ที่มา มติชน
โดย ปราปต์ บุนปาน
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554)
นายกรัฐมนตรี "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เพิ่งให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติอย่างฉะฉาน
ถึงกรณีรัฐบาลของเขาใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อกลางปี 2553
ด้วยท่าทีที่เชื่อมั่นว่าตนเองเป็นฝ่าย "ถูกต้อง" อย่างเต็มที่
ขณะเดียวกัน ก็เชื่อว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเป็นฝ่าย "ผิด" อย่างสิ้นเชิง
พอเจอลูกล่อลูกชนของผู้สื่อข่าวต่างประเทศ
ที่ยั่วให้ท่านนายกฯมอบคำแนะนำในการจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม แก่ "ฮอสนี มูบารัค" ประธานาธิบดีอียิปต์
"อภิสิทธิ์" ก็หลุดคำแนะนำ 3 ประการ ที่แสน "ตลกร้าย" ออกมา
โดยเฉพาะข้อแนะนำที่ว่า "ผู้นำอียิปต์ควรเคารพความต้องการของประชาชน"
ซึ่งไม่แน่ใจว่านายกฯไทยเองจะปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวได้หรือไม่?
ก่อนหน้านั้น "อภิสิทธิ์" พยายามป้องกันตนเองจากคำถามของสื่อต่างประเทศ ด้วยการอ้างว่า
"มันคงเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะให้คำแนะนำแก่มูบารัค เพราะเขาไม่รู้ถึงสภาวะแวดล้อมต่างๆ ของเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในอียิปต์"
แต่เขายังมิวายหลุดคำตอบที่ทำเอาหลายคน "หัวเราะไม่ได้ ร้องไห้ไม่ออก" ออกมา
ทั้งที่ "อภิสิทธิ์" ก็รู้อยู่แล้วว่าตัวเองไม่ใช่ "มูบารัค"
มีข้อแตกต่างอยู่หลายประการระหว่าง "อภิสิทธิ์" กับ "มูบารัค" และการเมืองไทยกับการเมืองอียิปต์ เช่น
"อภิสิทธิ์" ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาได้ราว 2 ปี ผิดกับ "มูบารัค" ที่เป็นประธานาธิบดีมาอย่างยาวนานร่วม 30 ปี
ส่วนระบอบ "ประชาธิปไตย" ของไทยกับอียิปต์ก็มีความแตกต่างกันอยู่ในสาระสำคัญ
นอกจากนี้ สังคมไทยยังไม่เคยเผชิญหน้ากับกลุ่มมุสลิมเคร่งศาสนาอย่างจริงจัง ขณะที่กลุ่มดังกล่าวถือเป็นพลังสำคัญในการเคลื่อนไหวต่อต้าน "มูบารัค"
อย่างไรก็ตาม ยังพอมีหนทางที่เราจะทำการศึกษาเปรียบเทียบสังคมสองแห่งที่มีบริบทเฉพาะแตกต่างกันได้อยู่
เพียงแต่เราต้องไม่นำโมเดลของสังคมหนึ่งไปวางทับลงบนอีกสังคมหนึ่งอย่างทื่อๆ
ทว่า เราต้องมี "ตัวกลาง" หรือ "หลักการสากล" บางอย่าง ที่เชื่อมโยงสังคมไทยกับอียิปต์เข้าหากัน อาทิ
พลานุภาพของ "สื่อใหม่" ที่สามารถระดมกำลังคนออกมาเคลื่อนไหวในทางการเมืองได้อย่างน่าทึ่ง
ซึ่งทั้งไทยและอียิปต์ล้วนตระหนักถึงพลานุภาพดังกล่าวเป็นอย่างดี
หรือ "ระบอบอำนาจ" ของไทยและอียิปต์ ซึ่งอาจแตกต่างกันในรายละเอียด แต่มีความบกพร่องคล้ายกัน
คือไม่สามารถมอบความยุติธรรมให้แก่คนทุกกลุ่มในสังคมได้อย่างเท่าเทียม
และไม่สามารถปรับตัวตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้ทัน
น่าเสียดายที่นายกฯ "อภิสิทธิ์" อาจไม่ใช่บุคคล/ตัวแสดงซึ่งสามารถถูกนำไปเชื่อมโยงเข้ากับ "ตัวกลาง" หรือ "หลักการสากล" เหล่านั้น
เพื่อทำให้เราเข้าใจการเมืองไทยจากสถานการณ์ในอียิปต์ได้มากขึ้น
เพราะสุดท้ายแล้ว "อภิสิทธิ์" ก็ยังไม่ใช่หรือมิอาจเทียบเคียงได้กับ "มูบารัค" อยู่ดี
แต่คงต้องย้ำกันอีกครั้งว่า
ใช่ว่าเราจะสิ้นไร้หนทางอย่างสิ้นเชิง ในการพยายามศึกษาเปรียบเทียบการเมืองอียิปต์กับการเมืองไทย