WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, February 1, 2011

อาจารย์นิติฯจุฬาฯ จุดประเด็น"กกต. สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลรธน.ยุบปชป.ใหม่ได้หรือไม่"

ที่มา มติชน




ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์

ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ แสดงความเห็นทางวิชาการ ผ่านเว็ปไซต์ www.pub-law.net ในบทบรรณาธิการ เรื่อง “กกต. สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคประชาธิปัตย์ใหม่ได้หรือไม่” สาระสำคัญมี ดังนี้

ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องกรณีพรรคประชาธิปัตย์ใช้จ่ายเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองจำนวน 29 ล้านบาท และกรณีการรับเงินบริจาคจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) จำนวน 285 ล้านบาท ได้มีผู้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันมากรวมทั้งตัวผมเองด้วยที่เขียนบทบรรณาธิการในเรื่องดังกล่าว 2 ครั้ง

แต่จนวันนี้ ก็ยังไม่มีความกระจ่างทั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง จากนายทะเบียนพรรคการเมือง และจากศาลรัฐธรรมนูญในปัญหาที่ค้างคาใจประชาชนจำนวนหนึ่ง เช่น ความสับสนในหน้าที่ระหว่างนายทะเบียนพรรคการเมืองกับประธาน กกต. จนเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องทั้งสองเรื่อง ความสับสนดังกล่าวมีผลทำให้ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นว่า สรุปแล้วพรรคประชาธิปัตย์ถูกหรือผิด และจะมีโทษทางแพ่ง ทางอาญา และอื่น ๆ ตามมาหรือไม่ อย่างไร หรือในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญเองที่ทำคำวินิจฉัยไม่ชัดเจนก็เช่นเดียวกัน ทุกฝ่ายต่างพากันเงียบเพื่อให้เรื่องที่เกิดขึ้นค่อย ๆ เงียบหายไปจากความสนใจของประชาชน

ผมได้เคยกล่าวเรื่องการนิ่งเฉยในลักษณะนี้ไปแล้วในบทบรรณาธิการครั้งก่อน ๆ ว่าเป็นเรื่องน่าแปลก ผมจำได้ว่าสมัยเด็กผมเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บาทหลวงพยายามเคี่ยวเข็ญพวกเราให้เป็นสุภาพบุรุษ กล้ารับผิดและกล้าต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เมื่อเข้ามาเรียนที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านอาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ก็อบรมพวกเราให้เป็นนักกฎหมายที่ดี รู้ผิด รู้ชอบ แต่ทำไมสภาพสังคมของเราในวันนี้ถึงได้ไม่เหมือนกับที่ผมได้รับการอบรมสั่งสอนมาก็ไม่ทราบ

ถามหาความรับผิดชอบ

ที่ผ่านมา มีคนจำนวนมากถามหาความรับผิดชอบจากทั้งนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะ แต่ผลที่ออกมาก็พบว่ามีบุคคลจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ออกมารับผิดชอบ ไม่ว่าจะด้วยสำนึกของตนเองหรือถูกบีบจากสื่อหรือจากภายในองค์กรเองก็ตาม แต่ก็กลับมีอีกจำนวนหนึ่งที่เลือกใช้วิธีอยู่เฉย ๆ เงียบ ไม่โต้ตอบและทำงานต่อไป ซึ่งวิธีนี้ก็เป็นวิธีที่เกิดผลดีเฉพาะตัวบุคคลผู้นั้นเท่านั้นเพราะตัวเองยังอยู่ในตำแหน่ง มีงานทำ มีเงินใช้ สบายไป ก็น่าเสียใจนะครับที่ความคิดของคนในสังคมเราเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปจากเดิมจนทำให้ความรับผิดชอบของคนเราเปลี่ยนไปมากด้วยครับ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้ทราบว่ามีผู้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งรื้อคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ใหม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจของผู้คนเป็นจำนวนมาก แต่ประเด็นสำคัญคงอยู่ที่ว่า “คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคประชาธิปัตย์ใหม่ได้หรือไม่” เท่านั้นเองครับ

ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมจะลองตอบคำถามดังกล่าว แต่เนื่องจากผมมีเพียง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15/2553 กรณีพรรคประชาธิปัตย์ใช้จ่ายเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองจำนวน 29 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนคำวินิจฉัยกรณีหลังคือกรณีการรับเงินบริจาคจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) จำนวน 285 ล้านบาทนั้น ผมยังไม่ได้รับ คำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ ดังนั้น การวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวของผมในบทบรรณาธิการนี้จึงจำกัดอยู่เฉพาะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15/2553 เท่านั้นครับ

ย้อนหลังกลับไปดูคำวินิจฉัย

คงต้องย้อนหลังกลับไปดูการวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญก่อน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ จากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัยอย่างไม่เป็นทางการจำนวน 15 หน้าใน website ของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่กี่วันต่อมา เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัยที่เป็นทางการก็พบว่า คำวินิจฉัยที่เป็นทางการมีจำนวน 42 หน้า นอกจากจำนวนหน้าที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีข้อแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ในตอนท้ายของคำวินิจฉัยได้มีการนำเอาเรื่องที่ไม่ปรากฏในการอ่านและในคำวินิจฉัยอย่างไม่เป็นทางการมาเพิ่มเข้าไปด้วย

ปัญหาประการแรกที่จำต้องพิจารณาคือ คำวินิจฉัยอย่างไม่เป็นทางการกับคำวินิจฉัยที่เป็นทางการนั้น คำวินิจฉัยใดคือคำวินิจฉัยที่ “ถูกต้อง” ซึ่งในเรื่องดังกล่าว หากดูเพียง “ถ้อยคำ” ที่อยู่ท้ายชื่อคำวินิจฉัยฉบับแรก ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า คำวินิจฉัยอย่างไม่เป็นทางการ “ไม่น่าจะ” เป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 แล้วก็จะพบว่า มีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคำวินิจฉัยอยู่หลายข้อด้วยกัน

หลังจากที่ศาลอ่านคำวินิจฉัย ผลก็จะเกิดขึ้นทันที

แต่ที่ตรงที่สุดก็คือ ข้อกำหนดข้อ 55 วรรคแรก ที่ว่า คำวินิจฉัยของศาลให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลอื่น และองค์กรอื่นของรัฐ และในวรรคสองคือ คำวินิจฉัยของศาลให้มีผลในวันอ่าน เพราะฉะนั้น หากพิจารณาดูข้อกำหนดข้อ 55 ทั้งสองวรรคก็จะพบว่า หลังจากที่ศาลอ่านคำวินิจฉัย ผลก็จะเกิดขึ้นทันที และผูกพันทุกองค์กรตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดข้อ 55 วรรคแรก ซึ่งข้อกำหนดข้อ 55 วรรคแรกก็มีที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 216 วรรคห้าที่ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐนั่นเอง

ดังนั้น หากพิจารณาข้อกำหนดประกอบมาตรา 216 วรรคห้าอย่างเคร่งครัดก็จะต้องถือว่า คำวินิจฉัยที่อ่านมีผลผูกพันไปแล้วเมื่ออ่าน ส่วนกรณีมาตรา 216 วรรคสามแห่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้นก็เป็นเพียง “รูปแบบ” เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบตามวัตถุประสงค์ของการมีราชกิจจานุเบกษา มิได้เกี่ยวข้องกับการมีสภาพบังคับของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

นอกจากนี้ หากพิจารณาดูข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญข้อ 57 ที่ว่า “ในกรณีที่คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญมีข้อผิดพลาดหรือผิดหลง เมื่อศาลเห็นเองหรือเมื่อคู่กรณีร้องขอและศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเช่นว่านั้นให้ถูกต้องก็ได้

การทำคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมตามวรรคหนึ่ง จะต้องไม่เป็นการกลับหรือแก้ผลใน คำวินิจฉัยหรือคำสั่งเดิม เมื่อได้ทำคำสั่งเช่นว่านั้นแล้วให้แจ้งผู้ร้องหรือคู่กรณีแล้วแต่กรณีได้ทราบ และให้นำความข้อ 54 วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม

หลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการทำคำสั่งตามข้อนี้ ให้เป็นไปตามที่ศาลกำหนด” ก็จะพบว่า ความแตกต่างระหว่างคำวินิจฉัยที่อ่านกับคำวินิจฉัยที่เป็นทางการไม่อาจนำเอาข้อกำหนดข้อ 57 มาใช้ได้ เพราะมิใช่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเลย แต่เป็นการเพิ่มเติมและขยายความเนื้อหาสาระในส่วนของคำวินิจฉัยครับ

ด้วยเหตุดังกล่าว ผมจึงได้ตั้งคำถามไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 254 ว่า สรุปแล้ว คำวินิจฉัยฉบับไหนมีผลจริง ๆ เพราะหากจะถือเอาตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 แล้ว คำวินิจฉัยฉบับไม่เป็นทางการคือคำวินิจฉัยที่เป็นของจริง ผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลอื่น และองค์กรอื่นของรัฐ เพราะเป็นคำวินิจฉัยที่ศาลอ่าน ตามข้อกำหนดฯ ข้อ 55 วรรคสองครับ

ศาลรัฐธรรมนูญมิได้วินิจฉัยคดี 29 ล้าน ?

หากเป็นเช่นนั้น เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยฉบับที่ศาลอ่านก็จะพบข้อความในตอนท้ายว่า “....เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 26 เมษายน 2553 จึงพ้นระยะเวลาสิบห้าวันตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยคำร้องในประเด็นอื่นต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก (4 ต่อ 2) ว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีกต่อไป ให้ยกคำร้อง” ซึ่งก็หมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาของคำร้องที่ว่า พรรคประชาธิปัตย์ใช้จ่ายเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองจำนวน 29 ล้านบาทถูกต้องหรือไม่

ดังนั้น เมื่อคำวินิจฉัยจบลงตรงนี้และเมื่อพิจารณาจากข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ซึ่งมิได้บัญญัติถึงกระบวนการ “ห้าม” การฟ้องซ้ำหรือยื่นคำร้องใหม่กรณีทำผิดขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ จึงตอบได้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคประชาธิปัตย์ใหม่ได้เนื่องจากทำผิดขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดครับ

เมื่อมาถึงประเด็นดังกล่าว ก็มีประเด็นพาดพิงซึ่งผมได้เคยตั้งคำถามไปแล้วเช่นกันในบทบรรณาธิการครั้งที่ 254 แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ ประเด็นที่ว่าคือประเด็นที่เกี่ยวกับความสมบูรณ์ของคำวินิจฉัยที่ 15/2553 ทั้งนี้ เนื่องมาจาก ข้อ 50 ของข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ได้กล่าวไว้ว่า “การพิจารณาวินิจฉัยของศาลให้วินิจฉัยทุกประเด็นที่ศาลกำหนด โดยตุลาการที่เป็นองค์คณะทุกคนจะงดออกเสียงในประเด็นใดประเด็นหนึ่งตามที่ศาลกำหนดมิได้” ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ ไม่ว่าจะเป็นคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านหรือคำวินิจฉัยที่เป็นทางการก็ไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยในทุกประเด็นทั้ง ๆ ที่มีการตั้งประเด็นไว้ตรงกัน 5 ประเด็น ดังนั้น สถานะของคำวินิจฉัยที่ขัดกับข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญฯ ข้างต้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาว่าจะกระทบถึง “ความสมบูรณ์” ของคำวินิจฉัยหรือไม่ อย่างไรด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม หากได้พิจารณาลงลึกไปถึงคำวินิจฉัยคดีส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนก็จะพบว่า มีการตั้งประเด็นของคดีดังกล่าวไว้เป็นเช่นเดียวกัน คือมีประเด็นที่จะต้องพิจารณา 5 ประเด็น และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนก็ได้วินิจฉัยให้ความเห็นในประเด็นที่ตั้งไว้ในคำวินิจฉัยคดีส่วนตนแล้ว

“ความสมบูรณ์” ของคำวินิจฉัย
ปัญหาจึงตกมาอยู่ที่คำวินิจฉัยที่ 15/2553 ที่เขียนในลักษณะตัดการพิจารณาในประเด็นที่ตั้งไว้จนทำให้เป็นที่น่าสงสัยถึง “ความสมบูรณ์” ของคำวินิจฉัยที่ขัดกับข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญฯ ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นนั้น จะเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคประชาธิปัตย์ใหม่ได้หรือไม่ครับ

ในปัญหานี้ ผมมองว่า หากเราตัดเรื่องความสมบูรณ์ของคำวินิจฉัยที่ขัดกับข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญออกไป (ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าคำวินิจฉัยที่ 15/2553 นี้ไม่สมบูรณ์เพราะขัดกับข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ 2 ข้อ คือ คำวินิจฉัยมีผลเมื่ออ่านกับการที่ศาลต้องวินิจฉัยทุกประเด็น ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น) ก็จะพบว่า ในการวินิจฉัยครั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในประเด็นที่ตั้งไว้แล้วในคำวินิจฉัยคดีส่วนตน เพียงแต่มิได้ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยที่ 15/2553 เท่านั้นเอง ดังนั้น หากคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจไม่รับไว้พิจารณา เนื่องจากถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักกฎหมายทั่วไปคือ การขอให้พิจารณาคดีใหม่ด้วยเหตุเดิมที่ได้พิจารณาไปแล้ว

ข้อผิดพลาดของเรื่องนี้จึงอยู่ตรงที่ว่า ทำไมคำวินิจฉัยที่ 15/2553 จึงเขียนในลักษณะตัดการพิจารณาในประเด็นที่ตั้งไว้ คำตอบในเรื่องนี้คงอยู่ที่ “ผู้ร่าง” คำวินิจฉัย ซึ่งข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 54 วรรคสองได้กล่าวถึงการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไว้ว่า “การทำคำวินิจฉัยของศาลตามวรรคหนึ่ง องค์คณะอาจมอบหมายให้ตุลาการคนใดคนหนึ่งเป็นผู้จัดทำคำวินิจฉัยตามมติของศาลได้” ซึ่งก็หมายความว่า การทำคำวินิจฉัย “น่าจะ” ทำโดยองค์คณะหรือไม่ก็ทำโดยตุลาการคนหนึ่งคนใด แล้วเป็นไปได้อย่างไรที่ผู้ทำคำวินิจฉัย “มองไม่เห็น” ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญฯ ข้อ 50 ที่ว่า “การพิจารณาวินิจฉัยของศาลให้วินิจฉัยทุกประเด็นที่ศาลกำหนด โดยตุลาการที่เป็นองค์คณะทุกคนจะงดออกเสียงในประเด็นใดประเด็นหนึ่งตามที่ศาลกำหนดมิได้” ครับ

“ไม่น่าพลาดได้ถึงขนาดนี้นะครับ”

ในระยะเวลาที่ผ่านมา เรามีข้อสงสัย ข้อกังขา และมีความเคลือบแคลงในองค์กรและบุคคลต่าง ๆ ในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณธรรม จริยธรรม ความรู้ความสามารถ ความรับผิดชอบ ความกล้าหาญ ความเป็นกลาง ความไม่ลำเอียง ความไม่มีอคติ ฯลฯ มากจนทำให้เกิดคำว่า “สองมาตรฐาน” ขึ้นมาในสังคมของเราครับ ผลของคำวินิจฉัยที่ 15/2553 นี้ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่มีผู้คนออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันมาก

แล้วจะทำอย่างไรได้ครับ !!!

ท้ายที่สุด หากความเห็นส่วนตัวของผมพอมีผลอยู่บ้าง ผมก็อยากที่จะ “ยุ” คณะกรรมการการเลือกตั้งให้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคประชาธิปัตย์ใหม่ครับ ผมอยากดู “คำตอบ” ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมาว่ามีเหตุผลอย่างไรที่จะรับหรือไม่รับคำร้องไว้พิจารณา เพราะไม่ว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ทั้งสองทาง เนื่องจากคำวินิจฉัยที่ 15/2553 มีปัญหามากดังที่ได้กล่าวไปแล้วทั้งหมดครับ !!!