ที่มา ข่าวสด
การเมืองไทยถูกผลักเข้าสู่บรรยากาศความไม่แน่นอนอีกครั้ง
เมื่อ ที่ประชุม กกต.มีมติรับรองผลเลือกตั้งส.ส.ทั้ง 2 ระบบ"ล็อตแรก"รวมกันแค่ 358 คน จากทั้งหมด 500 คน แยกเป็นรับรองส.ส.เขต 249 ยังไม่รับ รอง 126 คน รับรองส.ส.บัญชีรายชื่อ 109 คน ยังไม่รับรอง 16 คน
ในจำนวนนี้มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกฯหญิงคนแรกรวมอยู่ด้วย หลังจากนำพาพรรคเพื่อไทยชนะเลือก ตั้งถล่มทลาย 265 ที่นั่ง ภายใต้เสียงสนับสนุนจากประชาชนกว่า 15 ล้านคะแนนเสียง
ตามที่กก ต.ระบุ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกร้องคัดค้าน 2 เรื่อง คือ การนำญาติพี่น้องผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองมาขึ้นรถขบวนแห่หาเสียง กับการขึ้นป้าย "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ"
นอกจากนี้ ยังมีว่าที่ส.ส.ที่เป็นแกนนำ นปช. ถูกแขวนยกแผง อาทิ นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, พ.อ. อภิวันท์ วิริยะชัย, น.พ.เหวง โตจิราการ, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท, นายพายัพ ปั้นเกตุ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง และ นายวิเชียร ขาวขำ ซึ่งถูกคัดค้านคุณสมบัติเนื่องจากถูกคุมขังโดยคำสั่งศาล
และ แม้ในรายชื่อที่ถูกแขวนจะกระจัด กระจายหลายพรรค ทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ จากพรรคประชาธิปัตย์ นายชัย ชิดชอบ อดีต ประธานรัฐสภา จากพรรคภูมิใจไทย
แต่ จุดที่อาจทำให้บรรยากาศการ เมืองที่คลี่คลายลงหลังการเลือกตั้ง 3 ก.ค. เขม็งเกลียวขึ้นมาอีกระลอก ยังเป็น ในส่วนของการแขวนน.ส.ยิ่งลักษณ์ และแกน นำนปช.
ซึ่งไม่เพียงเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์เกือบทุกแวดวง ในสังคม ไทย แม้แต่สื่อต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ ต่างให้ความสนใจกับความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยขณะนี้เช่นกัน ว่าสุดท้ายแล้วจะลงเอยอย่างไร
ระหว่างที่ประชาชนกำลังใจจดจ่อรอรัฐบาลใหม่เข้ามาเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ
สํา นักข่าวรอยเตอร์วิเคราะห์ว่า ถึงแม้การเลือกตั้งใหม่จะผ่านพ้นไปแต่รัฐบาลชุดใหม่ยังไม่สามารถจัดตั้งได้ เนื่องจากการต่อสู้ของพรรคที่แพ้เลือกตั้ง
ทำให้หวั่นเกรงจะนำมาซึ่งความรุนแรงบนท้องถนนครั้งใหม่
ส่วน สำนักข่าวเอพีระบุ การไม่รับรองการเป็น ส.ส.ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจก่อให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่บนท้องถนนจากกลุ่มผู้สนับสนุน และจุดชนวนกระแสการเมืองระส่ำรอบใหม่ในไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้กลายเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยเปราะบาง
ด้าน นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัย แห่งชาติสิงคโปร์ แสดงทัศนะว่า
กกต.กำลังเริ่ม"การรัฐประหารทางกฎหมาย" รอบใหม่ กับกลุ่มผู้สนับสนุน"ทักษิณ"
และ ถือเป็นความพยายามหลังการเลือกตั้งที่จะขัดขวางไม่ให้พรรคเพื่อไทยขึ้นสู่ อำนาจ และความเคลื่อนไหวนี้อย่างน้อยที่สุดจะทำให้เกิดกระแสไม่ยอมรับจากกลุ่มสนับ สนุนพรรคเพื่อไทย และอาจจบลงด้วยวิกฤตการเมืองที่ยืดเยื้อของเมืองไทย
นาย แอนดรูว์ วอล์กเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญไทยศึกษา มหาวิทยาลัยออสเตรเลีย มองสถานการณ์ช่วงนี้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องระมัดระวังการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อจากนี้
ส่วนอีกฝ่ายต้องคิดให้ดี เพราะการโจมตีน.ส.ยิ่งลักษณ์มากไปอาจกระตุ้นให้ประเทศเข้าสู่ช่วงวิกฤต
ขณะที่ นายพินัก รันจัน จักราวาติ เอกอัครราชทูตอินเดีย แสดงความเห็นระหว่างการเข้าพบน.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า
กกต.ของอินเดียไม่มีอำนาจมากเท่ากับกกต.ของไทย เพราะถ้ามีเรื่องร้องเรียนหลังการเลือกตั้ง ที่อินเดียจะไปร้องต่อศาล
"ไทย เป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการสอบสวนโดยกกต. ซึ่งอาจทำให้เกิดช่องว่างในช่วงรอยต่อระหว่างการเลือกตั้ง ไปจนถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และทำให้เกิดความหวั่นไหวในประเทศ"
ถึงแม้น.ส.ยิ่งลักษณ์ พยายาม เก็บอาการภายหลังต้องปะทะกับมรสุมการเมืองลูกใหม่ แต่เชื่อว่าในใจลึกๆ แล้วไม่ว่าเป็นใครก็ต้องหวั่นไหว
เนื่อง จากสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้สอด คล้องกับกระแสข่าวที่มีมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้วว่า ถึงอย่างไรฝ่ายตรงข้ามคงต้องมีแผนสกัดกั้นพรรคเพื่อไทยทุกวิถีทาง
ขณะ ที่ กกต.เองก็ถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ของ "ไพ่อีกใบ" ที่จะถูกทิ้งลงมาหลังการเลือกตั้ง เพื่อเตะตัดไม่ให้พรรคเพื่อไทยเข้าสู่อำนาจได้โดยง่าย
แล้วก็เป็นไป ตามคาด จากจำนวน ว่าที่ส.ส.เขตที่โดนแขวน 126 คน กกต.มีมติสั่งจัดเลือกตั้งใหม่ในเขต 2 หนองคาย ชักใบเหลืองแรกให้นายสมคิด บาลไธสง จากพรรคเพื่อไทย ข้อหาขนคนไปฟังการปราศรัย
อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมที่ กกต.สั่งแขวนทั้ง "ยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์" ก็ทำให้เกิดการตีความไปได้หลายทางเช่นกัน
บ้างก็ว่าเป็นการทำหน้าที่ปกติของ กกต.ตามกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจไว้ แต่สุดท้ายก็น่าจะปล่อยรอดเข้าสภาทั้งคู่
โดย เฉพาะในรายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ กกต.คงไม่กล้าหักหาญเจตนารมณ์ ของประชาชนจำนวนมากกว่า 15 ล้านเสียงทั่วประเทศ ที่ได้แสดงออกอย่าง"เด็ดขาด" ผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค.
แต่ อีกข้อสันนิษฐานที่หวั่นๆ กันอยู่และยังตัดทิ้งไปไม่ได้คือ ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับ "ใบสั่งที่มองไม่เห็น" ที่ใช้กรณีการแขวนนายอภิสิทธิ์ เป็นฉากบังหน้าหลบภาพสองมาตรฐาน
ขณะที่เป้าหมายจริงอยู่ตรงน.ส.ยิ่งลักษณ์และแกนนำนปช. ที่จะปล่อยให้เข้าสภาไปไม่ได้ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดมหกรรม "เช็กบิล" กันขนานใหญ่
หรือไม่ก็เป็นการทำไปเพื่อ"ต่อรอง"บางอย่าง เช่น ปล่อยเฉพาะน.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ไม่ปล่อยแกนนำนปช. เป็นต้น
เหล่า นี้คือเครื่องยืนยันว่า ถึงการต่อสู้ในสนามเลือกตั้งจะจบไปแล้วด้วยชัยชนะของพรรคเพื่อไทย แต่การต่อสู้ทางการเมืองในทางลึกยังดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น
บ่งบอกถึงเส้นทางของ "ยิ่งลักษณ์" ในอนาคต ไม่ราบเรียบเหมือนตอนเลือกตั้งแน่นอน