WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, February 1, 2011

มาม่ากับเสื้อแดง

ที่มา มติชน



โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์



ผมพลอยตื่นเต้นกับปฏิบัติการบอยคอตมาม่าของเสื้อแดง มีการตั้งเป้าของผู้เข้าร่วมที่สูงถึง 20 ล้านคน ใช้ระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือน

ที่ตื่นเต้นก็เพราะอยากจะรู้ผลว่าสามารถทำได้จริงตามเป้าหรือไม่ เพียงใด แต่แม้ติดตามฟังข่าวอย่างใกล้ชิด ก็ยังไม่รู้ผลอยู่ดีจนถึงบัดนี้ แน่นอนว่าบริษัทย่อมไม่แถลง เพราะมีแต่เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง เช่นหากแถลงว่าไม่เกิดผลกระเทือนแก่บริษัท ก็เท่ากับท้าทายคนเสื้อแดงให้ยิ่งรณรงค์หนักมือขึ้น แถลงว่าเป็นผลกระเทือนอย่างรุนแรง ก็ยิ่งช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนเสื่อมความนิยมในตลาดลงไปอีก

และก็อย่างเคย คือไม่มีสื่อใดตามเจาะเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้แต่สื่อของเสื้อแดงเอง ก็ตามข่าวในเชิงรณรงค์มากกว่าพยายามประเมินว่าได้ผลมากน้อยเพียงไร ทั้งๆ ที่เรื่องนี้มีนัยยะสำคัญมากกว่าการต่อสู้ทางการเมืองเฉพาะหน้า

ในประเทศไทย (เหมือนกับอีกหลายประเทศทั่วโลก) ทุนได้เติบใหญ่จนกลายเป็นพลังมหึมาที่สามารถเข้าไปกำหนดวิถีชีวิตของคนอย่างเบ็ดเสร็จ โดยอาศัยสิ่งที่เรียกกันว่า "กลไกตลาด" นับวันพลังอื่นๆ ก็ไม่สามารถถ่วงดุลทุนด้วยการกำกับตลาดให้มีระเบียบกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อความเป็นธรรมและความสงบสุขของผู้คนได้

พลังอื่นๆ ที่สำคัญคือรัฐ แต่ในประเทศไทย รัฐจำนนต่อทุนอย่างค่อนข้างราบคาบ ชนชั้นนำทางการเมืองของไทยมีความสัมพันธ์กับทุนอย่างแนบแน่น ไม่แต่เพียงรับการสนับสนุนทางการเงินจากทุนเท่านั้น บางส่วนก็ผันตนเองเป็นทุนไปเต็มตัว จนกระทั่งไม่สามารถแยกรัฐกับทุนออกจากกันได้

ฉะนั้น แทนที่รัฐไทยจะเป็นอีกพลังหนึ่งที่คอยสร้างและรักษาระเบียบกฎเกณฑ์ของตลาด รัฐกลับใช้สิ่งที่เรียกว่า "กลไกตลาด" เข้าไปจัดการทรัพยากรทุกชนิด จนทำให้คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงทรัพยากร แม้แต่ทรัพยากรพื้นฐานในการดำรงชีวิตซึ่งไม่ควรถือเป็นสินค้า รัฐจึงกลายเป็นเครื่องมือของทุน ไม่ใช่พลังอิสระอีกอันหนึ่งที่จะคอยถ่วงดุลอานุภาพของทุน

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะรัฐไทยไม่ใช่รัฐประชาชาติที่แท้จริง กล่าวคือคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการรัฐ มีคนส่วนน้อยเพียงหยิบมือเดียวที่ยึดรัฐไปเป็นสมบัติส่วนตัว และในบรรดาคนส่วนน้อยนั้น ล้วนอยู่ภายใต้การครอบงำของทุน

อย่างไรก็ตาม "ภาคประชาชน" ของไทยก็ค่อยๆ เติบโตขึ้น และมีบทบาทมากขึ้นในการเข้าไปควบคุมรัฐและทุนตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงไฟฟ้า, การวางท่อก๊าซ, การทำเหมืองโพแทส, การทำโรงถลุงเหล็ก, การปล่อยมลพิษอย่างร้ายกาจของโรงงาน ฯลฯ ที่ประสบความสำเร็จจนทำให้รัฐและทุนต้องระงับหรือปรับเปลี่ยนโครงการก็มี ที่พ่ายแพ้เพราะทุนอาศัยอำนาจรัฐใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนก็มี ความเคลื่อนไหวเหล่านี้กำลังขยายตัวมากระทบต่อนโยบายระดับมหภาคมากขึ้น เช่น สิทธิบนที่ดินของทุนและรัฐจะถูกจำกัดมากขึ้นในกรณีการเคลื่อนไหวของชาวสลัมและคนไร้ที่ดินในชนบท, นโยบายพลังงานโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์

แต่ในขณะเดียวกัน น่าสังเกตด้วยว่า ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ผ่านมา เป็นการเผชิญหน้ากับรัฐและทุนโดยตรง จำกัดประเด็นและจำกัดพื้นที่ ทำให้รัฐและทุนสามารถยักย้ายถ่ายเทหลบหลีกการกำกับควบคุมได้ง่าย เช่น ประท้วงโรงไฟฟ้าอย่างได้ผลในพื้นที่หนึ่ง ก็ย้ายโรงไฟฟ้าไปสร้างอีกที่หนึ่ง ต่อต้านการทำลายแม่น้ำด้วยเขื่อน ก็อ้างว่าสร้างฝาย ภาคประชาชนใช้ "ตลาด" เป็นเวทีการต่อสู้น้อยมาก จากเมื่อครั้งต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา ดูเหมือนยังไม่มีการต่อสู้เพื่อกำกับรัฐและทุนในลักษณะเช่นนั้นอีกเลย จนถึงกรณีมาม่าครั้งนี้

แม้ว่า "ตลาด" ไม่ใช่เวทีการต่อสู้เพียงอย่างเดียว แต่ก่อนจะไปถึงขั้นที่ภาคประชาชนจะมีพรรคการเมืองซึ่งใส่ใจรับมติของตนไปเป็นนโยบาย จนนำไปสู่กฎหมายและการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ "ตลาด" เป็นเวทีที่ดูจะได้ผลในการกำกับควบคุมทุนที่มีประสิทธิภาพที่สุด

ในขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับด้วยว่า สัดส่วนที่ใหญ่มากของทุนในประเทศไทย คือทุนที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก นั่นก็คือไม่อาจใช้ "ตลาด" ภายในเป็นเวทีต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพของภาคประชาชนในทุกกรณีไป แม้กระนั้นก็ยังใช้ได้ผลในอีกหลายกรณีดังเช่นกรณีมาม่า และแม้ "ตลาด" ภายในอาจไม่ใช่เป้าหมายโดยตรงของการผลิต แต่เมื่อมีฐานในประเทศไทย การรักษาภาพพจน์ที่ดีในประเทศก็มีความสำคัญเหมือนกัน

นอกจากนี้ หากการรณรงค์ในตลาดมีความเข้มแข็ง ก็อาจเชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวระดับโลกได้ ซึ่งจะทำให้ยิ่งมีพลังในการกำกับควบคุมทุนได้มากขึ้น

ดังนั้น การกำกับควบคุมทุนของภาคประชาชนโดยผ่าน "ตลาด" จึงมีความสำคัญ เพราะเมื่อรัฐไม่สามารถหรือไม่อยากกำกับควบคุมทุน ภาคประชาชนจึงต้องเข้ามาทำหน้าที่นี้แทน และอย่างมีประสิทธิภาพกว่าด้วย

แม้สร้างความหวั่นไหวให้แก่ทุนในระยะแรกที่เริ่มการรณรงค์ แต่ผมไม่ทราบว่าการรณรงค์ของเสื้อแดงในครั้งนี้ประสบความสำเร็จแค่ไหน อีกทั้งพลังที่แท้จริงของการบอยคอตไม่ได้มาจากการจัดองค์กรเพื่อการนี้โดยตรง แต่อาศัยเครือข่ายและประเด็นทางการเมืองของเสื้อแดงเป็นเครื่องมือมากกว่า ดังนั้นไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว จึงดูไม่ส่อว่าจะเป็นกระบวนการที่อาจดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน และจริงจังในอนาคต

อย่างไรก็ตาม หากคิดว่านี่เป็นการฝึกระยะแรก ซึ่งต้องเปิดกว้างสองอย่าง หนึ่งคือต้องเปิดการเรียนรู้ และสองคือเปิดตัวเองแก่คนที่มีความคิดเห็นอันแตกต่างหลากหลายในสังคม เพียงแต่มีความพยายามร่วมกันที่จะกำกับควบคุมทุน มิให้ทำร้ายผู้คนจนเกินไป ก็จะสร้างพลังของภาคประชาชนที่ยิ่งใหญ่เพื่อการนี้ขึ้นมาได้

ขบวนการของภาคประชาชนสามารถใช้พลังของตนในการกำกับควบคุมทุนผ่านตลาดได้อีกหลายอย่าง อันล้วนเป็นเรื่องที่รัฐไทยละเลยตลอดมา

เรื่องของมาบตาพุดคงง่ายขึ้น หากมีขบวนการประชาชนที่มีเครือข่ายใหญ่ขนาดเสื้อแดง ออกมารณรงค์ให้ประชาชนร่วมมือกันลงพรหมทัณฑ์แก่บริษัทที่ก่อมลภาวะ แน่นอนว่าหากสามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มพลังอื่นๆ เช่น สหภาพแรงงานของบริษัทเหล่านั้น ก็จะยิ่งทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

โรงงานที่ไร้ความปลอดภัยและเสียสุขภาพแก่แรงงาน, บริษัทที่เอาเปรียบแรงงานด้วยวิธีต่างๆ ฯลฯ ควรถูกนำมาเปิดเผย และถูกขบวนการภาคประชาชนกดดัน นับตั้งแต่บอยคอตสินค้า ไปจนถึงการไม่ร่วมมือ เช่นสหภาพการขนส่งปฏิเสธที่จะขนสินค้าของบริษัทดังกล่าว

บริษัทที่ขาดความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ควรได้รับการกดดันทำนองเดียวกัน

คิดไปเถิดครับ ขบวนการที่มีประสิทธิภาพของภาคประชาชนสามารถเข้าไปกำกับควบคุมทุนได้อีกมาก

แต่จะทำอย่างนั้นได้ดี จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ข้อมูลที่สมบูรณ์สักหน่อย จำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบพอสมควร งานเช่นนี้หากขบวนการของประชาชนทำได้เองก็ดี และหากวงวิชาการจะเข้ามาช่วยก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก

สื่อควรมีหน้า "ผู้บริโภค" ซึ่งจะติดตามเฝ้าระวัง ไม่ใช่เฉพาะในแง่ของคุณภาพสินค้าเพียงอย่างเดียว เพราะผู้บริโภคในยุคใหม่ต้องมีความรับผิดชอบทางสังคมด้วย จึงมีประเด็นที่ผู้บริโภคควรต้องตระหนักรู้อีกหลายอย่าง เช่นสินค้าตัวเดียวกันแต่ต่างยี่ห้อนั้น ใช้วัตถุดิบภายในมากน้อยต่างกันเท่าไร ผลิตด้วยวัสดุหมุนเวียนมากน้อยต่างกันอย่างไร ใช้พลังงานในการผลิตต่างกันมากน้อยเพียงไร ปฏิบัติต่อคนงานของตนดีมากดีน้อยต่างกันอย่างไร ฯลฯ (อย่างเดียวกับที่สื่อมักรายงานเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออก ซึ่งเป็นเพียงมิติเดียวของการประกอบการเท่านั้น)

(แต่แน่นอนว่า สื่อจะต้องไม่ขาสั่นกับการสูญเสียโฆษณาของบริษัทห้างร้านจนเกินไป)

มีคนพูดมานานแล้วว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ไม่เคยมีในเมืองไทยมาก่อน แต่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ อาจจะโดยไม่ได้เจตนา การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา ในบางครั้งก็เป็นการริเริ่มสิ่งสำคัญๆ ให้แก่สังคมไทย ซึ่งหากมองเห็นคุณประโยชน์ ทั้งคนเสื้อแดงหรือไม่ใช่ก็อาจเข้ามาช่วยพัฒนาให้ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ประเทศไทยจะอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าความเหลื่อมล้ำก็คือ เราต้องกำกับควบคุมทุนและตลาดให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตของคนทุกกลุ่ม ทุนและตลาดไม่ควรมีอำนาจอันไร้ขีดจำกัดเสียเลย เรายังไม่อาจหวังพึ่งรัฐให้เป็นผู้กำกับควบคุมได้ในระยะนี้ ประชาชนจึงต้องรับเป็นภาระในการสร้างอำนาจของตนเอง เพื่อกำกับควบคุมทุนและตลาดให้ได้