ที่มา ประชาไท
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ออกแถลงการณ์เนื่องในกรณีการตัดสินคดี 'อากง' ส่ง SMS ชี้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่เป็นประชาธิปไตย แนะควรแก้ไขหรือยกเลิกการใช้กฎหมายดังกล่าว
สืบเนื่องจากกรณีการตัดสินคดีของอำพล (สงวนนามสกุล) ที่ถูกตัดสินจำคุก 20 ปีเนื่องในข้อหาละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) จึงได้ออกแถลงการณ์ว่าด้วยกรณีดังกล่าว โดยชี้ว่าการตัดสินดังกล่าวมีปัญหา เนื่องจากมีความคลุมเครือในการใช้พยานหลักฐาน ประกอบกับความไม่เป็นประชาธิปไตยของตัวบทกฎหมายของกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีหลักพิจารณาและมีโทษสูงเกินความจำเป็น สนนท. จึงได้เรียกร้องให้ทำการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าวด้วย
แถลงการณ์การตัดสินคดี ลุง sms มีความผิดหมิ่นสถาบันฯ จำคุก 20 ปี
วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ศาลเทเลคอนเฟอร์เรนซ์อ่านคำพิพากษานายอำพล(สงวนนามสกุล) หรืออากงฐานส่งข้อความทางโทรศัพท์หรือ SMS อันอาจเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และหมิ่นประมาทใส่ความให้ร้ายสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทั้งหมด 4 ครั้ง ผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) และ (3) ลงโทษกรรมละ 5 ปีรวมจำคุก 20 ปี
ซึ่งการตัดสินคดีดังกล่าวมีปัญหา 2 ประเด็น โดยในประเด็นแรกคือปัญหาในด้านการตัดสินของศาลและประเด็นสำคัญคือปัญหาของ ประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 โดยจะอธิบายอย่างชัดเจนดังต่อไปนี้
- ปัญหาในด้านการตัดสินของศาลที่มีความไม่ชัดเจนและยังคงคลุมเครือ ดั่งสำนวนส่วนหนึ่งในคำพิพากษาคดีที่ว่า "..แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบพยานให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ที่ ส่งข้อความตามฟ้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าว ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมเกียรติ แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบได้ด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของ ตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อชี้วัดให้ เห็นเจตนาที่อยู่ภายใน.." จากส่วนสำนวนคำตัดสินคดีข้างต้นดังกล่าวจะเห็นได้ว่าแม้แต่ศาลยังยอมรับเอง ว่าหลักฐานไม่เพียงพอ ซึ่งทุกคนล้วนรู้ดีว่าหลักพื้นฐานคดีอาญาคือการพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย ถ้าทำไม่ได้ต้องยกให้เป็นประโยชน์ของจำเลย แต่สิ่งที่ศาลได้กระทำคือการตัดสินคดีที่ไร้หลักฐานที่เพียงพอ เพียงเพราะมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือการจับขังนายอำพล แม้วิธีการจะไร้ซึ่งความชอบธรรมก็ตาม
- ส่วนปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เป็นตัวบทกฎหมายที่ใช้อ้างอิงสาระสำคัญหลักในคดีนี้จะพบว่าผิดทั้งที่มา และความชอบธรรม ด้วยด้านที่มากฏหมายมาตราดังกล่าวมิได้มีความยึดโยงกับประชาชนของรัฐแม้แต่ น้อยซึ่งผิดตามหลักนิติรัฐ-นิติธรรมดั่งอารยประเทศที่มีที่มาจากความเห็นชอบ ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่กลับมีฐานที่มาจากรัฐธรรมนูญเผด็จการรัฐประหารทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยแม้แต่น้อย ส่วนในด้านความชอบธรรมกฏหมายสองฉบับดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อปิดปากผู้ที่ คิดแตกต่างจากรัฐเท่านั้นซึ่งผิดตามหลักสิทธิเสรีภาพพลเมืองเท่าที่ควร
การวิจารณ์เป็นส่วนหนึ่งของหลักสิทธิเสรีภาพซึ่งตั้งอยู่บนหลักของ ประชาธิปไตย ซึ่งการวิจารณ์ดังกล่าวต้องตั้งอยู่โดยเจตนาสุจริต มิได้เป็นการโจมตีหรือใช้ความเท็จทำให้เสื่อมเสียย่อมไม่สมควรโดนตั้งข้อหา เหมือนอาชญากร แต่หากการวิจารณ์นั้นทำไปโดยการจงใจให้เสื่อมเสียโดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จ ก็สมควรได้รับโทษตามแบบโทษหมิ่นประมาททั่วไปไม่ใช่โทษอาชญากรเช่นเดียวกับ โทษของประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 ส่วนในด้านโทษของคดีดังกล่าวถือได้ว่าร้ายแรงเทียบเท่ากับคดีฆาตกรรมก็ว่า ได้ เนื่องด้วยโทษจำคุกมากถึง 20 ปี ถือกันว่าเอากันตายเลยทีเดียว และเพียงการส่งข้อความทางโทรศัพท์หรือ sms ดังกล่าว ใครอาจส่งก็ได้ เช่น เพื่อน พ่อแม่และคนอื่นๆ ดังนั้นแล้วความชัดเจนของการตัดสินที่ยังคงคลุมเครือ
จากการตัดสินคดีดังกล่าว เราในนามสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ขอคัดค้านและขอประนามการกระทำดังกล่าวที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพและหลักนิติรัฐ-นิติธรรม และมีข้อเสนอต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดังต่อไปนี้
- ควรมีการพิจารณาตัดสินคดีที่มีความชัดเจนและไร้คลุมเครือ เช่น หลักฐานที่ใช้ประกอบคำตัดสิน เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้กับคดีต่อไป เพราะจากคดีดังกล่าวที่มีความไม่ชัดเจนและคลุมเครืออันจะนำไปสู่บรรทัดฐาน ที่ผิดในทางตุลาการไทย
- จากโทษที่ใช้ในการตัดสินดังกล่าวเปรียบเสมือนดคีฆาตกรรมซึ่งมีความร้าย แรง ปรากฎจากศาลสั่งจำคุก 20 ปี ซึ่งเปรียบได้กับอีกครึ่งชีวิตที่ควรอยู่ ดังนั้นควรพิจารณาตัวบทกฏหมายใหม่และลดโทษในกฏหมายอื่นๆเพื่อเป็นแบบอย่าง ของประเทศที่เจริญในด้านการตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความศิวิไลซ์ของรัฐ
- ควรยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะเป็นมาตราที่มีปัญหาทั้งด้านที่มา ความชอบธรรม และการนำไปใช้ เพราะสามารถถูกนำไปใช้ทุกสถานการณ์ สามารถนำไปใช้กับศัตรูได้และการอ้างที่สามารถฟ้องโดยใครก็ได้ ทั้งที่หลักฐานประจักษ์พยานไม่เพียงพอก็สามารถฟ้องได้ สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้จากวงการตุลาการไทยเลยแม้แต่ น้อย
จากแถลงการณ์และข้อเสนอดังกล่าวจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้มีส่วนเกี่ยว ข้องคงตระหนักถึงความไม่สมบูรณ์ของวงการตุลาการซึ่งเป็นส่วนสำคัญในระบอบ ประชาธิปไตย และขอเป็นกำลังใจให้นายอำพลยืนหยัดสู้ต่อไป
ด้วยจิตคารวะ
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
24 พฤศจิกายน 2554