ที่มา ประชาไท
00:49
21 พ.ย.54 ที่ศาลจังหวัดสระแก้ว มีการสืบพยานโจทก์ปากแรกในคดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาฯ และ บก.นิตยสาร Voice of Taksin ถูกกล่าวหามีความผิดตามมาตรา 112 โดยศาลได้เบิกตัวจำเลยมาจากเรือนจำสระแก้วเพื่อฟังการสืบพยานซึ่งเป็นเจ้า หน้าที่ตำรวจด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยมีประชาชนคนเสื้อแดงจากกลุ่มต่างๆ เดินทางจากกรุงเทพฯ และจังหวัดสระแก้วมาร่วมให้กำลังใจนายสมยศ และร่วมฟังการพิจารณาคดีประมาณ 40-50 คน รวมทั้งภรรยานายสมยศที่มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดสระแก้ว และเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติจากสหภาพยุโรป (อียู)
ภายหลังการพิจารณาคดีที่เสร็จสิ้น นายสุวิทย์ ทองนวล ทนายความของนายสมยศ ระบุว่า การสืบพยานในวันนี้เป็นประโยชน์ต่อการเตรียมการยื่นประกันตัวนายสมยศอีก ครั้ง ซึ่งจะเป็นครั้งที่เจ็ด เนื่องจากแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่านายสมยศไม่ได้มีเจตนาจะหลบหนีตามที่ดีเอส ไอระบุ ส่วนการสืบพยานในนัดหน้าจะมีขึ้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สงขลา ตามลำดับ ซึ่งพยานจะเป็นลูกน้องเก่านายสมยศ และประชาชนทั่วไปที่ได้อ่านนิตยสาร Voice of Taksin ที่ผ่านมาทนายจำเลยได้ทำเรื่องคัดค้านการสืบพยานในต่างจังหวัดแล้วแต่ไม่ เป็นผล เนื่องจากเห็นว่าพยานบางปากไม่สำคัญ และเกรงว่าจะเกิดอันตรายแก่จำเลยระหว่างเดินทางโดยเฉพาะในจังหวัดที่มีความ ขัดแย้งทางการเมืองสูง
นายสุวิทย์ยังกล่าวอีกว่า ศาลสระมีคำสั่งส่งตัวนายสมยศต่อไปยังจังหวัดต่างๆ ที่จะมีการสืบพยานเลยโดยที่จะไม่ส่งตัวเข้าเรือนจำกรุงเทพฯ อีก ดังนั้นกว่านายสมยศจะได้กลับกรุงเทพฯ ก็หลังจากเสร็จสิ้นการสืบพยานในต่างจังหวัดราวเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2555
ด้านนายสมยศซึ่งถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำในชุดนักโทษและถูกตีตรวน กล่าวว่า ความเป็นอยู่ที่เรือนจำจังหวัดสระแก้วนั้นดีกว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเรื่องอาหาร และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม เรือนจำที่นี่ยังคงมีสภาพแออัด ผู้ต้องขังล้นเกิน จากปกติรองรับได้ 800 คน ปัจจุบันเพิ่มเป็นเกือบ 2,000 คน โดยในจำนวนนี้เป็นการย้ายหนีน้ำท่วมมาเกือบ 300 คน ทำให้ต้องนอนเบียดเสียดอย่างมาก
สมยศยังเล่าถึงการเดินทางมายังเรือนจำสระแก้วว่า ระหว่างที่มีการเคลื่อนเขาพร้อมผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่หนีน้ำท่วมมายังเรือนจำสระแก้ว เมื่อต้นเดือน พ.ย. นั้นรถแน่นมากและเขาต้องยืนตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงสระแก้ว
เมื่อถามถึงกรณีสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ที่มีข่าวว่าอยากรวมคดีที่มีอยู่หลายจังหวัดเป็นคดีเดียวเพื่อรับสารภาพนั้น ส่งผลต่อการตัดสินใจต่อสู้คดีของสมยศหรือไม่ เขากล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจสู้คดี เนื่องจากเขาเดินมาครึ่งทางแล้ว และเชื่อว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิดจึงไม่อาจรับสารภาพได้ ส่วนกรณีของนายสุรชัยนั้นน่าเห็นใจว่าเพราะอายุมากและมีโรคประจำตัว หลายอย่าง
สำหรับการสืบพยานเริ่มต้นขึ้นในเวลาประมาณ 10.10 น. ด.ต.หญิง กนกรักษ์ ตันโลห์ เจ้าหน้าที่ตำรวจด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เป็นพยานปากแรกของคดีนี้ เบิกความว่า ในวันจับกุมจำเลยคือวันที่ 30 เม.ย.54 เธอได้เข้าเวรตรวจหนังสือเดินทางอยู่อาคารขาออก เวลาประมาณ 13.00 น. นายสมยศได้มายื่นหนังสือเดินทางขอรับการตรวจเพื่อเดินทางไปยังประเทศกัมพูชา เมื่อนำชื่อ หมายเลขบัตรประชาชน เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ พบว่าหน้าจอแสดงผล “บุคคลเป้าหมาย” พร้อมระบุว่ามีหมายจับของศาลอาญา จึงแจ้งหัวหน้าและให้เจ้าหน้าที่สอบสวนของ ตม.ประสานขอหมายจับจากดีเอสไอ
พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ด่านข้ามแดนไปกัมพูชานั้นมีด่านกาบเชิงที่จังหวัดสุรินทร์อีกแห่งหนึ่ง และอาจมีที่อื่นๆ อีกกี่แห่งไม่ทราบแต่ไม่เกิน 5 แห่ง ส่วนสถานการณ์ปัจจุบันมีประชาชนชาวกัมพูชาลักลอบข้ามพรมแดนเข้ามาในประเทศ ไทยจำนวนมาก และประชาชนไทยก็ลักลอบข้ามไปยังกัมพูชาจำนวนมากเช่นกัน เพราะพรมแดนระหว่างสองประเทศนั้นโดยส่วนใหญ่เป็นท้องไร่ท้องนาสามารถเดิน ข้ามไปได้ เปรียบเทียบได้กับกรณีของนายวีระ สมความคิด และนางราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ ที่ลักลอบเดินข้ามไปยังกัมพูชาโดยไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง อีกทั้งนายสมยศเดินเข้าแถวมาตรวนหนังสือเดินทางเหมือนบุคคลทั่วไป โดยเดินทางมาพร้อมคณะซึ่งเธอทราบอยู่ก่อนแล้วว่าจำเลยเป็นผู้นำนักท่อง เที่ยวไปเที่ยวในประเทศแถบอินโดจีน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทนายจำเลยยังได้นำส่งเอกสารเพิ่มเติมเป็นสำเนาหนังสือเดินทางของนายสมยศต่อ ศาล และนำมาสอบถามกับด.ต.หญิงกนกรักษ์ โดย ด.ต.หญิงกนกรักษ์ได้ยืนยันต่อศาลว่า หนังสือเดินทางนี้เป็นหนังสือเดินทางของนายสมยศที่เธอตรวจที่ด่านอรัญประเทศ เมื่อวันเกิดเหตุ และตามที่ปรากฏในหนังสือเดินทางของนายสมยศ มีการขอวีซ่ากับสถานทูตกัมพูชา 4 ครั้งระหว่างปี 2553-2554 โดยครั้งแรกขอวีซ่าระหว่างวันที่ 2 เม.ย.-2 ก.ค.53 เดินทางจริงวันที่ 3 เม.ย.53 ทางสนามบินสุวรรณภูมิ และกลับจากกัมพูชาวันที่ 5 เม.ย.53 ครั้งที่สอง ขอวีซ่าระหว่างวันที่ 29 ก.ย.-29 ธ.ค.53 เดินทางจริงวันที่ 3 ต.ค.และกลับวันที่ 5 ต.ค. ทางด่านอรัญประเทศ ครั้งที่สาม ขอวีซ่าระหว่างวันที่ 4 ธ.ค.53-4 ม.ค.54 เดินทางจริงวันที่ 4-6 ธ.ค.53 ผ่านด่านอรัญประเทศ ครั้งที่สี่ไม่มีการตรวจลงตราเพราะจำเลยถูกจับเสียก่อน
พยานยังตอบทนายจำเลยโดยระบุว่า “ตามสัญชาตญาณหากคิดจะหลบหนี หรือรู้ว่าตัวเองมีอะไรอยู่ ก็คงจะไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง”