ที่มา ประชาไท
กรุงเทพธุรกิจ อ้างรายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 54 ว่า บริษัทโตเกียว อิเล็กทริค พาวเวอร์ โค(เทปโก) ได้ยอมรับว่าไม่ได้ตรวจสอบอุปกรณ์ 33 ชิ้นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ไดอิจิ หมายเลข 1 ซึ่งมีอายุการใช้งานมานานหลายสิบปี
ส่วนแผงจ่ายไฟฟ้าของวาล์วควบคุมอุณหภูมิของเตาปฏิกรณ์ตัวหนึ่ง ก็ไม่ได้รับการตรวจมานานถึง 11 ปีแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ได้เขียนรายงานเท็จให้ดูเหมือนว่ามีการตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริง เป็นการตรวจสอบแบบลวกๆ
นอกจากนี้ การตรวจสอบซึ่งเป็นการทำแบบสมัครใจ ยังไม่ครอบคลุมถึงอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบระบายความร้อน อันประกอบด้วยมอเตอร์สูบน้ำและเครื่องปั่นไฟดีเซล
เทปโกยื่นรายงานเท็จฉบับนี้ หลังจากเจ้าหน้าที่สำนักงานดูแลความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น สั่งให้ตรวจสอบว่า ผู้ตรวจสอบของเทปโก ได้ตรวจตราอย่างละเอียดแล้วหรือไม่ ก่อนสรุปผลหลังจากนั้น 2 วันว่า การตรวจสอบยังไม่ได้คุณภาพเพียงพอ และมีคำสั่งให้เทปโกร่างแผนแก้ไขให้ถูกต้องภายใน 2 มิ.ย. แต่มาเกิดเหตุภัยพิบัติครั้งใหญ่เสียก่อน
ทางด้าน เจ้าหน้าที่สำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์ที่ไม่เปิดเผยนาม ปฏิเสธที่จะยืนยันว่า ข้อบกพร่องที่ระบุไว้ในรายงานมีผลต่อเหตุขัดข้องต่างๆ ที่เกิดขึ้น จนนำมาสู่วิกฤติสารกัมมันตรังสีรั่วไหลหรือไม่
นับตั้งแต่วิกฤติรังสีรั่วไหลเริ่มขึ้น เทปโกถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องความพยายามปกปิดมาโดยตลอด เนื่องจากในปี 2545 เทปโกเคยยอมรับว่าทำรายงานเท็จ จนนำไปสู่การปิดเตาปฏิกรณ์ 17 แห่ง รวมทั้งโรงไฟฟ้าฟูกูชิมาเพื่อทำการตรวจสอบ จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ส่งผลให้ผู้บริหารระดับสูงของเทปโกต้องลาออก
...........................
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์