เป็นโอกาสอันดีในโอกาสในช่วงที่มีการสรรหาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ ตามพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ปรับปรุงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทยและกลไกต่างๆให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้มากยิ่งขึ้น
เริ่มจากกระบวนการสรรหาผู้ว่าฯคนใหม่ หลังจากที่การสรรหาเสร็จสิ้นแล้ว นายกรณ์ จาติกวาณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังควรเปิดเผยข้อกระบวนการสรรหาทั้งหมด รวมทั้งวิสัยทัศน์ของผู้สมัครทั้งหมดเพื่อให้สาธารณชนได้ตรวจสอบว่า การใช้ดุลพินิจของรัฐมนตรีคลังในการตรวจ"ข้อสอบ"เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน มีเหตุมีผล จะได้ไม่มีข้อครหาว่า เล่นพรรคเล่นพรรคหรือถูกบีบจากผู้มีบารมีนอกพรรคประชาธิปัตย์
ในด้านการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ว่าฯคนใหม่ควรปรับปรุงการทำงานและกลไกต่างๆโดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ซึ่งการตัดสินใจของคณะกรรมการมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและมีผลได้ผลเสียสูง
ในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ให้เหตุผลในตอนหนึ่งว่า
"โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงวัตถุประสงค์อำนาจหน้าที่ และโครงสร้างของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้เหมาะสม...ในการดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงิน ตลอดจนสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ประกอบกับ สมควรให้มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย และมาตรการต่างๆ เฉพาะที่จำเป็นในแต่ละด้าน ได้แก่ คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน เพื่อให้การดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและระบบสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทันต่อเหตุการณ์และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจทางการเงินของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการกิจการของธนาคารแห่งประเทศไท.. รวมทั้งกำหนดการป้องกันการมีส่วนได้เสียของผู้ว่าการ กรรมการ พนักงาน และลูกจ้าง เพื่อให้การบริหารงานของธนาคารแห่งประเทศไทยมีความโปร่งใส ........"
แต่นั่นเป็นเพียงหลักการในกฎหมาย ในทางปฏิบัติ การดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการชุดต่าง ๆ อาจจะไม่เป็นอิสระจากการแทรกแซงของภาคการเมือง(ดูตัวอย่างจากการสรรหาคณะกรรมการธนาราชุดแรก)ได้อย่างแท้จริง หากกรรมการคนใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีส่วนได้ส่วนเสีย มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและรับอิทธิพลจากฝ่ายการเมืองมาประกอบการตัดสินใจในทางนโยบาย อาจเกิดผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง
ดังนั้น น่าจะมีกระบวนการการตรวจสอบกระบวนการตัดสินใจของคณะกรรมการชุดต่างๆ โดยเฉพาะ กนง.ที่ควรให้สาธารณชนรับรู้ว่า กรรมการคนไหนคิดและตัดสินใจอย่างไร เพราะในทางข้อเท็จจริง ไม่มีทางทราบได้ว่า "ผู้ทรงคุณวุฒิ"คนใด มีความใกล้ชิดกับนักธุรกิจ นักการเมืองคนใด มีการนำเอาข้อมูลภายใน(insider) ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่
ตัวอย่าง เช่น การตัดสินใจควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนเมื่อปลายปี 2549 (มาตรการกันสำรอง 30%) นั้น ถ้าเกิดกรรมการคนใดนำข้อมูลภายใน ในวันที่ตัดสินใจไปให้ตัวแทนทำการซื้อขายหลักทรัพย์ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม (มีคำสั่งขายก่อนที่จะมีการประกาศการตัดสินใจ และช้อนซื้อในวันต่อมาหลังประกาศคำสั่งแล้ว) ก็เป็นการนำข้อมูลภายในไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ครอบครัว และพวกพ้อง
ความเป็นอิสระและความโปร่งใสของ กนง.นั้นไม่ควรกล่าวอ้างกันลอย ๆ แต่ ควรมีการเปิดเผยบันทึกการประชุม หรือที่เรียกว่า "minutes" เช่นประเทศที่าทำนโยบายการเงินอย่างโปร่งใสและอิสระซึ่งมีการเผยแพร่บันทึกรายงานการประชุมว่า กรรมการคนไหนพูดอะไร และตัดสินใจอย่างไรบนเหตุผลข้อเท็จจริงอะไร ให้ประชาชนอย่างเราได้รับทราบภายใน 1 เดือนภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น อาทิ ธนาคารกลางประเทศออสเตรเลียนั้นเผยแพร่รายงานการประชุมใน 2 สัปดาห์หลังการประชุม ญี่ปุ่นกำหนดเวลา 1 เดือน ธนาคารกลางสหรัฐฯ ภายใน 3 สัปดาห์ และธนาคารกลางอังกฤษภายใน 2 สัปดาห์ หรือแม้แต่บราซิลซึ่งมาตรฐานด้านความโปร่งใสไม่น่าจะสูงมากก็ยังมีการเผยแพร่ภายใน 1 เดือนเลย
สำหรับประเทศไทย หวังว่า คงไม่ต้องมีกระชับพื้นที่ทวงความโปร่งใสให้เป็นที่ขายหน้าประเทศอื่นๆอีก