ที่มา ประชาไท
“เราเป็นห่วงเรื่องของการใช้อำนาจของรัฐ และภาพรวมของประเทศในเรื่องสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์
ซึ่งคิดว่าในอนาคต การละเมิดสิทธิของชุมชนจะค่อนข้างรุนแรงมากขึ้น”
สุมิตร วอพะพอ
ผู้ประสานงานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ (คพสช.)
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มีกลุ่มชนเผ่าหลากหลายชาติพันธุ์ อาทิ คะฉิ่น ดาระอั้ง ลีซู ปกาเกอะญอ ลาหู่ ไทยใหญ่ ฯลฯ ได้ร่วมกันเปิดสำนักงานทนายความพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ กันขึ้น โดยมีตัวแทนหน่วยงานทั้งรัฐและองค์กรเอกชนเข้าร่วมกันคับคั่ง
ที่น่าสนใจก็คือ สำนักงานทนายความดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นจากตัวแทนเครือข่ายชนเผ่า กลุ่มชาติพันธุ์ ได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้นมา เพื่อปกป้องรักษาสิทธิของตน โดยมีนักกฎหมาย ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนคอยเป็นพี่เลี้ยงและหนุนช่วยอยู่ข้างหลัง
“จงเป็นปากเป็นเสียงให้ผู้ที่ไม่มีโอกาส...สำนักงานทนายความแห่งนี้ จึงมีเป้าหมายคือการเรียกร้องสิทธิในความเป็นมนุษย์ คือมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น จงตัดสินเขาอย่างยุติธรรม ให้มีความเที่ยงธรรมแก่เขา โดยใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์” อาจารย์เกียรติยศ หิรัญรัตน์ ตัวแทนเครือข่าย ได้กล่าวหนุนใจเปิดสำนักงานทนายความ ในวันนั้น
“การมีสำนักงานทนายความชนเผ่า เป็นสิ่งดี เพราะจะช่วยเปิดหูเปิดตา ได้ความรู้เรื่องสิทธิ เพราะเมื่อพูดถึงความเป็นธรรม บ่อยครั้งที่พวกเราไม่ได้รับความเป็นธรรม” นายบุญลือ เตโม ชาวบ้านชนเผ่าปกาเกอะญอบ้านห้วยงูใน ต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ กล่าว
นายสุมิตร วอพะพอ ผู้ประสานงานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ (คพสช.) บอกเล่าถึงที่มาของการก่อตั้งสำนักงานทนายความพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ นี้ขึ้นมาว่า ที่ผ่านมาทางเครือข่ายชนเผ่า ได้มีการทำงานขับเคลื่อนเรื่องสิทธิให้กับพี่น้องชนเผ่ากันมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ก็เจอกับปัญหาละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงมาโดยตลอด โดยเฉพาะกรณีเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมพี่น้องชนเผ่าดาระอั้ง หรือปะหล่อง เมื่อปีพ.ศ. 2540 และปี พ.ศ.2547 ที่ผ่านมา ยิ่งทำให้รู้ว่าพี่น้องชนเผ่าล้วนถูกละเมิดสิทธิ ถูกจับกุม ถูกยัดเยียดข้อกล่าวหา รวมทั้งเรื่องของการจำกัดสิทธิในการออกนอกพื้นที่อยู่อย่างต่อเนื่อง
“ปัญหาดังกล่าว ทำให้พี่น้องชนเผ่าได้ตระหนัก กระทั่งในปี 2549-2550 ได้เริ่มมีการจัดอบรมกฎหมาย เรื่องของการละเมิดสิทธิ โดยนำตัวแทนพี่น้องชนเผ่านแต่ละเผ่า จำนวน 42 คน มาเป็นอาสาสมัครนักกฎหมายในชุมชน กระทั่งเมื่อวันที่ 16-17 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมสมัชชาใหญ่ ขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ มีผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ จากหลายๆ ชุมชนในเขตพื้นที่จังหวัดตาก เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน และได้มีการรวมตัวเป็น ‘เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์’ (คพสช.) ขึ้นมา โดยในที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งให้ พะตีจอนิ โอ่โดเชา เป็นประธาน พะตีมูเสาะ เป็นรองประธาน นายสุมิตรชัย หัตถสาร เป็นเลขานุการ และผมเป็นผู้ประสานงาน หลังจากนั้น ทุกคนเห็นชอบให้มีการตั้งสำนักงานทนายความเครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ นี้ขึ้นมา”
ผู้ประสานงานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ภารกิจหลักของสำนักทนายความชนเผ่านี้ ก็เพื่อพัฒนาศักยภาพแกนนำในเรื่องของการอบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนที่ลึกไปกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมาย หลักการประนีประนอม การเจรจาต่อรอง ซึ่งที่ผ่านมา พี่น้องชนเผ่ายังมีปัญหาเรื่องศักยภาพของการเจรจาต่อรองกับหน่วยงาน ส่วนใหญ่เขาทำไม่ได้ ไม่กล้าพูด ไม่รู้ว่าจะเอาตรงไหนมาอ้าง
“อีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญก็คือ เรื่องการตรวจสอบ การปกป้องสิทธิ การละเมิดสิทธิในชุมชน นี่เป็นเรื่องของเราที่ทำเป็นประจำ และยังเป็นภารกิจหลักอยู่แล้ว และเราต้องการขยายพื้นที่ของเครือข่ายในเรื่องสิทธิให้ขยายไปทั้งในระดับชุมชน รวมทั้งหน่วยงาน องค์กรอื่นๆที่เป็นภาคีและเครือข่ายร่วมกันต่อไปด้วย”
เมื่อสอบถามประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต
ผู้ประสานงานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ กล่าวว่า ในมุมมองของตน ภาพรวมของประเทศในเรื่องของสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ คิดว่าการละเมิดสิทธิของชุมชนค่อนข้างจะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต แม้ว่าเรื่องของสัญชาติ การศึกษา สุขภาพนั้นอาจคลี่คลาย มีความสบายใจในระดับหนึ่ง แต่เรื่องของสถานะบุคคลก็เป็นประเด็นค่อนข้างที่จะถูกละเมิดสิทธิ และชุมชน ชาวบ้านอาจจะเข้าไปไม่ถึงสิทธินั้น
“อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือประเด็นเรื่องสิทธิในการปกป้องรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของป่า ซึ่งจะมีกระแสของความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อย่างเรื่องของสภาวะโลกร้อน ที่รัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการปราบปราม ซึ่งมีการตั้งกฎระเบียบเพิ่มมากขึ้น เช่น คดีป่า คดีโลกร้อน และคดีต่างๆ เหล่านี้ ในมุมมองของตน คิดว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านมักจะเป็นแพะ ต้องถูกจับ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว”
อย่างที่รู้ๆ กันนั่นแหละว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนๆ นโยบายของรัฐมักขัดแย้งและสวนทางกับกลุ่มชาติพันธุ์อยู่เนืองๆ ซึ่งทางเครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ ก็รู้สึกวิตกกังวล ยิ่งใกล้ถึงวันยุบสภาและมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
“ในแง่ของคนทำงานในเรื่องของสิทธิมนุษยชน มองว่าหากรัฐบาลจะมีมุมมองตั้งแง่ อคติที่ไม่ดีกับพี่น้องชนเผ่า ก็เป็นเรื่องที่ลำบากเหมือนกัน แต่อยากจะฝากให้กับทางรัฐบาล คือ คิดว่ารัฐก็มีบทบาทในการเป็นคนที่ปกครองประเทศ แต่ขณะเดียวกัน การเป็นนักปกครองประเทศ ก็ต้องมองเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย เราจะต้องเคารพ ซึ่งมีการเคารพในความเป็นมนุษย์ เคารพใน
สิทธิของประชาชนด้วย การที่ตัวเองมีบทบาทแล้วมีอำนาจ แต่การใช้อำนาจที่ผิดก็อาจจะนำไปสู่ความไม่เป็นธรรม”
สิทธิของประชาชนด้วย การที่ตัวเองมีบทบาทแล้วมีอำนาจ แต่การใช้อำนาจที่ผิดก็อาจจะนำไปสู่ความไม่เป็นธรรม”
ในขณะ นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความ และเป็นเลขาธิการเครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ ได้กล่าวถึงเป้าหมายของการตั้งสำนักงานทนาความครั้งนี้ว่า ต้องการสร้างอาสาสมัครนักกฎหมายของพี่น้องชนเผ่า โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือเด็กที่จบมาใหม่ๆ ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายหลักๆ อยู่ 3 เรื่อง คือ 1.ติดตามเฝ้าระวังในเรื่องของสิทธิมนุษยชนชนเผ่า 2.การช่วยเหลือในกระบวนกลไกยุติธรรม และ 3.เพิ่มศักยภาพในการสร้างผู้นำและอาสาสมัครชุมชน
“ซึ่งในการทำงาน เรามีการประสานงานกันทุกระดับ ทั้งในพื้นที่ การทำงานกับชุมชนเรื่องประสานงานกับองค์การหน่วยงานด้านยุติธรรม รวมทั้งการระวังการละเมิดสิทธิ เราก็สามารถที่จะนำกรณีปัญหาแต่ละเรื่องนี้ นำไปเพื่อขอความช่วยเหลือโดยการใช้กลไกการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นี่เป็นการทำงานที่จะประสานหลายภาคส่วนเข้ามาอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกัน
ปัจจุบัน มีสมาชิกเครือข่ายทั้งหมด 40 กว่าพื้นที่ จากทั้งหมด 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และตาก ส่วนประเด็นเรื่องของการละเมิดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น นายสุมิตรชัย หัตถสาร มองว่า สถานการณ์การละเมิดสิทธินั้นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่นัก ก็ยังมีการละเมิดสิทธิอยู่เหมือนกับที่ผ่านมา เพียงแต่ว่าไม่เป็นประเด็นกรณีใหญ่ๆ เหมือนกับคดีปางแดง คดีลำพูน แต่ว่าจะมีการละเมิดสิทธิเป็นรายกรณีอีกมาก
“ดังนั้น เป้าหมายของเรา เมื่อมีการรวมตัวแล้ว มีตัวตน มีสำนักงานทนายความ มีความเป็นเครือข่ายที่ชัดเจน เราก็จะใช้หัวเครือข่ายในการขับเคลื่อน หมายถึงว่า ต้องมีการผลักดันให้เกิดการปฏิบัติ ต้องทำในเรื่องของการเรียกร้อง การยื่นข้อเสนอ กับฝ่ายรัฐ และเอาปัญหาออกมาตีแผ่ให้ทุกคนได้เห็นว่าปัญหามันคืออะไร มีการสื่อสารกับรัฐ นโยบายต่อสังคมมากยิ่งขึ้น เพราะว่าที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหานั้นเป็นปัจเจก รายกรณี เป็นเรื่องที่ลำบากมาก มันไม่มีผลในการปฏิบัติ ถึงแม้ว่าจะแก้ปัญหาพื้นที่นี้ได้ ก็ยังมีพื้นที่อื่น มีรายอื่นต่อไปที่ตามมา ฉะนั้น ถ้าเป็นการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมจริงๆ เราต้องนำมาสู่การรวมตัว การมีส่วนร่วม เผยแพร่ต่อสาธารณะ และผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาทางนโยบายที่ชัดเจน” เลขาธิการเครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ กล่าวในตอนท้าย.