กาลียุค (ค.ศ.๑๙๑๙)
ควงสว่านเวียนคว้างขึ้นกลางหาว
เหยี่ยวเหินพ้นเสียงกร้าวของคนสั่ง
สรรพสิ่งแตกสลายมลายพัง
ศูนย์กลางไม่อาจรั้งให้ยืนยง
อนาธิปไตยท่องคะนองโลก
ทะเลเลือดชุ่มโชกทะลักส่ง
พิธีกรรมใสพิสุทธิ์ทรุดจมลง
คนชั่วคลั่งคนดีปลงและถอดใจ.....
(ปรับปรุงเรียบเรียงจากคำบรรยายบางตอนของผู้เขียนในโครงการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนนี้)
เหตุการณ์ขัดแย้งรุนแรงช่วงเมษา-พฤษภาอำมหิตที่ผ่านมา ทำให้ผมนึกถึงบทกวีภาษาอังกฤษบทหนึ่งซึ่งมักถูกยกมาอ้างอิงเวลาเกิดสถานการณ์สงครามหรือการปฏิวัติในโลกตะวันตก มันถูกแต่งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1919 โดย William Butler Yeats (ค.ศ.1865-1939) กวีและนักแต่งบทละครชาวไอริชชาตินิยมผู้ได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี ค.ศ.1923 เพื่อสื่อสะท้อนแง่คิดความรู้สึกต่อการปฏิวัติรัสเซียปี ค.ศ.1917 และสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ค.ศ.1914-1918
บทกวีนั้นชื่อ "The Second Coming" ซึ่งผมขอแปล/แปลงเป็นไทยตามข้อคิดดลใจที่ได้จาก อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ว่า "กาลียุค" ("เราจะหลีกเลี่ยงกาลียุคได้อย่างไร?", 20 สิงหาคม 2552) ดังข้างต้น
ก่อนเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต 2553 ผมเห็นว่ามีแนวโน้มใหญ่ๆ ของทิศทางการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยอยู่ 4 ประการ, 2 ประการแรกปรากฏในช่วงระบอบทักษิณ, ส่วนอีก 2 ประการปรากฏในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสีต่อมา
ผมขอกล่าวถึงแนวโน้ม 2 ประการแรกก่อน
ในช่วงทศวรรษก่อนเกิดระบอบทักษิณ, วิกฤตและปัญหาการเมือง-เศรษฐกิจแห่งยุคของไทยได้แก่ :
ก) วิกฤตรัฐประหาร รสช. พ.ศ.2534 และการลุกฮือพฤษภาประชาธรรม พ.ศ.2535อันเป็นอาการแสดงออกซึ่งปัญหาความบกพร่องไม่พอเพียงของนักการเมืองจากการเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนหรือที่เรียกว่าปัญหา "นักเลือกตั้ง/ระบอบเลือกตั้งธิปไตย"
ชาวบ้านรู้สึกว่าปัญหาเดือดร้อนเร่งด่วนสำคัญที่สุดของตนแทบไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นถกอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเลย สภากลายเป็นเวทีตีฝีปากประคารมยกมือประท้วงวางท่านักเลงก้าวร้าวถกเถียงหมกมุ่นเรื่องข้อบังคับการประชุมและผลประโยชน์เฉพาะมุ้งกลุ่มก๊วนอะไรก็ไม่รู้ที่แสนน่าเบื่อและไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา
ข) วิกฤตค่าเงินบาทและเศรษฐกิจตกต่ำหรือที่เรียกว่าวิกฤต "ต้มยำกุ้ง" พ.ศ.2540
อันเป็นอาการบ่งชี้ปัญหาผลกระทบของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ต่อประเทศไทยว่าการเปิดเสรีต่อเงินทุนชีพจรลงเท้า, กระแสบริโภคนิยมและการเอนเอียงทุ่มเทผลิตเพื่ออุตสาหกรรมส่งออกสุดตัวนั้นเสี่ยงสูง ผันผวนและอันตรายร้ายแรงถึงขั้นล่มจม ไม่แน่ว่าจะนำมาซึ่งความร่ำรวยรุ่งเรืองดังที่ฝันหวานง่ายๆ ถ่ายเดียวเสมอไป
คำตอบแห่งยุคสมัยที่สังคมไทยเสนอต่อปัญหาการเมือง-เศรษฐกิจดังกล่าวตอนนั้น ได้แก่ : -
--> การเมืองภาคประชาชนหรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนรวม/ทางตรง เพื่อแก้ไขบำบัดจุดอ่อนข้อบกพร่องของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน
--> เศรษฐกิจพอเพียง/ชุมชน เพื่อบรรเทาป้องกันความผันผวน, เสี่ยงสูง, สิ้นเปลือง, สุดโต่งเกินเลยของทุนนิยมโลกาภิวัตน์
ปรากฏว่าหลังขึ้นสู่อำนาจ ระบอบทักษิณได้ข้ามพ้นชุดคำตอบข้างต้น โดยเสนอคำตอบชุดใหม่ผ่านแนวนโยบายและมาตรการปฏิบัติของรัฐบาล ได้แก่ : -
-ฝ่ายบริหารมีอำนาจเข้มแข็งครอบงำเหนือรัฐสภา
-ผลักดันผ่านนโยบายและงบประมาณประชานิยมต่างๆ ส่งผลให้...
1) ประชาธิปไตยแบบตัวแทน สามารถดำเนินนโยบายสนองตอบผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ประชาชนผู้เลือกตั้งโดยตรง เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน-เงินกู้ของภาครัฐและภาคเอกชน, การพักชำระหนี้, บริการการแพทย์ย่อมเยาถ้วนหน้า, โครงการเอื้ออาทรต่างๆ ฯลฯ
2) เปิดช่องทางโอกาสและฐานทุน-เงินกู้ให้ชาวบ้านที่ถูกผลักไสหรือดึงดูดเข้าสู่กระแสคลื่นเศรษฐกิจตลาดเสรีอันผันผวนเสี่ยงสูง, ผ่านการหันไปประกอบอาชีพปลูกพืชเศรษฐกิจ/รับจ้างชั่วคราว/ประกอบธุรกิจรายย่อยต่างๆ, แล้วมักตกอยู่ในอาการปริ่มน้ำ จวนจะล่มจมมิจมแหล่ ไม่รู้แน่ว่าจะว่ายถึงฝั่งหรือไม่ - ได้อาศัยมันเป็นห่วงชูชีพประคองตัวลอยคออยู่รอดและพอมีหวังที่จะสู้แล้วรวยได้ในเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ต่อไป
ขณะที่ความถูกต้องยั่งยืนแห่งแนวนโยบายข้างต้นของระบอบทักษิณยังคงเป็นที่โต้แย้งถกเถียงกันได้ไม่ยุติ แต่ก็ประจักษ์ชัดว่ามันจับใจยึดกุมจินตนาการของมวลชนผู้เลือกตั้งที่เป็นคนชั้นกลางระดับล่างจำนวนมากทั้งในเมืองและชนบท จนพวกเขาพร้อมแปรความเรียกร้องต้องการของตนเป็นพลังการเมืองเพื่อปกป้องแนวนโยบายดังกล่าวและรัฐบาลทักษิณทั้งด้วยคะแนนเสียงเลือกตั้งและการเคลื่อนไหวชุมนุม
ช่องทางใหม่ในกรอบของประชาธิปไตยแบบตัวแทน และเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ที่ถูกเปิดขึ้นภายใต้การบริหารจัดการกำกับควบคุมโดยระบอบทักษิณ จนก่อเกิดประโยชน์โภคผลและความหวังแก่ประชาชนผู้เลือกตั้ง คือแนวโน้ม 2 ประการแรกของทิศทางการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย
ผมขอกล่าวถึงแนวโน้มใหญ่ 2 ประการต่อไป
ความขัดแย้งการเมืองระหว่างสีจากปี พ.ศ.2548 - ปัจจุบันทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าสนใจของการก้าวข้ามเส้นแบ่งเดิมในสังคมการเมืองไทยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้จะยังไม่แน่ใจว่าควรประเมินค่ามันอย่างไรดี กล่าวคือ : -
3) เกิดการก้าวข้ามเส้นแบ่งและเชื่อมต่อโดยตรงระหว่าง
[การเมืองบนท้องถนน <-- --> การเมืองในรัฐสภา]
4) เกิดการก้าวข้ามเส้นแบ่งและคลุมเครือกลืนกลายระหว่าง
[การเมืองบนท้องถนน <-- --> การต่อสู้ด้วยอาวุธ]
เราจะสังเกตเห็นได้ว่ามีการแลกเปลี่ยนบุคลากรหรือเล่นบททับซ้อนกันระหว่างแกนนำ-ผู้ปราศรัยในการชุมนุมประท้วงของมวลชนสีต่างๆ กับ ส.ส. และ ส.ว. มากขึ้นอย่างเด่นชัดถนัดตา
ด้านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็มี ส.ส. สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, ส.ส. บุญยอด สุขถิ่นไทย, ส.ว. คำนูณ สิทธิสมาน เป็นต้น
และในทางกลับกัน ซีกฝ่ายแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ก็มี ส.ส. จตุพร พรหมพันธุ์, ส.ส. มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ, รองประธานสภาผู้แทนราษฎร พ.อ.ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย ฯลฯ เช่นกัน แม้แต่ ส.ส. การุณ โหสกุล และ ส.ส. ร.ต.ท. เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ แห่งพรรคเพื่อไทยก็ไปขึ้นปราศรัยเวทีชุมนุม นปช.ที่ราชดำเนินและราชประสงค์ด้วยเหมือนกัน
สภาพเดิมที่การเมืองบนท้องถนน - อันเป็นรูปการต่อสู้หลักของการเมืองภาคประชาชนนับจากสมัชชาคนจนเป็นต้นมา - แยกขาดจากการเมืองในรัฐสภา ได้เปลี่ยนไป สมาชิกรัฐสภาทยอยหันไปร่วมต่อสู้ทางการเมืองในวิถีทางนอกสภาบนท้องถนนมากขึ้นเรื่อยๆ
และในทางกลับกัน ปัญหาเดือดร้อนคับข้องใจ ข้อเรียกร้องห่วงใยของการเคลื่อนไหวชุมนุมมวลชนนอกสภาที่แต่ก่อนนี้แทบไม่เคยเป็นประเด็นอภิปรายในเวทีรัฐสภาเลยนั้น ก็กลับกลายเป็นหัวข้อเด่นประเด็นหลักที่ถูก ส.ส. และ ส.ว. หยิบยกมาเป็นญัตติอภิปรายอย่างเข้มข้นจริงจังเผ็ดร้อนในสภา ทำให้มวลชนผู้ต่อสู้เคลื่อนไหวนอกสภาและแนวร่วมหันมาใส่ใจเกาะติดการอภิปรายเรื่องของพวกเขาเองในสภาอย่างเร่าร้อนกระตือรือร้น ตั้งแต่เรื่องการแก้/ไม่แก้รัฐธรรมนูญ, ยุบ/ไม่ยุบสภาเลือกตั้งใหม่, การดำเนินการของรัฐบาลกับการชุมนุมประท้วงของมวลชนฝ่ายค้าน ฯลฯ
เช่น เมื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอภิสิทธิ์ในสภาผู้แทนราษฎรปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหวแรงงานท่านหนึ่งได้ส่งอี-เมลเวียนให้เพื่อนๆ ด้วยข้อความว่า :
"ส.ส.สุนัย (จุลพงศธร - พรรคเพื่อไทย) เริ่มอภิปรายเรื่อง อ.สุธาชัย แล้วครับ"
"และพี่สมยศ พฤกษาเกษมสุข ประเด็นกระบวนการยุติธรรมกำลังเละแล้ว ตามต่อๆ และพูดประเด็นที่ห้ามอ่านหนังสือ และการไม่ให้ไปเยี่ยม มีเพียงญาติที่เข้าได้ มีการเฝ้าเวลาเยี่ยม นอกจากความล้มเหลวของขบวนการยุติธรรม บวกกับมีคนที่ถูกกักขังจำนวนมาก พูดถึงกรรมการสิทธิที่หายหัวไปไหน? และพูดถึงการปิดสื่อ..." (31 พฤษภาคม 2553, 12:18)
การเชื่อมประสานกันโดยตรงระหว่างการเมืองในสภา-นอกสภา ในด้านหนึ่งก็เป็นสัญญาณใหม่ว่าสถาบันรัฐสภาอันเป็นองค์อำนาจนิติบัญญัติของตัวแทนราษฎรไม่โดดเดี่ยวห่างเหินแปลกแยกจากขบวนการเคลื่อนไหวประท้วงของมวลชนดังก่อน
แต่ในทางกลับกัน ก็น่าคิดว่ามันจะนำไปสู่อาการขี้แพ้ในสภาก็เลยไปชวนตีนอกสภา, ดื้อรั้นแข็งขืนปฏิเสธข้อยุติ/แพ้-ชนะของเกมต่อสู้ขัดแย้งทางการเมืองตามกฎกติกาของระบอบรัฐสภาแบบหัวชนฝา, อันจะเป็นการกัดกร่อนบ่อนเบียนลดทอนบทบาทและประสิทธิผลของระบอบรัฐสภาในฐานะสถาบัน-เครื่องมือ-เวที-วิถีทางต่อสู้ทางการเมืองอย่างสันติในกรอบประชาธิปไตยลงหรือไม่อย่างไร
ในอีกแง่หนึ่ง รูปแบบการต่อสู้ชุมนุมประท้วงบนท้องถนนซึ่งเดิมทีเคยถูกใช้ในแนวทางอหิงสา-สันติวิธีโดยสมัชชาคนจนและชุมชนชาวบ้านต่างๆ ก็เริ่มถูกนำไปปรับแปลงใช้โดยขบวนการการเมืองสีต่างๆ ในลักษณะที่มีอาวุธและการใช้ความรุนแรงทำร้ายฝ่ายตรงข้าม/เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเจือผสมอย่างชัดเจนเป็นประจำและอย่างมีการจัดตั้งเป็นระบบมากยิ่งขึ้น แม้จะยังกำกวมคลุมเครือว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวชุมนุมที่แกนนำรับรู้-เห็นชอบ-ควบคุม-สั่งการได้จริงหรือไม่? มิไยว่าแกนนำการชุมนุมจะประกาศยึดมั่นการต่อสู้แบบอหิงสา-สันติวิธีไม่ขาดปากก็ตามที
ดังที่อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการสันติศึกษา ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการชุมนุมของขบวนการมวลชนฝ่ายสีหนึ่งว่าเป็น "อารยะขัดขืนแบบแมงป่อง" คือยึดอหิงสา-สันติวิธีอยู่ แต่ก็ใช่ว่าจะปราศจากอาวุธรุนแรงอย่างสิ้นเชิงเลยทีเดียว หากมีอาวุธพอเหมาะอย่างไม้กอล์ฟเงื้อง่าชูหราให้เห็นอยู่ด้วย เพื่อขู่ขวัญและเตรียมพร้อม "ป้องกันตนเอง" ในยามจำเป็น
สำหรับความเหมาะสมของอาวุธและระดับความรุนแรงของฝ่ายผู้ชุมนุม หากอิงตามแนวการวิเคราะห์ของคุณจาตุรนต์ ฉายแสง แล้ว ("จาตุรนต์ ฉายแสง "แดง" อย่าเสียแนวร่วม", ไทยโพสต์, 12 เมษายน 2552; "3 ปี...หลังปฏิวัติ 19 กันยา ประชาชนเสียอะไร", สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย, 22 กันยายน 2552) ก็คงจะกำหนดจากศัตรูที่เป็นไปได้ ในกรณีนี้มีเพียงผู้ชุมนุมสีตรงข้ามและตำรวจเท่านั้น (กระบอง, โล่, แก๊สน้ำตา ฯลฯ) แต่ไม่รวมไปถึงทหาร เพราะผู้นำกองทัพยืนกรานว่าการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง ปฏิเสธไม่ยอมใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมให้แก่รัฐบาลตอนนั้น จึงไม่ต้องห่วง
ส่วนขบวนการมวลชนอีกสีหนึ่งได้รับบทเรียนอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมในการชุมนุมใหญ่รอบแรกว่ากองทัพมีท่าทีแนวทางและมาตรการจัดการต่อการชุมนุมฝ่ายตนด้วยมาตรฐานแตกต่างออกไป (M16, อาวุธสงคราม)
ในการชุมนุมใหญ่รอบต่อมา ก็เกิดปรากฏการณ์การชุมนุมแบบ "มีตัวช่วย" พร้อมอาวุธหนักขึ้น (M79...ความหนักเบาของอาวุธถูกกำหนดจากศัตรูของการชุมนุมที่เป็นไปได้อีกเช่นกัน) ซึ่งแกนนำการชุมนุมก็ปัดปฏิเสธว่าไม่ใช่และไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการชุมนุมของตน (อาจพิจารณาเปรียบเทียบความเห็นประเด็นนี้ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "วิเคราะห์สถานการณ์ ในวันคืนสุดท้ายก่อนการนองเลือดใหญ่", ประชาไท, 28 เมษายน 2553; กับ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, "มองจากมุม "อ.ยิ้ม-สุธาชัย" แดงเพลี่ยงพล้ำ-พ่ายแพ้-ฟื้นตัวยาก และไม่มีอำมาตย์ใดอยู่ค้ำฟ้า", ประชาชาติธุรกิจ, 10 มิถุนายน 2553)
ขณะที่การป้องกันชีวิตตนเองตามความจำเป็นและสมควรแก่เหตุเป็นทั้งสัญชาตญาณและสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกรูปทุกนามทุกสีที่เข้าใจได้ การปล่อยให้เกิดการก้าวข้ามกลืนกลายเส้นแบ่งแยกระหว่างการเมืองอหิงสา-สันติวิธีบนท้องถนน กับการต่อสู้ด้วยอาวุธ ย่อมทำลายพลังทางศีลธรรมและความชอบธรรมทางการเมืองอันเป็นจุดแข็งที่สุดและหลักการสำคัญที่สุดของแนวทางการต่อสู้แบบอหิงสา-สันติวิธีลง แทนที่จะสามารถอาศัยพื้นภูมิทางศีลธรรมที่เหนือกว่าค่อยๆ สะเทือนใจ-กัดกร่อนใจและเปลี่ยนใจฝ่ายตรงข้ามและมวลชนที่เป็นกลาง
กลับปล่อยให้การต่อสู้ของตัวเองถูกลดฐานะลงไปอยู่ในระดับเดียวกับฝ่ายตรงข้ามที่ถือการแพ้/ชนะทางการเมืองสำคัญกว่าชีวิตของผู้คนไม่ว่าฝ่ายใดสีใด
เกิดบรรยากาศที่แปลกแยกมวลชนที่เป็นกลางหรือเป็นมิตรออกไป เปิดช่องให้จุดแข็งทางศีลธรรม-การเมืองของตนถูกลบเหลี่ยมจนทื่อ และถูกผลักให้เข้าไปต่อสู้ในแนวทางที่ตนอ่อนด้อยกว่าและสูญเสียมากมายอย่างน่าเสียดายและเศร้าใจที่สุด
การก้าวข้ามกลืนกลายอหิงสา-สันติวิธีกับการต่อสู้ด้วยอาวุธในลักษณะนี้หากเกิดขึ้นสืบต่อไปย่อมบ่อนทำลายพลังความชอบธรรมและประสิทธิภาพของรูปแบบการชุมนุมประท้วงโดยสันติอันเป็นอาวุธของผู้ยากไร้อ่อนแอในระบอบเสรีประชาธิปไตยลง จนยากจะหยิบมันมาใช้ได้อีก เท่ากับตัดตีนสินมือกลุ่มพลังที่อ่อนด้อยที่สุดในสังคมการเมืองให้อับจนหนทางลงไป
(ต่อตอนหน้า "ทิศทางการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย : หลังเมษา-พฤษภาอำมหิต")