ที่มา ประชาไท
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติให้ลงนามใน อนุสัญญาการป้องกันบุคคลจากการบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) การลงนามในอนุสัญญาดังกล่าว จะมีผลผูกพันต่อรัฐบาลไทยที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่กำหนดไว้ในอนุสัญญา ซึ่งจะมีผลทำให้การบังคับคนให้สูญหาย (Enforced disappearance) เป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง ความคืบหน้าของรัฐบาลไทยที่มีต่อกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าจับตามาก โดยเฉพาะจากครอบครัวและญาติของเหยื่อรวมถึงองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งต่างก็หวังว่ากฎหมายดังกล่าวจะสามารถนำมาซึ่งความยุติธรรมได้ไม่มากก็ น้อย
การลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวของรัฐบาลไทย นับว่าเป็นฉบับที่ 8 ที่รัฐได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศของสหประชาชาติจากทั้งหมด 9 ฉบับ [1] โดยอนุสัญญาดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ ทำให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นอาชญากรรม ในขณะที่ก่อนหน้านี้ อาชญากรรมดังกล่าวไม่สามารถเอาผิดได้เลย เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายฉบับใดที่ทำให้การบังคับคนให้สูญหายเป็น อาชญากรรม ทำให้หลายกรณีผู้กระทำผิดจึงต้องเดินจากไปอย่างง่ายๆ ไร้มลทิน
ทั้งนี้ สหประชาชาติได้นิยาม “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” ว่า คือการทำให้บุคคลสูญเสียเสรีภาพไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใดหรือด้วยเหตุผลใดซึ่ง กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มคนที่กระทำโดยการได้รับคำสั่ง ได้รับการสนับสนุน หรือการยินยอมจากรัฐ และรวมทั้งการไม่เปิดเผยข้อมูลหรือการปฏิเสธในการรับรู้ถึงการสูญเสีย เสรีภาพ หรือการสูญหายของบุคคล หรือการปิดบังข้อมูลความจริงหรือสถานที่ของบุคคลผู้สูญหาย
เมื่อรัฐไทยได้ลงนามเพื่อแสดงความประสงค์เป็นภาคีในอนุสัญญา และให้สัตยาบันแล้ว นั่นหมายถึงรัฐไทยจำเป็นจะต้องผลักดันให้เกิดร่างกฏหมายภายในประเทศ หรือแก้ไขกฎหมายเดิมที่มีอยู่เพื่อป้องกัน ต่อต้าน และกำหนดบทลงโทษต่อการกระทำดังกล่าว
กรณีหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ คดีของทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานช่วยเหลือจำเลยจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเดือนมี.ค 2547 เขาถูกอุ้มหายไปในเวลากลางวันแสกๆ โดยชายนอกเครื่องแบบ และจนปัจจุบัน ผู้ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดบางส่วนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ กลับถูกปล่อยตัวไป ส่วนครอบครัวเขาก็ยังไม่ทราบชะตากรรมของทนายสมชายจนบัดนี้
ไม่ใช่มีเพียงคดีของทนายสมชาย นีละไพจิตรเท่านั้นที่เกิดขึ้น แต่ในประเทศไทยยังมีคดี ‘คนหาย’ หรือ ‘โดนอุ้ม’ เนื่องมาจากการใช้กฎหมายพิเศษในช่วงความรุนแรงทางการเมือง สถานการณ์ “ก่อการร้าย” และสงครามยาเสพติดอีกหลายคดีที่ยังคงไม่ได้รับความยุติธรรม
จากข้อมูลวิจัยของมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ในประเทศไทยมีคดีการบังคับคนให้สูญหายแล้วอย่างน้อย 70 คดี และมีจำนวน 54 คดี ที่ถูกส่งไปยังพิจารณาในคณะทำงานด้านการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยไม่สมัครใจ ของสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances: UN WGEID) ซึ่งมีหน้าที่ติดตามและสืบสวนคดีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
กลไกที่อำนวยความยุติธรรม
กาเบรียลา ซีโตนี ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนชาวอิตาลีและที่ปรึกษากลุ่มญาติคนหายในละตินอเมริกา กล่าวในงาน “รัฐบาลไทยกับพันธกิจในการคุ้มครองสิทธิประชาชนให้ปลอดจากการหายสาบสูญ” [2] ว่า เดิมที อนุสัญญาดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากการเรียกร้องของกลุ่มญาติผู้สูญหายใน ประเทศอาร์เจนตินาและโบลิเวียในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงระบอบการปกครองเผด็จการขวาจัด โดยอาร์เจนตินามีสถิติการบังคับคนให้สูญหายสูงถึงราว 30,000 คนในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 10 ปี
อย่างไรก็ตาม ประชาชนก็ไม่สามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ เนื่องจากยังไม่มีการบัญญัติโทษของอาชญากรรมที่เกิดจากการบังคับคนให้สูญหาย ในเวลานั้น ต่อมา กลุ่มญาติผู้สูญหายและองค์กรภาคประชาสังคม จึงเริ่มผลักดันให้เกิดคำนิยามของอาชญากรรมดังกล่าว และเจรจาต่อรองรัฐร่วมกับสหประชาชาติให้เกิดเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศได้ สำเร็จ
กาเบรียลากล่าวว่า ถึงแม้ว่าอาร์เจนตินาและประเทศอื่นๆ ในละตินอเมริกาจะมีสถิติการบังคับคนให้สูญหายสูงมาก และยังมีกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดถึงสองฉบับ แต่ด้วยการให้สัตยาบันในอนุสัญญาการป้องกันการบังคับบุคคลให้สูญหาย ทำให้ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เกิดการสร้างกลไกภายในประเทศที่สามารถนำตัวเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ที่เกี่ยว ข้องในการกระทำผิดมาพิจารณาคดีได้กว่าแสนคน มีการตัดสินจำคุกเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดถึง 30 ปี อีกทั้งยังมีการยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมด้วย
เธอชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศอาร์เจนตินาก่อนหน้านี้จะย่ำแย่มาก แต่เวลาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ประชาชนในประเทศก็สามารถต่อสู้ให้ได้มาความยุติธรรม ถึงแม้ว่าจะใช้เวลานานเพียงใดก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยมิลานกล่าวว่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยคนหายแล้ว แต่หากยังไม่มีการผลักดันกฎหมายในประเทศมาบังคับใช้ อนุสัญญาดังกล่าว ก็อาจเปรียบเสมือนกล่องเปล่าๆ ที่ไม่มีเนื้อหาอะไรข้างใน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นมากที่รัฐบาลจะต้องมีเจตจำนงค์ที่จริงใจต่อการผลักดันและ บังคับใช้กฎหมายในประเทศอย่างจริงจัง
ก้าวต่อไปประเทศไทย
ด้านปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้ที่มีส่วนร่วมร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการบังคับบุคคลให้สูญหายฉบับ ไทย ได้อธิบายว่า การแก้ไขหรือร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นหน้าที่ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพภายใต้กระทรวงการยุติธรรม ซึ่งต้องทำการแก้กฎหมาย หรือร่างเป็นพ.ร.บ. ใหม่ออกมา เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในอนุสัญญาป้องกันคนหายสากล
ปกป้องได้อธิบายว่า กฎหมายที่ร่างขึ้นใหม่ดังกล่าว จะประกอบไปด้วยบทบัญญัติที่ว่าด้วยสิทธิของเหยื่อและครอบครัวของเหยื่อในการ เข้าถึงข้อมูล การได้รับเงินชดเชยและการเยียวยาที่เหมาะสม รวมถึงมีบทลงโทษต่อผู้ที่กระทำผิด ซึ่งจะถูกพิจารณาว่าเป็นผู้กระทำอาชญากรรมที่ร้ายแรง และเมื่อพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านการพิจารณาจากกระทรวงยุติธรรมแล้ว ก็จะส่งผ่านไปยังฝ่ายนิติบัญญัติให้พิจารณาเพื่อตราร่างเป็นกฎหมายต่อไป
อาจารย์จากม. ธรรมศาสตร์ยังระบุว่า หากผลักดันร่างกฎหมายนี้สำเร็จ จะนับเป็นนิมิตหมายที่ดีของกระบวนยุติธรรมไทย เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้กระทำผิดในการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยถูกตรวจสอบและรับผิด เนื่องจากยังคงมีวัฒนธรรมการปล่อยให้คนผิดลอยนวลในสังคมไทย ทั้งในแง่ทัศนคติและตัวบทกฎหมาย
ต้องเปลี่ยนทั้งกฎหมายและทัศนคติ
อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ที่ผ่านมา ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่จำเป็นเสมอไปที่เมื่อรัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญานั้นแล้ว จะเป็นเครื่องมือรับประกันได้ว่าสถานการณ์สิทธิในประเด็นดังกล่าวจะดีขึ้น จริง ดังที่นักสิทธิมนุษยชนหล่ายคนได้แสดงความเห็นว่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยจะลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานไปแล้วในปี 2550 แต่การซ้อมทรมานยังคงเกิดอยู่อย่างแพร่หลายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนถึงปัจจุบัน
จอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า อีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นสิ่งสำคัญที่สังคมไทยจะสามารถยุติวัฒนกรรมการงดเว้น โทษ (Impunity) คือการสร้างความเข้าใจและทัศนคติที่ดีในหมู่ประชาชนว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษย ชน และความอันตรายของวัฒนธรรมการงดเว้นโทษ โดยเฉพาะสถานศึกษาและสื่อมวลชน ควรจะมีบทบาทที่ส่งเสริมความเข้าใจให้มากขึ้น
จอนยังชี้ว่า ผู้ปฏิบัติงานของรัฐ เช่นเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจ ก็จำเป็นจะต้องเปลี่ยนทัศนคติให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนด้วย ไม่ควรจะยึดติดกับชุดความคิด ‘รักชาติ’ เพียงอย่างเดียว เนื่องจากเป็นทัศนคติที่แคบและเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิของประชาชน
หมายเหตุ:
- ทั้ง 9 อนุสัญญาประกอบด้วย อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก, อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ, อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน, อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ, อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันการบังคับบุคคลให้สูญหาย และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบ ครัว
- งานเสวนาดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา ณ โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี โดยสมาพันธ์ต่อต้านการหายแห่งเอเชีย (Asian Federation against Disappearances) คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน โดยมีครอบครัวและญาติของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายจากประเทศต่างๆ ในเอเชียเข้าร่วมด้วย