ที่มา Thai E-News
ติ่งขอเบิ้ลเบาไปหาหนัก-จะ ทำหนังสือถึงรัฐบาลขอให้ปราบปรามเว็บไซต์ที่มีเนื้อหากระทบกระเทือนสถาบัน พระมหากษัตริย์ โดยวิธีการที่จะเสนอ เบาที่สุด คือให้ประสานงานไปยังรัฐบาลที่เว็บไซต์นั้นตั้งอยู่เพื่อขอให้ปิดเว็บไซต์ ดังกล่าว แต่แรงที่สุด คือให้ปิดเว็บไซต์ยูทูปหรือเฟซบุ๊กไปเลย เหมือนอย่างที่รัฐบาลจีนเคยทำ -มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษก ปชป.
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
26 พฤศจิกายน 2554
ดร.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ ได้ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ @Sawatree กรณีICTเตือน การกด Share หรือ Like หรือ Comment ในเฟซบุ๊คทีี่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ว่า
"การ like หรือ comment เพจ หรือสเตตัสคนอื่น" ถือเป็นการ "เผยแพร่" หรือ "ส่งต่อ" ที่ผิดพรบ.คอมฯ ม. 14 (5) หรือไม่...มีคนพยายามอธิบายว่า "เมื่อไปกดชอบ หรือเมนท์แล้ว มันจะ feed ขึ้นมาในหน้า home ของเราเสมือนหนึ่งเป็นการเผยแพร่แล้ว ดังนั้น ขอให้ user พึงระวัง..."
โดยส่วนตัวเรา เรากลับเห็นว่า เพียงแค่กดชอบ หรือเมนท์ ไม่ถือเป็นการ "เผยแพร่" ตามกฎหมาย
เพราะอะไร ?...เพราะโดยสภาพแล้วการกดไลค์ ผู้กดมีเป้าเพียงแสดงความชื่นชอบเท่านั้น ไม่ได้มี "เจตนา" เผยแพร่ต่อไป....ประเด็นนี้มันอาจตัดได้ไม่มีองค์ประกอบภายใน คือ ไม่มี "เจตนาเผยแพร่"
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะไถพิจารณาเลยไปว่ามี "เจตนาเล็งเห็นผล" จะได้หรือไม่ ..คำตอบก็คือ ..ถ้าจะไถพิจารณาเลยไปว่ามี "เจตนาเล็งเห็นผล" เพราะ ฟังค์ชั่นของเฟสบุ๊ก มีการ โชว์ "ว่าเราไปทำอะไรไว้" ที่ไหน แล้ว "เพื่อน ๆ" อาจเกิดความสนใจเลยจิ้มเข้าไปดูต่อ....ก็อาจต้องถกเถียงกันต่อไปอีก อย่างน้อย ๆ ก็ สองประเด็น คือ
๑. ฟังชั่นของเฟสบุ๊กเปลี่ยนแปลงแทบจะรายเดือน และทั้งผู้ใช้บริการสามารถตั้งเป็นฟังชั่นไม่แสดงผลได้...เช่นนี้อะไรจะเกิดขึ้น กับ
๒. ที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องรู้หรือไม่รู้ว่ามีฟังค์ชั่นหรือไม่ มักไม่ถูกนำมาเป็นข้อพิจารณาว่า ผู้กระทำมีเจตนา ยกตัวอย่างเปรียบ การใช้บิททอเรนท์ ผู้โหลดบิท บางคนก็รู้ บางคนก็ไม่รู้ว่า ขณะที่ดาวน์โหลด ตัวเองกำลังเผยแพร่ (อัพโหลด) อยู่ด้วย แต่ที่ผ่านมา คนดาวน์โหลดมักไม่ถูกฟ้องในฐานะผู้เผยแพร่ ถ้าจะผิดก็เป็น "ผู้ใช้ของละเมิดลิขสิทธิ์" เท่านั้น
ประเด็นเพิ่มเติมอีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ การทำให้เกิดการ "ลิงค์" ไป ถือเป็นการเผยแพร่เนื้อหาแล้วหรือ ?? (กม. ต่างประเทศ ยกตัวอย่าง เยอรมัน ไม่ถือเป็นการ "เผยแพร่" แต่เป็นการ "เปิดช่องทางการเข้าถึง" ตามกฎหมายปกติเยอรมันไม่ผิด...สุดท้าย เยอรมันต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับความผิดทางอินเทอร์เน็ต ให้ "การเปิดช่องทางการเข้าถึง" เป็นความผิดด้วย ....ปัญหาก็คือ เรื่องแบบนี้ ประเทศไทยยังไปไม่ถึงขนาดนั้น)
ก่อนหน้านี้กระทรวงไอซีที (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) โดย นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ออกประกาศเตือนประชาชนชาวเน็ตทุกคน ถึงเรื่องเด่นประเด็นร้อนที่กำลังเกิดขึ้นบนเว็บเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือ Facebook ในช่วงนี้ คือ การโพสต์เนื้อหา(ข้อความ/รูปภาพ) ที่หมิ่นสถานบันฯ โดยขอความร่วมมือให้ทุกคนที่เห็นเนื้อหาดังกล่าว กรุณาอย่ากด Like, Share หรือ Comment ในเนื้อหานั้นเด็ดขาด เพราะยิ่งแต่จะเป็นการช่วยเผยแพร่ข้อความเหล่านั้นให้ออกไปสู่วงกว้างมาก ขึ้น (ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นด่าทอ หรือต่อต้านก็ตาม) นอกจากนั้น นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า ผู้ที่ทำการ อย่ากด Like, Share, Comment เนื้อหาดังกล่าวนั้น ว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยไม่รู้ตัว มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกด้วย
…ส่วนการกด Share หรือ Like หรือ Comment นั้น เป็นการกระทำที่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยที่ผู้กระทำอาจไม่รู้ตัว เนื่องจากเป็นการเผยแพร่ข้อมูลต่อในทางอ้อม กระทรวงไอซีที จึงขอให้ประชาชนที่หวังดีและต้องการปกป้องสถาบันปฏิบัติตามคำแนะนำ ของกระทรวงฯ
โดย หากพบเจอเว็บไซต์ไม่เหมาะสมขอให้แจ้งข้อมูลมาที่หมายเลข 1212 รวมทั้งหยุดการเข้าไปดูหน้าเว็บดังกล่าว และไม่บอกตและไม่บอกต่อ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็ว สำหรับวิธีปฏิบัติเมื่อพบเจอเว็บไซต์ที่เผยแพร่เนื้อหาไม่เหมาะสมนั้น สิ่งที่ควรกระทำ คือ ห้ามกด Share โดยเด็ดขาด…
มัลลิกา' เตรียมยื่นหนังสือจี้นายกและ รมว.ไอซีที 28 พ.ย.นี้ เพื่อขอให้ปราบปรามเว็บหมิ่นฯ ชี้อาจใช้ยาแรงสุดคือปิดยูทูปหรือเฟซบุ๊กเหมือนอย่างที่รัฐบาลจีนทำ
มติชนออนไลน์รายงาน ว่าเมื่อเวลา 11.15 น. ที่พรรรคประชาธปัตย์ (ปชป.) น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษก ปชป.แถลงว่า ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ ตนจะทำหนังสือถึงนายกฯ และ รมว.ไอซีที เพื่อขอให้ปราบปรามเว็บไซต์ที่มีเนื้อหากระทบกระเทือนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยวิธีการที่ตนจะเสนอ เบาที่สุด คือให้ประสานงานไปยังรัฐบาลที่เว็บไซต์นั้นตั้งอยู่เพื่อขอให้ปิดเว็บไซต์ ดังกล่าว แต่แรงที่สุด คือให้ปิดเว็บไซต์ยูทูปหรือเฟซบุ๊กไปเลย เหมือนอย่างที่รัฐบาลจีนเคยทำ ทั้งนี้ ปชป.ได้เปิดเฟซบุ๊ก Fight Bad Web พร้อมอีเมล์ Fightbadweb@gmail.com เพื่อรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2551 ใน 4 ฐานความผิด ได้แก่ 1.หมิ่นสถาบัน 2.ความมั่นคง 3.ลามกอนาจาร และ 4.การพนัน
"อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมทำร้าย ทำลาย จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์เวลานี้ได้ลามจากโซเชียลมีเดีย ไปตามร้านเสริมสวย ร้านข้าวต้ม สภากาแฟฯ ในต่างจังหวัด หากผบ.ตร.ต้องการทราบว่ามีร้านไหนบ้าง ดิฉันจะพาไปดูทั้งใน จ.พะเยา ลำปาง และแพร่" น.ส.มัลลิกากล่าว