ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ รายงานพิเศษ
กรณี พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก และอดีตโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นตัวแทนของกองทัพให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีสลายการชุมนุมช่วง เดือนเม.ย.-พ.ค.53 ยืนยันทหารไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยพลการ แต่จะทำตามคำสั่งศอฉ. ซึ่งมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในฐานะ ผอ.ศอฉ.ขณะเกิดเหตุ เป็นผู้สั่งการ
คำให้การดังกล่าวจะเป็นประโยชน์มากน้อยแค่ไหน สาวไปถึงผู�สั่งการได�หรือไม� มีความเห็นจากผู้ติดตามคดี ดังนี้
สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
คำ ให้การของ พ.อ.สรรเสริญเป็นข้อมูลเดิมว่า การสั่งการทุกครั้งใน คำสั่งของศอฉ.เป็นของนายอภิสิทธิ์ โครงสร้างของศอฉ.นั้นเห็นชัดเจนถึงสายการบังคับบัญชาว่าใครสั่งการเรื่อง อะไร
การยืนยันของพ.อ.สรรเสริญจึงทำให้ข้อมูลเดิมเหล่านั้นชัดเจน ขึ้น หนักแน่นขึ้น ประเด็นหลักจึงอยู่ที่การนำตัวคนผิดมาลงโทษได้หรือไม่ และเป็นประเด็นต่อไปคือ คนที่จะมาตรวจสอบใช้หลักฐานที่มาจากไหน
มอง ในทางการเมือง เรื่องนี้น่าจะเป็นภาพของทหารที่กันตัวเองออกมาจากความผิด กันตัวเองออกมาจากรัฐบาลในช่วงนั้น อีกทั้งเป็นภาพของการประนีประนอมระหว่างทหารและรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์มาก ขึ้น
คนที่ต้องรับผิดชอบทุกคำสั่งการต้องเป็นรัฐบาลชุดนั้นๆ อยู่แล้ว แต่ต้องมาดูว่าทหารทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ ทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ เช่น หากรัฐบาลสั่งให้ยิงปืนขึ้นฟ้าแล้วมีคนเสียชีวิต ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องมาพิสูจน์กัน
ในส่วนคดีที่มีผู้เสียชีวิต จากการสลายการชุมนุม ต้องเร่งดำเนินการให้รวดเร็ว เพราะเวลาล่วงเลยมานานมากแล้ว รัฐบาลจึงต้องดูว่าควรให้หน่วยงานใดรับผิดชอบ
อย่างคณะกรรมการค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ก็ให้ทำต่อไปได้ แต่เนื่องจากการทำงานดูช้าไปหมด รัฐบาลจึงควรตั้งตัวแทนเข้าไปร่วมงานอีก ให้การค้นหาความจริงรวดเร็วขึ้น
คนเหล่านี้หากไม่ถูกกระตุ้นจะทำไป เรื่อยๆ เหมือนรอดูท่าที แต่รัฐบาลจะรอดูท่าทีไม่ได้ ประชาชนคาดหวังว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ได้รวดเร็วกว่ารัฐบาลชุดที่แล้ว
ยิ่งช่วงน้ำท่วมรัฐบาลต้องสร้างกระแสของตัวเองให้มาก แต่จะทำด้วยวิธีไหนอยู่ที่พิจารณาของรัฐบาลเอง
ธิดา โตจิราการ
รักษาการประธานนปช.
พ.อ.สรรเสริญให�การเป็นประโยชน์ในการนำตัวคนผิดมาลงโทษ แต่ยังวางใจอะไรไม่ได้ อะไรก็เกิดขึ้นได้
นปช.จึงมี 2 เป้าหมาย เป้าหมายแรกคือ การทำความจริงให้ประชาชนรับรู้ เป้าหมายที่สองคือ การนำคนผิดมาลงโทษให้ได้
เป้า หมายที่ 2 ยังไม่แน่ใจว่าทำได้หรือไม่ เบื้องต้นจึงต้องทำความจริงให้ปรากฏเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ 2 คือนำคนผิดมาลงโทษ ก่อนจะมีเป้าหมายสุดท้าย คือ ไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก แต่การจะทำให้สำเร็จต้องทำไปทีละขั้น
พ.อ.สรรเสริญยอมรับว่าทำจริง แต่เป็นไปตามคำสั่งของรัฐบาลนั้น เราเชื่อ ทหารมีหลักอยู่ว่า ถ้าไม่ได้สั่งจะทำไม่ได้ ส่วนคำสั่งนักการเมืองที่มีมาถึงทหาร เป็นข้อมูลที่ถูกเปิดเผยมาก่อนหน้านี้ เป็นข้อมูลเดียวกับที่พ.อ.สรรเสริญให้ปากคำ เช่น การสั่งสลายการชุมนุม 19 พ.ค.53 ที่มีลายเซ็นของนายสุเทพ ในฐานะ ผอ.ศอฉ.
แต่กรณีพล.อ.อนุพงษ์ ผบ.ทบ. ขณะนั้น ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมเลย เชื่อว่า พล.อ.อนุพงษ์ และทหารรู้ดีว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้
สุดท้ายรัฐบาลที่เป็นผู้สั่งการต้องรับผิดชอบทั้งทางกฎหมายและการเมือง เราจึงต้องนั่งดูต่อไปว่าเรื่องจะจบลงอย่างไร
คำ ให้การของพ.อ.สรรเสริญจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการค้นหาความจริง ทุกคนต้องจับตาว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาคนผิดมาลงโทษให้ได้
จาตุรนต์ ฉายแสง
อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
ประเด็น ของผู้สั่งการนั้น ยังตอบไม่ได้ว่าจะเกิดผลอย่างไรในทางกฎหมาย ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เรารู้กันโดยทั่วไปว่า นายอภิสิทธิ์ในฐานะ ผู้บังคับบัญชาสูงสุด และนายสุเทพในฐานะผอ.ศอฉ. เป็นผู้ตัดสินใจสั่งการให้เกิดการดำเนินการต่างๆ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.53
โดยเหตุสลายการ ชุมนุมดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล ไม่มีการดำเนินการที่เป็นขั้นตอน ดำเนินการเกินกว่าเหตุ มีการข้ามขั้นโดยใช้อาวุธสงครามร้ายแรงเพื่อสลายการชุมนุมจนนำไปสู่ความสูญ เสีย กระทั่งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพต้องเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะผู้สั่งการ
เรื่อง นี้จะต้องขึ้นอยู่กับการตรวจสอบของกระบวนการยุติธรรมอีกครั้งหนึ่งด้วย นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพจะมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ ต้องมาพิสูจน์กันอีกว่าการสั่งการของบุคคลดังกล่าวนำไปสู่ความสูญเสียที่ เกิดขึ้นหรือไม่
แต่ส่วนตัวมองว่าเหตุการณ์การชุมนุมเฉพาะวันที่ 10 เม.ย.53 ก็ชัดเจนแล้วว่าทั้งนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพมีความผิด ยากที่จะหลีกเลี่ยงแก้ข้อกล่าวหานี้ไปได้
อย่างไรก็ตาม ต้องให้โอกาสทุกฝ่ายได้ชี้แจงและว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม
สมบัติ บุญงามอนงค์
บ.ก.ลายจุด
เป็นเรื่องที่ดีมาก จะทําให้ข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์คลี่คลายลง
รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่า การสลายการชุมนุมครั้งนั้นไม่ได้ทำเกินกว่าเหตุ และต้องพิสูจน์คนตายทั้ง 91 ศพ ให้ได้เช่นกันว่า คนเหล่านี้เป็นผู้ก่อการร้าย หรือกลุ่มชายชุดดํา หรือผู้ก่อความไม่สงบ ต้องสั่งให้ทหารนําสไนเปอร์เข้ามาในพื้นที่
ต้องอธิบายให้ได้ว่าการใช้สไนเปอร์ยิงพวกเขานั้น เพื่อต้องการแค่หยุดยั้งหรือจงใจ
คดี 91 ศพ ที่กำลังดําเนินการอยู่ในขณะนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะได้มาสะสาง ให้เสร็จสิ้น หลังจากที่สถานการณ์อุทกภัยเริ่มคลี่คลายลง
ดิเรก ถึงฝั่ง
อดีตส.ว.นนทบุรี
การ ออกมาให้ปากคำของพ.อ.สรรเสริญเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ทางออกไม่ใช่การมาตั้งคณะกรรมการ คอป. มันไม่ได้ความจริง เมื่อมีคนตาย ผู้ที่ทำหน้าที่คือตำรวจที่ต้องสอบสวนหาข้อเท็จจริงว่าใครเป็นคนฆ่า
จึง ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ตรวจสอบและหาข้อเท็จจริง ตรงนี้จะเป็นความจริงที่ชัดเจน อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ก็เคยพูดว่ากฎหมายต้องเป็นกฎหมาย แล้วท้ายที่สุดเราจะรู้เองว่าใครคือคนทำความผิด แล้วหาตัวมาลงโทษ
พ.อ.สรรเสริญ พูดชัดเจนว่า ทำตามคำสั่งศอฉ. ของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพที่ต้องปฏิบัติภารกิจพิเศษ ทหารจึงต้องทำตามคำสั่ง เขาก็ทำถูกต้อง เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งก็ต้องปฏิบัติตาม ในส่วนนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าใครคือคนผิด
ต้องดำเนินการต่อข้อ เท็จจริง สอบสวนกันต่อ ตามกระบวนการยุติธรรมไปเรื่อยๆ จนในที่สุดข้อเท็จจริงปรากฏชัดด้วยหลักฐาน เหตุผลต่างๆ จะนำมาสู่กระบวนการลงโทษได้
เพราะเมื่อมีผู้สั่งก็ต้องมีผู้รับผิด ชอบ ขั้นตอนจะใช้ระยะเวลานานก็ไม่เป็นไร เคยมีเหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีต้องถูกลงโทษ เพราะเหตุผลเหล่านี้มาแล้ว
ระหว่าง นี้ยังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นค้นหาข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่เมื่อกระบวนการยุติธรรมเสร็จสิ้น ใครก็ปฏิเสธไม่ได้ ต้องเป็นไปตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
ขั้นตอนต่อไปต้องเชิญผู้ที่ ถูกพาดพิงหรือมีส่วนเกี่ยวข้องมาให้ปากคำเพิ่มเติม อย่าลืมว่าสังคมทั้งประเทศมองอยู่ คนไทยไม่ใช่คนโง่ อย่าเบี่ยงเบนหรือปัดให้ข้อมูล อาจถูกสังคมทักท้วงและคัดค้าน จึงไม่ควรทำลายกระบวนการสอบสวน โดยนำระบบพวกมาก-ลากไปมาใช้
กระบวนการยุติธรรมยังมีอีกหลายขั้นตอน เพียงแต่ทุกคนต้องพูดความจริง ยอมรับความจริงกันให้ได้