ที่มา ประชาไท
ไชยวัฒน์ ตระการรัตน์สันติ
ชาวนนทบุรีฝั่งตะวันตก กำลังมีความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อความล่าช้าในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ ที่มีน้ำท่วมอยู่ถึง 1 – 2 เมตร มีส่วนน้อยมากที่ท่วมสูงเพียง 20 - 30 ซม. และมีพื้นที่แห้งสนิทเพียง 1 ตร.กม. จากพื้นที่ประมาณ 500 ตร.กม. ปัญหาน้ำท่วมนี้ไม่ใช่แค่ความลำบากในการใช้ชีวิตเท่านั้น แต่ในบางพื้นที่เป็นปัญหาการประกอบอาชีพและการอยู่รอด
ความหลากหลายของชุมชน
นนทบุรีตะวันตก ประกอบด้วยชุมนุมดั้งเดิม และชุมชนเกิดใหม่ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างมากในยุคของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ ในปี 2530 จนบางพื้นที่กลายเป็นย่านธุรกิจ เช่น บางใหญ่ซิตี้ จึงมีความหลากหลาย ชุมนุมดั้งเดิมจะเป็นชาวสวน กลุ่มที่มนุษย์เงินเดือนและกลุ่มผู้เกษียณใช้พื้นที่นี้เป็นที่อยู่อาศัย และกลุ่มที่ประกอบอาชีพค้าขายและบริการรายย่อยที่ดำรงชีพด้วยการให้บริการ กับชุมชน ดังนั้น ในแต่ละพื้นที่และอาชีพจึงมีการตอบสนองต่อปัญหาน้ำท่วมที่แตกต่างกันไป
กลุ่มที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่ได้ย้ายไปเช่าบ้านหรืออพาร์ทเมนต์เพื่อไปทำงานปกติ กลุ่มนี้มีความกังวลต่อน้ำท่วมยาวนานจะมีผลกับทรัพย์สิน และจะมีผลต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
ถึงแม้ว่ากลุ่มชุมชนดั้งเดิมอาจจะปรับตัวเข้ากับน้ำท่วมได้ดีกว่า เพราะส่วนใหญ่ยังไม่มีการโยกย้าย แต่ผลต่อการใช้ชีวิตเป็นไปด้วยความลำบาก และมีผลกระทบกับผลไม้ที่จะต้องมีการเริ่มต้นใหม่
กลุ่มที่ประกอบอาชีพค้าขายและบริการรายย่อย เช่น ขายอาหาร ร้านค้าย่อย รถตู้โดยสาร จักรยานยนต์รับจ้าง รับจ้างซักผ้า เป็นต้น เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะนอกจากจะได้รับผลต่อทรัพย์สินแล้ว ยังมีผลกับการหารายได้ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ การให้บริการของพวกเขาเป็นการให้บริการภายในชุมชน เมื่อน้ำท่วมคนในชุมชนย้ายออกไปชั่วคราว จึงไม่สามารถประกอบอาชีพ กลุ่มนี้จึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ในกลุ่มที่ไปชุมนุมที่ศาลากลางมาจากกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่
บางส่วน เช่น อาชีพรถตู้โดยสาร ที่อยู่หลายพันคัน ส่วนใหญ่เป็นรถใหม่ จึงมีภาระในการผ่อนชำระอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รถจักรยายนตร์รับจ้างก็เช่นกัน ประมาณครึ่งหนึ่งมีภาระในการผ่อนรถ จึงทำให้มีระดับความรุนแรงมากขึ้นไปอีก
กลุ่มนี้มีมากน้อยแค่ไหน ในหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ เช่น บ้านบัวทอง ประเมินได้ว่ามีประมาณร้อยละ 30 จากจำนวนครัวเรือน 7,500 หลังคาเรือน คิดเป็น 2,000 หลังคาเรือน แต่สัดส่วนน้อยลงกับบ้านจัดสรรราคาสูงกว่า 2 ล้านบาท หรือขนาดของชุมชนที่เล็กลง โดยเฉลี่ยควรจะอยู่ที่ร้อยละ 25 ของประชากรประมาณ 600,000 คนหรือประมาณ 150,000 คน
ปล่อยน้ำผ่าน กทม. ช่วยได้มาก
ในสถานการณ์การระบายน้ำของนนทบุรีตะวันตก จากรายงานของกรมชลประทานมีการไหลออกสุทธิประมาณวันละ 12 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่มีน้ำตกค้าง 480 ล้าน ลบ.ม. ถ้ากรุงเทพฯ สามารถผ่านน้ำไปได้ทั้งผ่านคลองทวีวัฒนา และผ่านคลองย่อยในบางพลัดไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา อีก 4 ล้าน ลบ.ม. จะเป็นร้อยละ 30 ของการไหลออกสุทธิของนนทบุรีตะวันตก จึงมีนัยยะสำคัญเช่นกัน
ถ้าใช้เลขนี้คำนวณอย่างง่ายๆ พื้นที่นี้น้ำท่วมจะลดลงใน 40 วัน แต่ถ้าเพิ่มการปล่อยผ่านกรุงเทพฯ จะเหลือ 30 วัน เท่ากับมีส่วนช่วยมากถึง 10 วัน
บางกรวยเป็นพื้นที่ติดต่อกับกรุงเทพฯ ตั้งแต่บางพลัด ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา มีความรู้สึกไม่เป็นธรรมกับกรุงเทพฯ ที่พื้นที่ติดต่อกันแต่ฝั่งหนึ่งแห้งสนิท จนทำกิจกรรม “บิ๊กคลินนิ่งเดย์” ได้ แต่อีกฝั่งยังสูงถึง 1.2-1.8 เมตร พวกเขาจึงมีความต้องการให้ฝั่งกรุงเทพฯ ช่วยระบายน้ำออกไปบ้างอย่างรุนแรง
ในขณะที่ บางใหญ่ บางบัวทอง อาจจะไม่มีความรู้สึกรุนแรงถึงความแตกต่างเรื่องแห้งและเปียกมากนัก แต่สิ่งที่เขาเห็นด้วยคือ จะทำให้น้ำลดลงเร็วที่สุดเท่าที่เป็นได้ เพราะต้องการให้การประกอบอาชีพได้รับการฟื้นฟู จากผลกระทบอันแสนสาหัสที่เกิดขึ้น
ต้องเป็นฝ่ายกระทำ
การรอให้น้ำลดลงด้วยการระบายตามธรรมชาตินั้น ถึงแม้จะเป็นหนทางหลัก แต่การรอเช่นนั้นย่อมทำเกิดความรู้สึกต่อเงินที่เสียภาษีเป็นอย่างยิ่ง เสียไปทำไมในเมื่อทุกอย่างเป็นไปเอง ดังนั้น หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องหาทางแก้ไขที่ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบรู้สึกได้ รับการให้บริการอย่างคุ่มค่า
หน่วยงานรัฐต้องพยายามทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าได้ทุมเททรัพยากรในการ แก้ไขปัญหานี้ รวมถึงการเจรจากับกับกรุงเทพมหานครอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
ทั้งนี้ต้องตระหนักว่า การปล่อยน้ำผ่านกรุงเทพฯ อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด แต่เป็นทางออกที่ช่วยลดเบาสถานการณ์น้ำท่วมได้มากเช่นกัน