"มาร์ค"ปัดจัดรถเมล์-รถไฟฟรีไม่ได้ปูทางเลือกตั้ง ยืนยันตรึงราคาก๊าซแอลพีจี เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ไม่ได้เอื้อเอกชน เล็งขึ้นค่าแรงก้าวกระโดดจริง แต่อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาข้อมูล...
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นักวิชาการคัดค้านมาตรการรัฐสวัสดิการรถเมล์ รถไฟ และไฟฟ้าฟรี เพราะจะมีปัญหาเรื่องงบประมาณว่า เป็นเรื่องที่เรากำลังอยากจะให้มันเป็นระบบ แต่จะเอาไม่เอาอีก 6 เดือน ก็คงจะมีคำตอบ ที่ไปบอกว่าเป็นเรื่องการเมือง ความจริงการที่เราปล่อยให้มันเป็นเรื่องชั่วคราว แล้วก็เป็นเรื่องของ ครม. ที่จะมาตัดสินใจ 2 เดือนที 3 เดือนที 6 เดือนที อาจจะถูกมองว่าเป็นการเมืองมากกว่า ในขณะที่เราเชื่อว่า บริการเหล่านี้เป็นบริการสำหรับคนที่มีรายได้น้อย คนด้อยโอกาส ก็เป็นเรื่องของรัฐสาหกิจให้เขาทำเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ว่ารัฐบาลก็ให้เงินอุดหนุน เป็นบริการทางสังคม ซึ่งเป็นระบบที่มีความโปร่งใสชัดเจนดี ส่วนจะให้หรือไม่ให้เดือนธันวาคมก็จะมาพิจารณาอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการมองถึงความเหลื่อมล้ำที่ช่วยแต่คนในเมือง ไม่ได้ช่วยคนชนบท นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มันมีหลายมาตรการ อาทิ รถไฟ ค่าไฟ ซึ่งขึ้นอยู่กับเราว่าจะต่ออายุ หรือทำให้เป็นระบบหรือไม่ แต่หลายมาตรการ เราก็สนับสนุนช่วยเหลือคนทั้งประเทศอย่างชัดเจนอยู่แล้ว เช่น เรื่องก๊าซหุงต้ม เมื่อถามว่า แต่นักวิชาการและรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยท้วงว่า เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด และไม่ควรทำยาวนานเกินไป เพราะจะเป็นผลเสียมากกว่า นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่ามีหลายเรื่องที่เราจะอิงกลไกตลาดอย่างเดียวไม่ได้ ในบางบริการที่ตนเห็นรถเมล์กับรถไฟมีเหตุผล เพราะว่าไม่ใชjเรื่องของการบริการทั่วไป แต่เป็นกรณีของรถไม่ปรับอากาศ เป็นรถไฟชั้นสาม ซึ่งค่อนข้างช่วยคนได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพราะคนที่มีรายได้สูงมีอันจะกิน ไม่ได้ใช้บริการเหล่านี้ ถ้าถามว่าจะใช้แต่กลไกตลาด ก็ไม่ต้องมีภาษี ไม่ต้องมีงบประมาณเลย ไม่ใช่เรามีการเก็บภาษี มีการจัดบริการสาธารณะ ตนกลับมองว่า 2 มาตรการรถเมล์-รถไฟ พูดมาตั้งแต่สมัยที่เริ่มต้นก่อนรัฐบาลว่า แม้กระทั่งตอนวิกฤติเศรษฐกิจ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยังเห็นด้วยกับเราเลยว่า กรณีรถไม่ปรับอากาศ กรณีรถไฟชั้นสาม รัฐควรจะอุดหนุนให้ เพราะว่าเป็นการช่วยเหลือคนยากจนที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย
เมื่อถามว่า รัฐบาลอยู่ในภาวะที่การเงินเข้มแข็งพอที่จะไปทำในลักษณะรัฐสวัสดิการหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าถ้าเราดูสถานการณ์คลัง โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านวิกฤติ มาแล้วเทียบกับสิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์กันทั่วโลก น่าจะมองเห็นว่า 1. เอาเข้าจริงๆ เราไม่จำเป็นต้องกู้เงินครึ่งหนึ่งของที่เราบอกว่าจำเป็นจะต้องกู้เพิ่มเติมจากปกติ 2. งบประมาณปีที่แล้ว ที่บอกว่าขาดดุล 3.5 แสนล้านบาท แต่เอาเข้าจริงเราเก็บรายได้เกินเป้าเกือบ 3 แสนล้าน ก็เท่ากับว่าแทบไม่ขาดดุลเลย ซึ่งนี่คือในภาวะที่เศรษฐกิจค่อนข้างจะตกต่ำ และเพิ่งฟื้นตัวขึ้นมา ดังนั้นเวลารัฐบาลพิจารณา ก็ดูตามความเป็นจริงของฐานะการเงินการคลังอยู่แล้ว บางเรื่องเราจึงระมัดระวัง อย่างเช่น เรื่องเบี้ยยังชีพ เราทราบเลยว่า ฐานคนจนเยอะมาก เพราะถ้าขยับเงิน 500 บาท เพียงนิดเดียวจะเป็นภาระงบประมาณอย่างมาก จึงเริ่มต้นทำเรื่องกองทุนเงินออมแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม เพราะรัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลที่คิดถึงแต่ว่าช่วยเหลือประชาชน แล้วไม่สนใจโครงสร้างระยะกลางหรือระยะยาวอยู่แล้ว ทุกเรื่องเราจะทำอะไร เราจะมีการคำนวณออกมา ว่าภาระเป็นอย่างไร กระทบกับโครสร้างหรือไม่ ยั่งยืนได้หรือไม่
เมื่อถามว่า ที่มาผลักดันช่วงนี้จะถูกกล่าวหาว่าหาเสียง เพราะใกล้จะถอยหลังอายุรัฐบาล เพื่อหาเสียงเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ใครจะคิดจะพูดยังไงก็ได้ ตนก็บอกว่าสมมติว่าเดือน ธ.ค.นี้ ตนใช้วิธีบอกว่าต่ออายุอีก 3-4 เดือน ก็จะถูกวิจารณ์ได้อีกว่า ก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ แล้วสุดท้ายต้องไปหาเสียงแข่งกันว่า ใครจะเลิกใครจะไม่เลิก แต่สมมติถ้าเราทำเข้าระบบแล้ว จะได้ไม่เป็นประเด็นหาเสียง เพราะเป็นเรื่องของรัฐวิสาหกิจ บริการสังคมที่รัฐแยกบัญชีออกมา ก็เป็นการเอาออกมาจากการเมือง เพราะฉะนั้นจะวิจารณ์ น่าจะดูให้ครบถ้วน ในทุกแง่มุม เพราะสภาพความเป็นจริง ถ้าปล่อยให้ไปหาเสียง จะดูว่ามีกี่พรรคการเมือง ที่บอกว่าจะเลิกมาตรการ สุดท้ายจะบอกว่าต่อไปก่อน ก็เป็นเรื่องการเมืองเปล่าๆ ในความเป็นจริงคือว่า ขณะนี้ฝ่ายการเมืองเกือบทุกฝ่าย เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าช่วยเหลือ ก็เอาเข้าเป็นระบบ เป็นความโปร่งใสในเรื่องของบัญชีของรัฐวิสาหกิจไปเลย ซึ่งทำอย่างนี้เป็นปัญหากับการบริหารรัฐวิสาหกิจด้วยซ้ำ เพราะต้องคอยมาใช้เงินให้ทีหลัง
เมื่อถามถึง การตรึงราคาก๊าซแอลพีจี เป็นการแก้ปัญหาถูกจุดหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าถูกจุด เพราะตนอยู่ในกลุ่มคนที่มีความคิดว่าก๊าซหุงต้ม เป็นทรัพยากรธรรมชาติของคนทั้งชาติ เราควรจะกำหนดราคาสำหรับคนที่ใช้ตามความจำเป็น คือภาคครัวเรือน ในราคาที่ เหมาะสมไม่จำเป็นต้องไปอิงกับตลาดโลก สมมติถ้าคนที่ค้าขายเรื่องนี้เป็นของรัฐหมด นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะจะอ้างได้ว่าไปค้าขายตลาดโลก แล้วเอาเงินมาคืนให้กับประชาชนได้ แต่ปัจจุบันทำไม่ได้ เพราะว่าเราไปค้าขายในตลาดโลก แล้วเงินเข้าก็เป็นของเอกชน ไปครึ่งหนึ่ง ในกรณีของบริษัท ปตท. เพราะดังนั้นวิธีนี้ คือวิธีที่เรายืนยันสิทธิของประชาชนคนไทย ที่จะใช้ทรัพยากรของประเทศ ในราคาที่เหมาะสม และถ้าหากว่าเราทำสำเร็จ ในเรื่องของการแยกตลาด ว่าแก๊สที่ออกมาจากโรงแยกก๊าซ ที่เป็นทรัพยากรของเรา เข้าสู่ภาคครัวเรือน ส่วนที่เหลือเข้าไปกลไกตลาดโลก ตนเห็นว่าเป็นรูปแบบที่เหมาะสมมาก
ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรการการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แบบก้าวกระโดดที่เคยพูดเอาไว้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นประเด็นที่จะต้องไปศึกษา เพราะว่าขณะนี้เริ่มมีความคิดที่แตกต่างกันมากขึ้น สมัยหนึ่งคนมองเรื่องค่าแรงว่า จะขึ้นแล้วจะเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน แต่ตอนนี้เริ่มมีภาควิชาการและภาคธุรกิจบางส่วน มองเห็นว่าการที่ค่าแรงถูกกดให้ต่ำ เป็นตัวที่กดศักยภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ และค่าแรงที่ต่ำเกินไป ไม่เอื้อที่จะส่งเสริมให้แรงงานมีประสิทธิภาพ และมีผลิตภาพ ทั้งนี้หลายประเทศ มีประสบการณ์ในเรื่องนี้เหมือนกัน ที่เคยกลัวว่าขึ้นค่าแรง แล้วจะเป็นปัญหา แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เป็นปัญหา
อย่างไรก็ตาม น่าสนใจเพราะแม้กระทั่งในประเทศจีน ก็ยังมีแนวคิดว่า อาจจะต้องเพิ่มค่าแรง เพื่อทำเศรษฐกิจในประเทศเข้มแข็งมากขึ้น เรื่องนี้ไม่ใช่พูดเล่น คือเรากำลังศึกษาอยู่และจริงๆ เป็นเรื่องที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็เคยเสนอต่อที่ประชุม ครม. เศรษฐกิจมาแล้วด้วยว่า ปัญหาในระบบของประเทศไทยค่าแรงต่ำ เกินหรือไม่ สัดส่วนรายได้ของประชาชน ที่เป็นค่าตอบแทนแรงงาน ขณะนี้ถือว่าต่ำครับ ซึ่งเป็นสาเหตุของการไม่กระจาย และความเหลื่อมล้ำ เมื่อถามถึงกรณีลดภาษีให้เอกชน แลกกับการขึ้นค่าแรง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อันนี้เป็นรายละเอียด เพราะกำลังศึกษาอยู่ว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ภาษีก็มีการพูดถึงหลายตัว.
เพื่อไทย
Thursday, July 1, 2010
ปัดปูทางเลือกตั้ง เมล์-ไฟฟรี ตรึงแอลพีจีสมเหตุ
ที่มา ไทยรัฐ