ที่มา ประชาไท
ได้รับทราบจากเพื่อนในแวดวงสื่อมวลชนว่า กำลังเกิดความระส่ำระสายอย่างหนักในหมู่พนักงานบริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ความระส่ำระสายดังกล่าวไม่ใช่เกิดการโยกย้ายระดับบริหารครั้งใหญ่ในบริษัทเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่เกิดจากการออกระเบียบบริษัทซึ่งเป็นข้อตกลงสภาพการจ้างที่มีการเปลี่ยนแปลงและเอาเปรียบพนักงานอย่างรุนแรง
ในปี 2547 พนักงานมติชน รู้สึกยินดีและชื่นชมผู้บริหารบริษัทเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ได้ออกประกาศระเบียบว่าด้วยการเกษียณอายุพนักงานบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)และบริษัทในเครือซึ่งมีสาระสำคัญคือ
1.พนักงานอายุ 60 ปีซึ่งเกษียณอายุ ให้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จและเงินค่าชดเชย โดยเกณฑ์การจ่ายเงินบำเหน็จ ให้นำระยะเวลาการทำงานคิดเป็นจำนวนปี คูณอัตราเงินเดือนสุดท้ายเมื่อครบเกษียณอายุ ทั้งนี้ จะต้องไม่น้อยกว่า 6 เท่าของอัตราเงินเดือนสุดท้าย (เงินชดเชยที่จ่ายให้ให้ถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของเงินบำเหน็จด้วย)
2.กรณีที่พนักงานรายใดมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และประสงค์จะพ้นสภาพการเป็นพนักงานด้วยการเกษียณอายุก่อนกำหนด สามารถกระทำได้โดยแจ้งความจำนงล่วงหน้ากับผู้จัดการทั่วไป ไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยพนักงานผู้นั้นจะได้รับสิทธิในเงินบำเหน็จตอบแทนการทำงานเช่นเดียวกับพนักงานที่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์คือให้นับจำนวนปีที่ทำงานบวกจำนวนปีของอายุที่เหลือจนครบ 60 ปีบริบูรณ์ แล้วนำไปคูณอัตราเงินเดือนสุดท้าย
จากระเบียบดังกล่าว อธิบายให้เข้าใจง่ายๆว่า พนักงานคนหนึ่งทำงานมานาน 30 ปี จนเกษียณอายุ มีเงินเดือน(รวมเงินอื่นๆ เช่น ค่าครองชีพ ที่จ่ายเป็นรายเดือน 50,000บาท) ก็ได้จะบำเหน็จ จากบริษัทรวมทั้งสิ้น 1.5 ล้านบาท( 30 ปีคูณ 50,000 บาท )
สำหรับผู้ที่อายุครบ 55 ปี ที่ต้องการเกษียณก่อกำหนด สมมุติว่า ทำงานมา 25 ปี เงินเดือน 50,000 บาท ก็จะได้รับเงินบำเหน็จทั้งสิน 1.5 ล้านบาทเช่นกัน (25+5 ปี คูณ 50,000บาท)
การออกระเบียบดังกล่าว นอกจากชื่นชมยินดีแล้ว พนักงานยังมีกำลังใจที่จะทุ่มเททำงานเพื่อบริษัทเพราะเมื่อถึงบั้นปลาย ก็ยังมี “เงินก้อน” สุดท้ายในชีวิต แม้ไม่มากนัก เนื่องจากเงินเดือนของพนักงานมติชนทั่วไปค่อนข้างต่ำ เช่น ผู้สื่อข่าวทำงานมานาน 15 ปี ยังมีเงินเดือนประมาณ 20,000 บาท
อย่างไรก็ตาม เงินก้อนดังกล่าว นอกจากนำไปชำระหนี้สิน(สำหรับบางคน)แล้ว ก็คิดว่ายังเหลือพอ สามารถนำไปลงทุนให้เกิดดอกผลเพื่อนำไปเลี้ยงชีพยามชราได้
แต่แล้ว ความหวังและความยินดีดังกล่าวได้พังทลายจนหมดสิ้น เมื่อบริษัทได้ออกประกาศระเบียบว่าด้วยการเกษียณอายุพนักงานบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)และบริษัทในเครือฉบับใหม่ ลงวันที่ 17 มกราคม 2554(มีการอ้างถึงระเบียบบริษัทในเรื่องเดียวกันฉบับที่ 3 และฉบับที่ 2 แต่ไม่เคยมีการติดประกาศให้พนักงานทราบว่า มีการออกระเบียบดังกล่าวเลย) ยกเลิกการจ่ายบำเหน็จให้แก่พนักงานที่เกษียณอายุ 60 ปีและขอพ้นสภาพพนักงานเมื่ออายุครบ 55 ปีและให้จ่ายเป็นเงินค่าชดเชยการเลิกจ้างเพียงอย่างเดียวโดยอ้างว่า ระเบียบเดิมที่มีการจ่ายบำเหน็จนั้น ไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบริษัท จึงขอแก้ไขระเบียบการจ่ายเงินชดเชยสำหรับผู้ที่เกษียณอายุ ดังนี้
1.พนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ1 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
2.พนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
3.พนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันครบ3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
4.พนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ10 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน
5. พนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
สำหรับผู้ที่ต้องการขอพ้นสภาพพนักงาน เมื่ออายุครบ 55 ปี ก็จะได้รับสิทธิในเงินค่าชดเชยเช่นเดียวกับพนักงานที่เกษียณอายุ ถ้าได้รับการอนุมัติจากผู้จัดการทั่วไป (มีการแก้ไขจากระเบียบฉบับแรกที่พนักงานจะได้รับสิทธิทันทีเมื่อยื่นขอลาออกครบ 30 วัน)
จากระเบียบดังกล่าว อธิบายได้ง่ายๆว่า เงินค่าบำเหน็จที่บริษัทเคยออกระเบียบว่า จะจ่ายให้แก่พนักงานเมื่อเกษียณอายุ(เพื่อตอบแทนพนักงานที่ช่วยกันทำงานกับบริษัทมายาวนาน)หรือขอพ้นสภาพการเป็นพนักงานเมื่ออายุครบ 55 ปี ถูกยกเลิกทั้งหมด
แต่ให้จ่ายเป็นเงินค่าชดเชยเพียงอย่างเดียวซึ่งเป็นอัตราขั้นต่ำสุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ที่บอกว่า เป็นอัตราขั้นต่ำสุดนั้นก็เพื่อคุ้มครองลูกจ้าง ไม่ให้ถูกนายจ้างเอาเปรียบ แต่ถ้าบริษัทใดเห็นใจและต้องการเพิ่มสวัสดิการให้พนักงานก็สามารถจ่ายเงินมากกว่าเงินชดเชยตามกฎหมายได้ เช่น เงินบำเหน็จ)
จากตัวอย่างที่พนักงานเกษียณอายุ ทำงานมานาน 30 ปี มีเงินเดือน 50,000 บาท แทนที่จะได้เงินบำเหน็จ(รวมค่าเงินชดดชย)ตามระเบียบเดิม 1.5 ล้านบาท ก็จะได้รับเงินชดเชยอย่างเดียวเหลือเพียง 5 แสนบาท
เท่ากับเงินก้อนสุดท้ายในชีวิตหาย(ถูกปล้น?)ไปทันที 1 ล้านบาท
เมื่อเป็นเช่นนี้พนักงานที่อายุ 50 ปีขึ้นไป อายุใกล้ 50 ปี กว่า 55 ปี หรือเกือบ 60 ปีจะไม่ระส่ำระสายได้อย่างไร
แม้แต่ผู้ที่มีอายุกว่า 40 ปี และหวังฝากผีฝากไข้ไว้กับบริษัทก็อยู่ในสภาพที่เกิดคำถามว่า ทำไมผู้บริหารและเจ้าของจึงโหดร้ายกับพนักงานเช่นนี้ ออกระเบียบมาบังคับพนักงานฝ่ายเดียวโดยไม่ผ่านการปรึกษาหารือกับพนักงานแม้แต่น้อย
ระเบียบดังกล่าวไม่เพียงแต่บังคับกับพนักงานทั่วไปเท่านั้น แม้แต่กับพนักงานที่อายุใกล้ 60 ปีและยื่นขอพ้นสภาพพนักงานก่อนที่จะออกระเบียบเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2554 ก็ถูกดึงเรื่องไว้ไม่อนุมัติเพื่อให้เข้าเกณฑ์ของระเบียบใหม่ ทั้งๆ ที่พนักงานผู้นี้ทำงานมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมานานกว่า 30 ปี
โครงการการระดมทุนช่วยน้องสำหรับฟื้นฟูห้องสมุดที่ถูกน้ำท่วมที่ออกโฆษณากันใหญ่โตของเครือมติชน อาจทำให้ภาพลักษณ์ของบริษัทดูดีว่า ต้องการมีส่วนช่วยเหลือดูแลสังคม
แต่สำหรับชะตากรรมของพนักงานมติชนนั้น กำลังถูกทอดทิ้ง เอารัดเอาเปรียบและกดขี่อย่างหนักและไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร