาดเล็กใต้ทางด่วน จึงกลายเป็นสถานที่ที่ประชาชนใช้ในการมานั่งพูดคุยกัน เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะไปรับรู้ข้อมูลได้จากที่ไหน
“การที่ผู้คนออกมาเสาะหาข้อเท็จที่เขากำลังเป็นทุกข์ ถือเป็นปฏิกิริยาพื้นฐานของมนุษย์ แต่การที่รัฐบาลบอกให้พวกเขาเงียบอยู่กับบ้านต่างหากที่ขัดกับพื้นฐานของมนุษย์” นายสมบัติกล่าว
นายสมบัติกล่าวต่อมาว่าก่อนที่เขาจะเข้าร่วมกิจกรรมที่บริเวณสวนสาธารณะดังกล่าว มีประชามชนจำนวนหนึ่งได้ไปพบปะและทำกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ร่วมทั้งภาพถ่ายกันอยู่ก่อนแล้ว ส่วนตัวเขาได้โพสต์ข้อความในอินเตอร์เน็ตก่อนที่จะไปร่วมพูดคุยกับผู้คนที่นั่น โดยไม่รู้ว่าคนจะมาเท่าไหร่ และเมื่อวันที่ 20 พ.ค.53 เขาก็ไปที่สวนสาธารณะแห่งนั้นด้วย
เมื่อทนายถามถึงจำนวนคนที่ไปรวมตัวกันนายสมบัติกล่าวว่าอยู่ที่ราว 10-80 คนแล้วแต่วันและช่วงเวลา ซึ่งเขาไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เพราะต่างนั่งจับกลุ่มพูดคุยกันกระจัดกระจายอยู่ในสวนหย่อม เป็นการพูดคุยกันปกติ ไม่มีเวที และบอร์ดนิทรรศการภาพถ่าย เป็นการนำรูปของแต่ละคนที่มีไปติดตามกำแพง แต่ตัวเขาเป็นคนที่คนทั่วไปคุ้นหน้าเนื่องจากเป็น นกป.จึงมีคนนำโทรโข่งมาให้โดยขอให้พูดคุยกับคนที่มารวมตัวกัน นอกจากนั้นก็ยังมีผู้ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ที่วัดปทุมฯ มาบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้ เขายืนยันว่าไม่ได้มีความคิดที่จะจัดชุมนุมทางการเมืองหรือปลุกระดมแต่อย่างใด และไม่มีการพูดให้ระดมยาง หรือการยุยงให้เผาดังที่ถูกกล่าวหา
“ในฐานะที่มีความเป็นมนุษย์และมีความผูกพันกับผู้คนที่เสียชีวิต บาดเจ็บ และกำลังเสียขวัญ ไม่รู้ว่าตัวเองจะเป็นเช่นไรต่อไป จำเป็นที่จะต้องมีการพูดคุยแบ่งปันสิ่งที่เกิดขึ้น ให้คนที่รู้เรื่องราวมาบอกเล่าให้ฟัง” นายสมบัติกล่าว
นายสมบัติเล่าต่อมาว่า นับตั้งแต่เวลาประมาณ 12.00 น.ที่เขาเข้าไปร่วมกิจกรรมการพูดคุยดำเนินไปราว 2 ชั่วโมง จากนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนกว่า 200 นาย เข้ามาในพื้นที่และขอให้ยุติกิจกรรมต่างๆ ซึ่งไม่เห็นประโยชน์ใดๆ ในการดื้อรั้น พวกเขากึงแยกย้ายกันเดินทางกลับ และในวันนั้นก็ไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
“ผมไปเพราะสามัญสำนึก และคิดว่าเป็นสิทธิที่จะแสดงแดงออก โดยไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร” นายสมบัติกล่าว
ต่อคำถามของทนายว่าทราบหรือไม่ว่าตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมือง นายสมบัติตอบว่าทราบ แต่ส่วนตัวเขาคิดว่าการประกาศบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไม่สมเหตุสมผล แต่เกิดจากความต้องการที่จะใช้กำลังทหารปราบปราม อีกทั้งเห็นว่าการกระทำของเขาและประชาชนจำนวนหนึ่งในสวนหย่อม ไม่ได้เป็นการปิดถนน ไม่ได้สร้างความวุ่นวาย จึงไม่น่าจะเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมืองที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย
นายสมบัติกล่าวด้วยว่า ส่วนตัวเขาคิดว่าการแจ้งความในข้อหายุยง ปลุกปั่น เป็นความต้องการของคนที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลที่ต้องการใส่ความ รังแก โดยใช้อำนาจกฎหมายและกลไกของรัฐเพื่อมาละเมิดสิทธิของคนที่เห็นต่าง และเหตุผลที่เจาะจงที่ตัวเขานั้นเป็นเพราะตั้งแต่ที่การชุมนุมยุติลง เขาเป็นคนเดียวที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์ ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมวันอาทิตย์สีแดง ซึ่งคิดว่ารัฐบาลมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ต่อต้านรัฐ และอาจนำไปสู่การต่อสู้ในรูปแบบใหม่ๆ รัฐบาลต้องการกำจัดทุกคนที่เห็นต่างไม่ว่าจะเป็นสายเหยี่ยว หรือสายพิราบที่ใช้วิถีทางสันติวิธี
ทั้งนี้ นายสมบัติยังได้ให้ข้อมูลถึงการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในการต่อต้านรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ร่วมรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อีกทั้งเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แต่ในการเคลื่อนไหวของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เขาไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวใดๆ
นายสมบัติ ให้ข้อมูลด้วยว่า หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมโดยกำลังทหารบนถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 ซึ่งทำให้ผู้ชุมนุม นปช.และทหารบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนไม่ต่ำกว่า 20 ราย เขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งใน “คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาตรวจสอบกรณีเหตุความรุนแรงจากการขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 10 เม.ย.” ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและได้เข้าไปในพื้นที่การชุมนุมเพื่อดูข้อมูลหลักฐาน แต่หลังจากเข้าร่วมประชุม 2-3 ครั้งก็ได้ยื่นจดหมายลาออกเนื่องจากเห็นว่าการทำงานไม่ได้เอาจริงเอาจังและไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายสมบัติกล่าวอีกว่าเขาทำงานเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม โดยใช้วิธีรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ และเป็นผู้เสนอแคมเปญ “แดงไม่รับ” ในการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และต่อมาสีแดงถูกใช้แทนการต่อสู่เชิงสัญลักษณ์ และนำมาขับเคลื่อนในกิจกรรมการเมืองจนถึงปัจจุบัน พร้อมยืนยันว่าไม่ได้มีพฤติกรรมในการยั่วยุหรือปลุกระดมให้เกิดความรุนแรง และไม่เห็นด้วยการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมทางการเมืองไม่ฝ่ายต่อฝ่ายใด
“การต่อสู้ทางการเมือง ต้องใช้วิธีการทางการเมืองเท่านั้น” บก.ลายจุดกล่าว
เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในวันที่ 7 เม.ย.53 ทั้งที่ยังไม่ได้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆ ส่วนตัวมีความคิดว่ารัฐบาลต้องการใช้อำนาจทางการทหารกับผู้ที่คิดเห็นแตกต่างกับรัฐบาล และต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ วันที่ 10 เม.ย.53 ซึ่งมีการใช้กำลังทหาร รถหุ้มเกราะ และอาวุธสงครามเต็มรูปแบบเพื่อสลายการชุมนุม
ส่วนข้อกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ระบุถึงพฤติกรรมยั่วยุ ปลุกระดม นายสมบัติยืนยันว่าไม่เป็นความจริง แต่การแสดงออกของเขาเป็นไปเพื่อยืนยันสิทธิการแสดงความเห็นทางการเมือง พร้อมยกตัวอย่างกิจกรรมที่ชื่อ “เปลือยเพื่อชีวิต” เมื่อวันที่ 18 พ.ค.53 ที่บริเวณใต้ทางด่วนสามเหลี่ยมดินแดง โดยชักชวนกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงมาถอดเสื้อผ้า เพื่อเป็นสัญลักษณ์สื่อสารไปยังคนทั่วไปในสังคมให้รู้ว่าพวกเขามีเพียงตัวเปล่า ไม่มีอาวุธ
นายสมบัติกล่าวว่าการกล่าวหาดังกล่าว ทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียง และขัดแย้งกับกิจกรรมที่เขาเคยทำมา อย่างไรก็ตาม หากได้รับการปล่อยตัว เขาก็จะทำกิจกรรมรณรงค์ต่อไป โดยยืนยันว่าสิทธิทางการเมืองคือสิทธิมนุษยชน
ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัว เนื่องจากการควบคุมตัวไม่ชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากการไต่ส่วนเสร็จสิ้นลงเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น.ศาลให้รอฟังคำสั่งในห้องพิจารณาคดี นายสมบัติก็ได้เขียนข้อความขนาดสั้นๆ ถึงความรู้สึกของเขาต่อการไต่สวนในวันนี้ และแจกจ่ายให้กับกลุ่มแฟนคลับที่มาฟังการพิจารณาคำร้อง อีกทั้งได้นั่งพูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง
เมื่อเวลา 15.30 น.ศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอปล่อยตัว โดยระบุว่าจากพฤติการณ์ของผู้ร้องที่ส่อให้เห็นว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองจริง ในระหว่างที่ยังมีการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมีการนำรูปเหตุการณ์สลายการชุมนุมไปติดในบริเวณสถานที่ และได้พบกับคน 10-80 คน ดังนั้นการควบคุมตัวจึงชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
อีกทั้ง ในวันเดียวกันนี้ครบกำหนด 7 วันของการควบคุมตัว และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการยื่นขอควบคุมตัวต่อไปอีก 7 วันต่อผู้พิพากษาเวร ซึ่งศาลได้พิจารณาอนุญาตตามคำขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่มีการฟ้องคดีอาญากับนายสมบัติแต่อย่างใด