WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, June 28, 2010

ใบตองแห้งออนไลน์: ยุทธศาสตร์ประชาธิปไตย

ที่มา ประชาไท


และแล้วพรรคการเมืองใหม่ก็แสดงหัวจิตหัวใจเท่าอวัยวะมด เมื่อประกาศส่งสมัครรับเลือกตั้งซ่อมชั่วข้ามคืนก็ประกาศถอนตัว ด้วยข้ออ้างไม่ต้องการให้ผู้ก่อการร้ายเข้าสภา
จะอ้างอย่างไรก็แล้วแต่ แบบนี้เขาเรียกว่า “ฮั้ว” กันครับ และถ้าเป็น “การเมืองเก่า” ฮั้วกันแบบนี้ร้อยทั้งร้อยมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน สมมติเช่นเขตเลือกตั้งในภาคอีสาน เค้าจ่ายกัน 5-10 ล้าน แต่ในเมื่อเป็น “การเมืองใหม่” ก็คงมิบังอาจไปกล่าวหาท่านผู้มีเกียรติมีคุณธรรมจริยธรรม เพียงขอบอกว่าสะใจที่ไพศาล พืชมงคล พูดว่าถ้าถอนตัวเพราะกลัวตัดคะแนน ปชป.ก็อัปยศ และควรฝังพรรคการเมืองใหม่ไปได้เลย
เอ๊ะ แล้วถ้าไม่กลัวตัดคะแนน ปชป.จะถอนตัวหาพระแสงอันใด สมัยหน้าก็คงกลัวตัดคะแนน ปชป.ถอนตัวอีก เอาไว้ให้พรรคเพื่อไทยแพ้ราบคาบกลายเป็นพรรคต่ำสิบเมื่อไหร่ พรรคการเมืองใหม่ค่อยมาลงสมัครก็แล้วกัน เอิ๊กเอิ๊ก
นี่แสดงว่าพันธมิตรและพรรคการเมืองใหม่ ไม่มีเป้าหมายไม่มียุทธศาสตร์ไม่มีแนวทางนโยบายอะไรทั้งสิ้น นอกจากไล่ทักษิณสถานเดียว ทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้ทักษิณและพรรคเพื่อไทยชนะ ไอ้ที่คิดจะสร้างสรรค์สังคมให้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากคอรัปชั่นอย่างที่พูดไว้บนเวที ก็ฝากความหวังไว้กับ “ระบอบอภิสิทธิ์” ผ่านคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองของอานันท์-หมอประเวศ ก็พอ
ข่าววงในเค้ากระซิบด้วยนะว่า พล.อ.กิตติศักดิ์ยังเป็นแค่ตัวเลือกที่สอง ตัวเลือกแรกที่ พรรคจะส่งสมัครขอเวลาออกนอกห้องประชุมไปคิด 15 นาที ที่ไหนได้ ขับรถหายไปเลย เอิ๊กเอิ๊ก
ไว้เจอหน้า “สหายเก่า” เมื่อไหร่ใบตองแห้งจะแซวซะให้เจ็บ อีแบบนี้มันน่าเลือกวีระ สมความคิด ลงสมัครซะดีกว่า (แถมกล่องบริจาคให้หนึ่งใบ)
ฝั่งพรรคเพื่อไทยแม้จะเสียรังวัดที่ณัฐวุฒิไม่ลง ต้องเอาตัวสำรองเบอร์ 23 มาลงแทน (ข่าวบางกระแสว่าณัฐวุฒิไม่อยากตกเป็นเครื่องมือของจตุพร แต่ฝั่งเพื่อไทยอ้างว่ากลัวณัฐวุฒิโดนเล่นงานถึงชีวิต) ในภาพรวมก็ถือเป็นเกมเหนือชั้นคือไม่ต้องหวังผลแพ้ชนะ แต่ใช้การหาเสียงเลือกตั้งเล่นกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและกระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน ซึ่งฟังดูน่าสนุก มีปัจจัยเอื้อให้เล่นได้เยอะ เช่นที่ว่าจะเอาหุ่นยนต์มาหาเสียงแทน ขณะที่รัฐบาลยังดึงดันไม่ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่มีข้อยกเว้นให้หาเสียงได้ เอ้า ก็คอยดูไปสิครับ ปราศรัยหาเสียงด่ารัฐบาลได้ไหม ด่า ปชป.ได้ไหม ด่า ศอฉ.ได้ไหม นักข่าวฝรั่งคงงานเข้าอีกแล้ว เพราะสุเมธ ชุมสาย จะบอกว่าไม่เข้าใจประชาธิปไตยแบบไทยๆ เราเป็นประชาธิปไตยได้ภายใต้ ศอฉ.
ดีครับ ผมก็ไม่อยากให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินเร็ว อ้างกันเข้าไป ว่าเสื้อแดงยังลงใต้ดิน (อ้าว ก็มึงห้ามเขาขึ้นบนดิน) ว่าเสื้อแดงลอบวางระเบิดพรรคภูมิใจไทย (น่าสงสารนะ ไอ้พวกผู้ก่อการร้ายเสื้อแดงเนี่ยทำอะไรไม่สำเร็จซักอย่าง เอาอาร์พีจียิงวัดพระแก้วก็โดนกระทรวงกลาโหม เอาปืนติดกล้องยิงทหารก็ไพล่ไปโดนพวกกันเองตายเกลื่อน) ยืดไปอีกซักครึ่งปีก็ได้ จนจบคดียุบพรรค ปชป. หรืออ้างว่ายังมีคนคิดจะยิงหัวอภิสิทธิ์ล้างแค้นแทนเสธแดง แบบนั้นก็ประกาศภาวะฉุกเฉินไปจนอภิสิทธิ์แก่ตายเหอะ
แต่พูดจริงๆ ก็ยังมองไม่เห็นว่ายกเลิก พรก.ฉุกเฉินแล้ว ขบวนประชาธิปไตยที่มีเสื้อแดงเป็น subset จะสามารถปรับตัวและเริ่มการต่อสู้รอบใหม่ได้อย่างไร เผลอๆ ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินแล้วก็จะไปทำอะไรทะเล่อทะล่าเข้าทาง Teen ระบอบอภิสิทธิ์อีก เพื่อนพ้องน้องพี่บางคนที่คุยกันก็ห่วงว่าจตุพรยังลอยนวลอยู่ ถ้าปล่อยให้จตุพรหรือทักษิณนำการเคลื่อนไหวอีก ก็อาจนำไปสู่ความพ่ายแพ้รอบที่สาม เพราะพวกนี้คิดแต่จะทำอะไรสุ่มเสี่ยง ไม่มีความอดทนพอ
สู้ทางความคิดต้องอดทน
ก่อนอื่นต้องยกย่องว่าการต่อสู้ของเสื้อแดงแม้จะสุ่มเสี่ยงล้ำหน้าจนเสียหาย แต่ก็มีคุณูปการส่งผลสะเทือนอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะการปลุกให้มวลชนจำนวนมหาศาลตื่นขึ้นมามองเห็นความไม่เป็นประชาธิปไตยและความยุติธรรมสองมาตรฐานของระบอบอภิสิทธิ์ชน มวลชนเสื้อแดง ณ วันนี้ไปไกลลิบและไม่มีวันถอยกลับ ซึ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อว่าเกิดขึ้นได้ในเวลาเพียง 3-4 ปี เพื่อนพ้องฝ่ายซ้ายเก่าของผมยังหัวร่องอหงายที่นักการเมืองทุนท้องถิ่นอย่างบรรดา ส.ส.พรรคเพื่อไทย อย่างไชยา สะสมทรัพย์ อย่างสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ซึ่งไม่เค้ยไม่เคยคิดฝันว่าจะ“โค่นอำมาตย์” ยังต้องพลอยโจนไปกับมวลชนด้วย
พลังของเสื้อแดงที่ร้อนแรงรวดเร็วเพียงนี้ ก็เพราะมาจากการเคลื่อนไหวมวลชนผ่านสื่อ คือทีวีดาวเทียม วิทยุชุมชน ซี่งมีอิทธิพลเร้าอารมณ์ความรู้สึกคน ไม่ต่างจากพันธมิตรสร้างสาวกขึ้นจาก ASTV แต่มีจุดแข็งก็ต้องมีจุดอ่อน จุดอ่อนก็คือมันเป็นพลังที่วูบวาบ ใจร้อน อยากชนะเร็ว การเผยแพร่ความคิดยังไม่ลึกซึ้งพอ
พลังที่ใจร้อน อยากชนะเร็ว มักไม่อดทนกับการต่อสู้ทางความคิดที่ต้องใช้เวลา และเมื่อลุกฮือขึ้นมาแล้วแพ้ ก็เป็นอันตรายที่จะท้อแท้ หักศึก หรือโกรธแค้นแล้วแสดงออกอย่างสะเปะสะปะไม่มีเป้า
นั่นจึงเป็นคำถามตัวเบ้อเร่อว่า การต่อสู้รอบใหม่จะเริ่มขึ้นได้อย่างไร ภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน ไม่มีสื่อ ไม่มีพีเพิลแชนเนล ไม่มีวิทยุชุมชน มีแต่มวลชนที่อารมณ์ค้าง แล้วก็พูดกันถึงแต่จะลงใต้ดิน ไม่มีอารมณ์จะมาเคลื่อนไหวมวลชนแบบเดิมๆ อีกแล้ว
ไอ้ที่เคยคิดจะไประบายพลังใส่การเลือกตั้งก็เลิกหวังได้แล้วครับ ถ้าเลือกตั้งต้นปีหน้า พรรคเพื่อไทยแพ้แหงๆ เพราะระบอบอภิสิทธิ์จะใช้ช่วงเวลาที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี่แหละไล่บี้สลายเครือข่ายการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ทั้งเครือข่ายทางการเงิน เครือข่ายกลไกราชการ เครือข่ายหัวคะแนน
พูดอย่างนี้ไม่ใช่จะมองแต่ด้านที่เลวร้าย เพราะด้านบวกก็มีอยู่ ระบอบอภิสิทธิ์ภาพลักษณ์ตกต่ำถึงขีดสุดในสายตาต่างประเทศ รวมทั้งเป็นปรปักษ์กับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ (เพราะรากฐานของระบอบนี้คือความคิดอนุรักษ์นิยม ชาตินิยมสุดขั้วดูถูกพม่า ลาว เขมร ญวน) ภายในเองก็เป็นรัฐบาลการเมืองเก่าโคตร ดำรงอยู่ด้วยการตอบแทนผลประโยชน์ รวมหัว ส.ส.มาขอเก้าอี้เสนาบดี
ขณะที่มวลชนเสื้อแดง แม้จะถูกตีแตกกระจัดกระจาย แต่ก็อย่างที่บอกว่าไปไกลลิบ ไม่มีวันถอยกลับไปล้าหลังอีกแล้ว มวลชนเสื้อแดงที่เราพูดถึงวันนี้ไม่ใช่แค่คนจนคนชนบท แท็กซี่ สามล้อ เพราะคนที่ไปราชประสงค์มีไม่น้อยที่เป็นคนมีเงินระดับร้อยล้าน เป็นนายพลเกษียณ เป็นอดีตข้าราชการระดับสูง พร้อมกันนั้นก็ยังมีพลังของคนชั้นกลางที่รักประชาธิปไตย ที่ไม่ใช่เสื้อแดง เครือข่ายนักเคลื่อนไหว นักวิชาการ ที่แสดงบทบาทอย่างโดดเด่น
ปัญหาก็คือจะรวมพลังคนทั้งหลายอย่างไร จะสร้างการนำใหม่ที่ไม่ขึ้นกับจตุพร-ทักษิณ แต่ถ่ายเดียวได้อย่างไร จะวางยุทธศาสตร์การต่อสู้ที่เป็นจริงได้อย่างไร ที่ไม่ใช่แค่การเอามวลชนมาสุ่มเสี่ยงและหวังให้เกิดรัฐประหารหรือหวังพึ่งการเปลี่ยนขั้วอำนาจในชนชั้นนำ อย่างที่ทักษิณทำ
แล้วก็ไม่ใช่ยุทธศาสตร์เพ้อเจ้อที่ไปคิดเรื่องการลงใต้ดิน เอาชนะโดยการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ เพราะการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องเอาชนะกันด้วยความคิด เอาชนะกันทางการเมือง แล้วจึงจะนำไปสู่การโค่นล้มอำนาจเผด็จการที่ครอบงำอยู่ ซึ่งถ้าศึกษาตัวอย่างของหลายประเทศ เช่น รัสเซียยุคเยลต์ซิน ฟิลิปปินส์ยุคอาควิโน เขาไม่ได้มีกองกำลังติดอาวุธนะครับ แต่ต่อสู้กันทางการเมืองจนถึงจุดหนึ่งระบอบมันพังทลาย พ่ายแพ้ทางการเมืองไปแล้ว รัฐมีกำลังทหารมากมายแต่สั่งทหารไม่ได้ ทหารไม่เอาด้วย มวลชนลุกฮือขึ้นมาโค่นล้ม
โอเค เราอาจจะแตกต่างตรงที่มีคนชั้นกลาง สื่อ นักวิชาการ ผู้ขายวิญญาณประชาธิปไตย แต่นั่นแหละที่ต้องต่อสู้ทางความคิดกันอย่างจริงจัง และคนเหล่านี้ก็กำลังเสื่อมลงไปเรื่อยๆ กับบทบาทการรับใช้ระบอบอภิสิทธิ์ (แม้จะทำกระบิดกระบวนไม่อยากให้รัฐบาลตั้งเป็นประธานปฏิรูปประเทศ ต้องใช้หน้าม้าในนามภาคประชาสังคมล่ารายชื่อกันเข้ามา)
การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทย อยู่ที่การต่อสู้ทางความคิดและทางการเมืองเป็นสำคัญ เพราะเผด็จการครึ่งใบของชนชั้นนำที่ดำรงอยู่ ก็ดำรงอยู่ได้ด้วยการครอบงำทางความคิด ทางวัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อ ในเรื่องคุณธรรมความดีงามนอกระบบ การต่อสู้ทางความคิดนี้จึงต้องใช้เวลา และต้องใช้การเอาชนะกันทางเหตุผล ไม่ใช่เอาชนะกันด้วยการโค่นล้มตัวบุคคลหรือองค์กรสถาบัน เหมือนโค่นล้มมาร์กอสหรือซูฮาร์โต หรือเยลต์ซินโค่นพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย การต่อสู้ของเราจำเป็นต้องขีดเส้นว่าตัวบุคคลหรือองค์กรสถาบันยังอยู่ แต่ความคิดของสังคมต้องก้าวไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ เหมือนเช่นสถาบันกองทัพยังต้องดำรงอยู่ แต่ต้องปฏิรูปให้เป็นอย่างอเมริกา ให้อยู่ภายใต้อำนาจการเมืองที่ชอบธรรม บังอาจปากบอนแบบ ผบ.อัฟกานิสถานก็ต้องตกเก้าอี้
การต่อสู้ทางความคิดจึงต้องใช้เวลา ใช้เหตุผลโน้มน้าวให้คนส่วนใหญ่คล้อยตาม และต้องอดทน สร้างความเข้าใจที่แข็งแรงให้กับสังคม รุ่นพี่ผมคนหนึ่งเปรียบเทียบว่า เหมือนสู้กับโจรลักควาย ออกไปตามควายหายกันไม่กี่คนก็โดนโจรไล่ทุบกลับมา ต้องรอให้คนเกือบทั้งหมู่บ้านเหลืออด ออกไปตามควายพร้อมกันถึงจะชนะโจรได้
ในทางความคิดของคนเสื้อแดงก็เช่นกัน ดังกล่าวแล้วว่าคนเสื้อแดงลุกฮือขึ้นมาเพราะความไม่เป็นประชาธิปไตยและความยุติธรรมสองมาตรฐาน แต่พื้นฐานความคิดที่ได้จากทีวีดาวเทียมและวิทยุชุมชนยังไม่ลึกซึ้ง เพราะปลุกอารมณ์กันเสียมากกว่า เวทีเสื้อแดงก็ดูจะให้สาระเรื่องประชาธิปไตยน้อยมาก ทำอย่างไรที่จะให้พวกเขามีความคิดที่มีหลักการและเหตุผลมากขึ้น เข้าใจเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในการต่อสู้ เพื่อจะก้าวเดินไปด้วยกันอย่างมีพลัง
ผมยังคิดว่าปมเงื่อนสำคัญประการหนึ่งคือ การประสานระหว่างพลังของเสื้อแดงกับพลังของคนชั้นกลางที่รักประชาธิปไตย สื่อ นักวิชาการ ฝ่าย 2 ไม่เอา ซึ่งที่ผ่านมาก็ตะขิดตะขวงใจที่จะร่วมกับแกนนำเสื้อแดงและทักษิณ หลายคนอาจจะเดินไปดูเวทีราชประสงค์ แต่ไม่รู้ว่ากูจะไปนั่งตรงไหนและมีความหมายอะไร ณ วันนี้ความพ่ายแพ้ของแกนนำเสื้อแดงฮาร์ดคอร์และทักษิณ อาจจะเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดขบวนใหม่ คือขบวนประชาธิปไตยที่แท้จริงที่มีเสื้อแดงเป็น subset อาจจะมีทักษิณเป็น subset แต่ไม่ใช่เป็นผู้ชี้นำจนนำไปสู่หายนะ
มันจะเป็นจริงได้หรือไม่ เมื่อไหร่ ยังตอบไม่ได้ เพราะมันจะต้องเป็นไปตามธรรมชาติ แต่ถ้าไม่สามารถสร้างการนำใหม่ ที่ไม่ผูกติดกับทักษิณ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็ไม่มีวันได้ชัยชนะ
ปฏิญญาประชาธิปไตย
แม้ยังตอบไม่ได้ว่าเราจะก้าวข้ามทักษิณอย่างไร แต่การต่อสู้ทางความคิด การต่อสู้ด้วยเหตุผล การต่อสู้อย่างอดทน ก็คือคำตอบกว้างๆ แล้วจากนั้นก็จะเกิดการนำใหม่อย่างเป็นธรรมชาติ
ฉะนั้นก่อนอื่น เราจะต้องสร้างการนำทางความคิด โดยปัญญาชน นักวิชาการ คนชั้นกลาง ที่รักประชาธิปไตยและมีเหตุผล ซึ่งคนเสื้อแดงยอมรับได้และคนเสื้อสีอื่นก็ยอมรับได้ (ยกเว้นพวกปทปรมะ)
เป็นไปได้ไหมที่นักวิชาการ สมมติเช่น อ.นิธิ อ.ชาญวิทย์ อ.เกษียร อ.สมศักดิ์ กลุ่มสันติประชาธรรม มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กลุ่ม อ.วรเจตน์ ฯลฯ จะร่วมกันสร้าง “ปฏิญญาประชาธิปไตย” สรุปแนวคิดที่จะเป็นแม่บทของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยเต็มใบ 5 ข้อ 7 ข้อ หรือ 9 ข้อ ที่มีความชัดเจนครอบคลุม เป็นเป้าหมาย เข็มมุ่ง เพื่อนำไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องที่มีจังหวะก้าวพร้อมกันทั่วประเทศ ทำให้ขบวนประชาธิปไตยเข้มแข็งมีพลัง
ซึ่งอันที่จริงมันก็ไม่ใช่สิ่งใหม่ ไม่มีอะไรพิสดาร ไม่ใช่ต้องนำเสนอทฤษฎีใหม่ที่จะปฏิวัติสังคม แต่เป็นทฤษฎีประชาธิปไตยปกติ ที่ต่อสู้กันมาเป็นร้อยปีแล้ว เป็นสิ่งที่นักวิชาการเหล่านี้ท่านพูดท่านเขียนไว้แล้ว แต่มันคือการรวบรวมให้ชัดเจน ขีดเส้นให้รัดกุม แต่แหลมคม สมมติเช่นข้อหนึ่ง เฮ้ย ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนี่ไม่ใช่ล้มเจ้านะ เราขีดเส้นว่าสถาบันจะต้องอยู่คู่สังคมไทย แต่ต้องไม่ถูกดึงมาเกี่ยวข้องกับการเมืองอีก และอย่าตีความพระราชอำนาจจนทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต้องผิดเพี้ยน ข้อสอง การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ได้แปลว่าจะต้องได้ทักษิณกลับมามีอำนาจหรือได้พ่อไอ้ปื๊ดเป็นนายกฯ แต่จะต้องยอมรับอำนาจอธิปไตยของเสียงข้างมากที่เลือกตั้งรัฐบาลเข้ามา ส่วนจะมีอำนาจตรวจสอบอะไรก็อย่าให้มันผูกขาดอยู่ในมืออภิสิทธิ์ชน ซึ่งใช้ความยุติธรรมสองมาตรฐาน ฯลฯ อย่างนี้เป็นต้น
คือในโอกาสอันดีที่อานันท์ หมอประเวศ เค้าจะตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศกัน ผมคิดว่านักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยก็ควรจะร่างเค้าโครงการปฏิรูปประชาธิปไตยแข่ง ให้เห็นว่าเฮ้ย ต้องทำอย่างนี้ๆๆ 5 ข้อ 7 ข้อ 9 ข้อก่อนนะ ต้องแก้ปัญหาโครงสร้างแล้วถึงจะไปปฏิรูปประเทศได้
หรืออย่างที่ 18+1 อรหันต์ของสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ จะปฏิรูปการเมืองแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่ม อ.วรเจตน์กับ อ.สมชาย และอาจารย์กฎหมายอีกหลายๆ ท่านที่มีแนวคิดเดียวกัน ก็น่าจะรวมตัวกันร่างรัฐธรรมนูญแข่ง ซึ่งผมเชื่อว่าพวกท่านทำได้ไม่ยากหรอกครับ แนวคิดสมบูรณ์ชัดเจนอยู่แล้ว ใช้เวลาไม่กี่วันก็อาจจะออกมาตัดหน้าได้เลย
ถ้าสามารถร่าง “ปฏิญญาประชาธิปไตย” ออกมา ชัดเจน รัดกุม แหลมคม 5 ข้อ 7 ข้อ 9 ข้อ แล้วตั้งคณะทำงานสักชุดหนึ่ง จัดทำเอกสารเผยแพร่ “แบบเรียนเร็วใหม่” แนวคิดที่เป็นประชาธิปไตยและถูกกฎหมาย แนวคิดเสรีประชาธิปไตยไม่มีตรงไหนผิดกฎหมายนะครับ ทำให้ก้าวหน้า เป็นระบบระเบียบ มีความสมบูรณ์ในตัวเอง เข้าใจง่าย ปัญญาชนอ่านได้ ผู้นำชุมชนอ่านได้ เผยแพร่ไปทั่วประเทศ เปิดให้ดาวน์โหลดทางเว็บไซต์ ใครจะเอาไปซีรอกซ์แจกกันก็ได้ไม่ว่าเสื้อสีแดงหรือเสื้อสีไหน ไม่จำเป็นต้องรอยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินด้วยซ้ำ เพราะถูกกฎหมาย ทหารก็อ่านได้ ศอฉ.มึงก็ห้ามไม่ได้
ผมเชื่อว่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็งกว้างขวางมีพลัง เพราะเมื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และการนำใหม่ก็จะเกิดตามมา
ทำงานความคิดกันให้พร้อม แล้วจึงนำไปสู่การเคลื่อนไหว “บนดิน” เมื่อยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเริ่มจากเคลื่อนไหวอย่างมีเหตุผล มีประโยชน์ รู้ประมาณ เหมือนอย่างเช่นการเคลื่อนไหวเรื่องเขายายเที่ยง ซึ่งสร้างเครดิตให้เสื้อแดง ไม่ต้องห่วงหรอกครับ รัฐบาลการเมืองเก่าโคตร เดี๋ยวก็มีเรื่องเน่าๆ โผล่ออกมาเพียบ
อย่าหวังพึ่งความรุนแรง อย่าถลำไปคิดเรื่องการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ มันอาจจะเกิดขึ้น จากคนส่วนหนึ่งที่คิดเช่นนั้น จากพวกตำรวจมะเขือเทศหรือทหารแตงโม ซึ่งเราห้ามไม่ได้ แต่ถ้าใครห้ามได้ก็ควรห้าม เพราะการใช้ความรุนแรงถ้าไม่อยู่ภายใต้เป้าหมายเข็มมุ่งทางการเมืองก็มีแต่จะทำให้เสียหาย เหมือนชายชุดดำที่คิดว่าตัวเองจะเป็นตัวช่วย แต่กลับกลายเป็นทำให้ม็อบเสื้อแดงพ่ายแพ้ทางการเมืองอย่างย่อยยับ
ลองเทียบกับม็อบพันธมิตรสิครับ เขาสันติ อหิงสา อาวุธครบมือ แต่ควบคุมการใช้อาวุธได้อย่างมีวินัยเข้มงวด การเคลื่อนไหวของพันธมิตรเป็นการเคลื่อนไหวแบบหนัง Thriller คือจ่อๆ ล่อแหลมให้เกิดความรุนแรงอยู่ตลอด แต่เขาคุมไว้ได้ให้อยู่แค่จ่อๆ โอเค อาจจะมีสื่อมีเส้นมีกระแสช่วย แต่ข้อสำคัญคือพันธมิตรเอาการเมืองนำการทหารได้ตลอด
ยุทธศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่สามารถยึดเอาการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเป็นสรณะ เพราะการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องต่อสู้กันทางความคิด ต่อสู้ด้วยเหตุผล ไม่ใช่ใช้กำลังบังคับ คุณจะเอาชนะทางความคิดก็ต้องหาทางเผยแพร่ โฆษณา สู้กันด้วยสื่อ ด้วยหลักการ ด้วยวาทะ การเคลื่อนไหวมวลชน การแสดงพลังมวลชน ก็คือการเผยแพร่ความคิด มีแต่จะต้องเคลื่อนไหวมากๆ สู้ทางความคิดกันมากๆ ใช้ชุดความคิดที่เหนือกว่า มีเหตุผลกว่า ขณะที่การต่อสู้ด้วยอาวุธคือการใช้คนจำนวนน้อย ปิดลับ ลอบยิง ลอบวางระเบิด ซึ่งไม่ได้เผยแพร่ความคิดอะไรเลย แค่อาจจะแสดงออกซึ่งความคับแค้นเท่านั้น
ผมก็ยังตอบไม่ได้ชัดหรอกว่ายุทธศาสตร์การต่อสู้รอบใหม่ควรเป็นเช่นไร แต่นำเสนอเพื่อกระตุ้นให้ช่วยกันคิด และจำเป็นต้องขบคิด เพื่อหาทางออกให้ผู้รักประชาธิปไตยทั้งเสื้อแดงและไม่แดงที่อารมณ์ค้างคากันอยู่ (ก่อนที่จตุพรกับทักษิณจะพาไปพังรอบใหม่)
ใบตองแห้ง
27 มิ.ย.53