WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, July 1, 2010

เมื่อนักวิชาการออสเตรเลียมองสังคมไทยผ่านประเด็น "เซ็กส์, ความรัก และการซื้อเสียง"

ที่มา มติชน


แอนดรูว์ วอล์คเกอร์

หมายเหตุ แอนดรูว์ วอล์คเกอร์ นักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยาที่ทำการศึกษาเรื่องสังคมไทย ได้เขียนบทความชื่อ "เซ็กส์, ความรัก และการซื้อเสียง" ลงในเว็บล็อก "นิว แมนดาลา" (นวมณฑล) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา มติชนออนไลน์เห็นว่าบทความดังกล่าวมีเนื้อหาน่าสนใจจึงขออนุญาตแปลและนำมาเผยแพร่ต่อดังนี้


แม้ว่าโลกสมัยใหม่จะถูกครอบงำด้วยการค้าเชิงพาณิชย์แต่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานเรื่องเงินตราก็ยังมักจะถูกหัวเราะเยาะเย้ยอยู่เสมอ ด้วยเหตุผลฟังดูดีหลายประการ ซึ่งพิจารณาว่าความสัมพันธ์แบบนี้มีความไม่น่าเชื่อถือหรือไว้วางใจ และสิ้นไร้ซึ่งศีลธรรม


อย่างไรก็ตาม การตัดสินว่าความสัมพันธ์ใดวางอยู่บนพื้นฐานเรื่องเงินตราหรือไม่กลับถือเป็นเรื่องยุ่งยากมาก และผู้ที่กล่าวประณามความสัมพันธ์ดังกล่าวก็มักจะทำการตัดสินจากแง่มุมอันผิวเผิน ไม่ได้พยายามทำความเข้าใจกับรายละเอียดต่าง ๆ ของความสัมพันธ์ซึ่งเกิดขึ้น


ประเทศไทยก็เป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนในประเด็นนี้ รวมทั้งความสุ่มเสี่ยงในการตัดสินอะไรอย่างง่าย ๆ และหยาบ ๆ


มีชายชาวตะวันตกจำนวนมากเดินทางเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย ผู้ชายเหล่านี้ได้สานสัมพันธ์และใช้ชีวิตคู่ร่วมกับหญิงไทย ความคิดเห็นแบบเหมารวมประเภทหนึ่งที่มีต่อความสัมพันธ์รูปแบบนี้ก็คือ ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีพื้นฐานอยู่บนเรื่องเงินตรา


โดยเรื่องก็มีอยู่ว่าชายชาวตะวันตกค้นพบว่าตนเองไม่ตกเป็นที่รักและที่ดึงดูดใจภายในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนแต่พวกเขากลับค้นพบว่าตนเองสามารถหาคู่ครองได้ง่ายกว่าในประเทศไทย เนื่องจากสถานะที่ร่ำรวยของพวกเขา เมื่อผู้ชายที่ร่ำรวยได้เจอกับหญิงสาวที่ยากจน สัญญาธุรกิจครั้งนี้จึงถือว่าลงตัว


เรื่องราวรักใคร่ระหว่างชายฝรั่งกับหญิงไทยจึงมักถูกเหมารวมว่าเป็นการเจรจากันเพื่อผลประโยชน์ทางด้านการเงิน มากกว่าจะพิจารณาไปที่เรื่องรูปร่างหน้าตา ความเฉลียวฉลาด หรือบุคลิกภาพ


บรรดาผู้ที่เร่ขายความคิดแบบเหมารวมเช่นนี้ ย่อมจะสามารถนำเสนอข้อมูลจำนวนมากมายมาช่วยยืนยันถึงข้อกล่าวอ้างของตนเอง นับตั้งแต่เรื่องของขวัญ, การโอนเงิน, ทรัพย์สินที่ถูกซื้อมาเป็นสินสอด และมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้นอย่างทันตาเห็นของบรรดาหญิงไทยที่แต่งงานกับสามีชาวต่างชาติ


ผู้ที่มีความเห็นสุดขั้วแบบรุนแรงมักจะให้เหตุผลโต้แย้งว่าความสัมพันธ์ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานเรื่องเงินตราเพียงประการเดียวเช่นนี้ควรจะต้องถูกขัดขวางอย่างรุนแรง กระทั่งศาลก็ควรจะต้องพิพากษาให้การสมรสระหว่างชายฝรั่งกับหญิงไทยเป็นโมฆะเลยด้วยซ้ำไป หากตรวจสอบพบว่ามีการโอนเงินจากสามีชาวต่างชาติให้แก่ภรรยาชาวไทย


แม้ความคิดแบบเหมารวมเช่นนี้อาจจะมีส่วนเสี้ยวความจริงอยู่บ้างแต่ก็เช่นเดียวกันกับความคิดแบบเหมารวมอื่น ๆ ซึ่งย่อมเต็มไปด้วยความเข้าใจผิด การใส่ความหมายใหม่ และการอธิบายเรื่องราวให้เข้าใจง่ายอย่างหยาบ ๆ


เพราะความความสัมพันธ์ระหว่างสามีฝรั่งกับภรรยาชาวไทยนั้นเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนและมีเหลี่ยมมุมมากมายดังนั้น จึงไม่ใช่เหตุผลที่ดีนัก หากเราจะมุ่งเน้นความสนใจไปยังปัจจัยเรื่องเงินเพียงประการเดียว เพื่อทำความเข้าใจกับการแลกเปลี่ยนในรูปแบบพหุลักษณ์ระหว่างชายชาวตะวันตกกับคู่ชีวิตชาวไทยของพวกเขา


ความคิดแบบเหมารวมเช่นนี้นี่แหละที่ได้ละเลยเพิกเฉยต่อความแตกต่างหลากหลาย,ความละเอียดอ่อน และเงื่อนงำอันลี้ลับที่เกิดขึ้นในแรงจูงใจของมนุษย์อย่างสิ้นเชิง


นี่จึงเป็นความคิดแบบเหมารวมอันอัปลักษณ์ซึ่งสมควรจะถูกประณาม


ยังมีความคิดเห็นแบบเหมารวมอีกประการหนึ่งที่คล้ายคลึงกับความคิดเหมารวมประการแรกและอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่ออนาคตของประเทศไทยได้มากกว่า นั่นก็คือความคิดแบบเหมารวมที่มองว่าความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งถูกจูงใจโดยปัจจัยเรื่องเงินตราเพียงเท่านั้น


โครงเรื่องของความคิดเหมารวมเช่นนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับความคิดเหมารวมเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชายฝรั่งกับหญิงไทยกล่าวคือ พวกนักการเมืองต่างไร้ซึ่งเสน่ห์ในทางนโยบายและบุคลิกภาพ จนไม่สามารถดึงดูดใจผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ ดังนั้น นักการเมืองทั้งหลายจึงต้องใช้ฐานะที่ร่ำรวยของตนเองไปซื้อเสียงมาจากชาวบ้านผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง


ผู้เร่ขายความคิดแบบเหมารวมเช่นนี้ได้ทำให้ความคิดของตนเองมีความสมจริงสมจังมากยิ่งขึ้น ด้วยเรื่องเล่าอันน่าตื่นตาตื่นใจว่าด้วยผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่หมกมุ่นอยู่กับเงินและเหล้ากระทั่งพวกเขาได้โยนคุณธรรมในการลงคะแนนเสียงของตนเองทิ้งไป


พวกเรามักถูกกรอกหูโดยเหล่านักวิเคราะห์ว่าบรรดาผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่เปราะบางทางศีลธรรมและมีฐานะยากจนมักจะสนใจในสิ่งๆ เดียว ยามเมื่อพวกเขาได้เผชิญหน้ากับนักการเมือง นั่นก็คือ เงิน ไม่ใช่นโยบาย, บุญญาบารมี หรือทักษะใด ๆ ชาวบ้านผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหลายต้องการเพียงเงินสดจากนักการเมืองเท่านั้น


นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ความสลับซับซ้อนในความสัมพันธ์และแรงจูงใจของมนุษย์ถูกละเลยเพิกเฉย การมุ่งเน้นความสนใจไปที่ความสัมพันธ์ในเชิงการแลกเปลี่ยนเงินตราซึ่งฝังแน่นอยู่ในจิตใจอันป่วยไข้ของบรรดาผู้สังเกตการณ์เหล่านั้นส่งผลให้พวกเขามองไม่เห็นว่าการแลกเปลี่ยนระหว่างมนุษย์ได้ถูกฝังตรึงอยู่กับความสัมพันธ์หลายหลากเหลี่ยมมุมและขึ้นอยู่ระบบการประเมินค่าทางศีลธรรมอันแตกต่างหลากหลาย


พวกเราต่างรู้กันว่าความคิดแบบเหมารวมประเภทหลังนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการข่มขืนกระบวนการเลือกตั้งซึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2549 เป็นต้นมา เมื่อผู้คนในชนบทลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง พวกเขาก็โดนมองว่าถูกซื้อ เมื่อพวกเขาออกมาประท้วง ก็โดนมองว่าถูกซื้ออีก จนเป็นเรื่องไม่กระจ่างชัดว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบใดที่จะได้รับการอนุมัติจากรัฐไทย


บรรดาผู้สนับสนุนความคิดเห็นแบบเหมารวมเรื่องการซื้อเสียงจึงเหมือนกำลังผลักไสให้ประชาชนต้องมีปฏิบัติการทางการเมืองที่มีแนวโน้มถอนรากถอนโคนมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย