ที่มา มติชน
เจตนารมณ์ของ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน ชัดเจนว่า ต้องการต่อต้าน คัดค้าน การพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว
ไม่เกี่ยวกับนักโทษรายอื่นๆ ที่จะได้รับอานิสงส์
นพ.ตุลย์เรียกร้องให้รัฐบาลนำร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ปี 2553 กับร่างในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ปี 2547 มาเปรียบเทียบกัน เสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.โดยด่วน และให้นายกฯเป็นผู้แถลงให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว
พร้อมระบุด้วยว่า "และต้องหลีกเลี่ยงการบังคับให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย และหวังว่าร่างดังกล่าวจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นการเฉพาะ"
เจตนารมณ์ของ นพ.ตุลย์คงไม่ต่างจากแนวคิดของกลุ่มพันธมิตร
ไม่ต่างจากแนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์
ด้วยความเชื่อทางการเมืองที่ว่า การกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ "โอกาสทางการเมือง" ของคู่ต่อสู้ และคู่แค้นที่ฝากรอยแผลไว้ในใจจะหมดไป
แม้การออกมาเดินหน้าชนของ นพ.ตุลย์เพื่อไม่ต้องการให้เกิด "สองมาตรฐาน" กับนักโทษคนอื่นๆ
หากแต่ลึกๆ แล้ว เจตนารมณ์ที่แท้จริง น่าจะเป็นการ "หยั่งเชิง" ของกลุ่มที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อต้องการ "เช็กกำลัง"
หากอนาคตอาจต้องลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากับ พ.ต.ท.ทักษิณอีกครั้ง
การล่าถอยของกลุ่มพันธมิตรที่ยกเลิกการชุมนุมกดดันคัดค้านร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ด้วยการยกเหตุผลในคำพูดแบบสุภาพบุรุษของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ที่ว่า "พ.ร.ฎ.ดังกล่าวไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ" มาเป็นข้ออ้าง
จึงมี "นัยยะ" สำคัญ เรื่องพลังมวลชน ที่อาจไม่เหมือนแต่เก่าก่อน
หากวัดจากที่ตำรวจนครบาลประเมินว่า จะมีผู้มาร่วมชุมนุมไม่ถึง 1 พันคน
ยิ่ง พล.ต.อ.ประชาออกมายืนยันว่า เนื้อหาในร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษเป็นร่างเดียวกับที่พรรคประชาธิปัตย์ทำไว้สมัยเป็นรัฐบาล
พร้อมประกาศเอาเกียรติของอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นเดิมพันว่า
"จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขเพื่อเป็นการช่วยเหลือคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ และไม่ทำนอกเหนือกฎหมาย ไม่มีชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณรวมอยู่ด้วย"
เช่นเดียวกับ "กิตติพงษ์ กิตยารักษ์" ปลัดกระทรวงยุติธรรม ก็ยืนยันว่าเนื้อหาไม่เปลี่ยนแปลง ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนปกติ
แม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณเองก็ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า จะยอมสละความสุขเพื่อความปรองดอง
ทำให้การ "ปลุกเชื้อ-จุดไฟ" ดูไม่มีน้ำหนัก
ส่งผลให้ภาพของ "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" อดีต รมว.ยุติธรรม ผู้ยกร่างดังกล่าวขึ้นมากับมือ ที่ออกมาตั้งข้อสงสัยผ่านเฟซบุ๊ก
หรือแม้กระทั่ง นพ.ตุลย์ที่ยังคงเดินหน้าค้าน แต่พลิกแพลงในเนื้อหา
เข้าข่ายลักษณะ "ชวนตี"
ขณะที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย มองว่า เกมนี้ได้กำไรสองต่อ
หนึ่ง ปูดเรื่อง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษออกมา พร้อมกล่าวหารัฐมนตรีหนุ่ม 2 คน ลูกนักการเมืองดัง นำความลับ ครม.ออกมาเปิดเผย ซึ่งอาจเป็นแค่เกม "ปล่อยของ" ออกมาหยั่งเชิง เพื่อเช็กกำลังฝ่ายตรงข้าม
สอง หากจะปล่อยของจริงๆ ด้วยการออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อภัยโทษ เพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์จากวิกฤตการณ์ทางการเมืองตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา แต่ต้องรอบคอบ อธิบายสังคมได้ ก็คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
คำพูดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ออกมายืนยันแนวคิดเดิมว่า "จะคืนความเป็นธรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เคยปิดบังซ่อนเร้น เพราะประกาศมาตั้งแต่ต้น"
คงเป็นเครื่องหมายการค้าที่ชัดเจนว่า "ทำจริง"