ที่มา มติชน
หากย้อนกลับไปดู "คำประกาศ" ช่วงหาเสียงของพรรคเพื่อไทยทุกๆ เวที ทุกๆ สนาม ในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน
จะเห็นภาพ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ "ขุนพล" พรรคเพื่อไทย ประกาศอยู่เสมอว่า
"จะนำทักษิณกลับบ้าน"
ซึ่งต่อมาคำประกาศดังกล่าว กลายเป็นหนึ่งใน "นโยบาย" ที่สำคัญของพรรคเพื่อไทย
นับตั้งแต่เลือกตั้งซ่อมที่ศรีสะเกษ และมหาสารคาม เรื่อยมาจนถึงเลือกตั้งใหญ่เมื่อ กลางปี 2554
โดยเฉพาะคนอีสานและคนภาคเหนือ
ถึงขนาดพรรคการเมืองคู่แข่งหรือนายทหารกล้าบางคนถึงขนาด ประกาศ "ถ้าอยากให้ทักษิณกลับบ้านให้เลือกพรรคเพื่อไทย ถ้าไม่อยากให้ทักษิณกลับบ้านให้เลือกพรรค..."
ดังนั้น เสียงวิจารณ์เกี่ยวกับ ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ 2554 จึงเป็นเรื่องเล็กน้อย
หากตีโจทย์ด้วยการคิดแทน พรรคเพื่อไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
เพราะต้องไม่ลืมว่า ร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวเป็น ร่างที่จัดทำขึ้นทุกปี เป็นประเพณีปฏิบัติ
การที่มองว่า เกมนี้เพื่อต้องการเอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ
คงผิดถนัด
เพราะอย่าลืมว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เพิ่งถูกตัดสิน จำคุก 2 ปี ในคดีซื้อที่ดินรัชดาฯ โดยที่เจ้าตัว ไม่ยื่นอุทธรณ์
นั่นหมายความว่า หากเป็นไปตามเงื่อนไข พ.ร.ฎ. พ.ต.ท.ทักษิณต้องกลับมารับโทษก่อนถึงจะเข้าหลักเกณฑ์
จริงอยู่แม้หลักเกณฑ์และเงื่อนไข อาจเปลี่ยน แปลงไปตาม "อำนาจ" ในมือนักการเมือง
แต่เมื่อ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ยืนยันว่า "เนื้อหา" ในร่าง พ.ร.ฎ. ไม่ผิดเพี้ยนไปจากร่างที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้ ทำไว้
ก็ยิ่งติดเงื่อนไข
ยิ่งไปกว่านั้น พ.ต.ท.ทักษิณยังมีคดีติดตัว 4 คดี ที่รอวันถูกจับกุมคุมขัง ประกอบด้วย
1.คดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ 4 พันล้านบาท เอื้อประโยชน์ให้กับเครือชินคอร์ป ที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้ถูกกล่าวหารายเดียว
2.คดีแปลงสัญญาสัมปทานธุรกิจโทรคมนาคมเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป ที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้ถูกกล่าวหารายเดียว
3.คดีทุจริตการออกหวยบนดิน 2 ตัว 3 ตัวโดยมิชอบ ที่ศาลฎีกาฯยกฟ้องผู้ถูกกล่าวหารายอื่นแล้ว มีเพียง พ.ต.ท.ทักษิณที่ยังไม่มาต่อสู้คดี
และ 4.คดีปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือซุกหุ้น ที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องหลังศาลฎีกาฯได้ตัดสินยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ 4.6 หมื่นล้าน
ถามว่า "รอดตัว" คดีที่ดินรัชดาฯ แล้วจะมาเสี่ยงกับอีก 4 คดี จนทำให้น้องสาวในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องกระอักกระอ่วนใจหรือ
ด้วยเงื่อนไขที่ "ล็อก"
ทำให้เชื่อว่าเกมนี้เป็นการล่อเสือออกจากถ้ำ ประเมินกำลัง หยั่งเชิงดูท่าทีของ "ศัตรู" เท่านั้น
หากมองให้ลึก วิเคราะห์ให้ชัด พรรคเพื่อไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังรอจังหวะ "เล่นเกมเสี่ยง"
เพราะหากวิเคราะห์ในเนื้อหาจดหมายที่ พ.ต.ท.ทักษิณสื่อถึงคนไทย
"..ผมขอสนับสนุนมาตรการที่จะนำไปสู่ความปรองดองใน ชาติและไม่อยากเห็นความพยายามใดๆ ที่จะทำให้บรรยากาศนี้เสียหาย ผมพร้อมที่จะเสียสละความสุขส่วนตัว ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้รับความเป็นธรรมมากว่า 5 ปีแล้ว เพื่อพี่น้องประชาชนผมจะอดทน.."
เท่ากับว่า พ.ร.ฎ.ในสายตา พ.ต.ท.ทักษิณ ไร้ความหมาย
จึงเป็นไปได้อย่างสูงที่พรรคเพื่อไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ รอจังหวะ โอกาส ที่จะเปิดเกม "รุกฆาต" หมากเกมนี้ ด้วยการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่อาจใช้ชื่อ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม, พ.ร.บ.พระราชทานอภัยโทษ หรือ พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ หรืออะไรก็ได้ในอนาคต
ภายใต้เงื่อนไข พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล น้องสาวเป็นนายกรัฐมนตรี และมีฐานประชาชนสนับสนุนจำนวนมาก
หากเป็นเช่นนั้นจริง พรรคเพื่อไทย คงต้องอธิบายให้สังคมเกิดความเข้าใจ
จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้คนอย่าง ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่เชี่ยวชาญทั้งเกมการเมืองในและนอกสภา มีความรู้ด้านข้อกฎหมาย และอธิบายกับสังคมผู้คนด้วยภาษาง่ายๆ มาเป็น "ขุนพล"
เพราะที่ผ่านมา ร.ต.อ.เฉลิมยืนยันเสมอว่า ทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ล้วนเป็น "คดีการเมือง" ที่มีต้นธารมาจากการ "ปฏิวัติ" ทั้งสิ้น
และยืนยันมาตลอดว่า การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เท่ากับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จะหลุดพ้นทุกคดี
เพื่อนำประเทศเดินสู่ถนนปรองดอง สามัคคี สร้างชาติ อย่างมั่นคง
การออกเป็น พ.ร.บ. เท่ากับว่าจะทำให้ พ.ต.ท. ทักษิณ "หลุดพันธนาการในทุกคดี" ที่มีรากเหง้ามาจากการปฏิวัติ
เช่นเดียวกับกลุ่มพันธมิตร ที่ติดคดียึดทำเนียบรัฐบาล คดีปิดสนามบินสุวรรณภูมิ กลุ่มคนเสื้อแดง ที่มีคดีเผาราชประสงค์
แม้กระทั่งคดีสังหารกลุ่มคนเสื้อแดง ปี 2553 ที่ทหารหลายนายให้ปากคำว่า เป็นไปตามคำสั่งของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ในขณะนั้น ก็อาจได้รับอานิสงส์จากเกมนี้ด้วย
ที่สำคัญ เท่ากับว่า ร.ต.อ.เฉลิม และพรรค เพื่อไทย ได้ทำตามนโยบายที่สัญญาไว้กับประชา ชนที่เลือกแล้วว่าจะ "เอาทักษิณกลับบ้าน"
งานนี้ถือว่าเป็น "เกมวัดดวง" อย่างแท้จริง