ที่มา ประชาไท
คณบดีนิติศาสตร์ ม.สยาม ออกโรงแย้งโต้ ประชาชนเข้าชื่อขอแก้ไข ม.112 ไม่ได้ เพราะเข้าหมวด 2 พระมหากษัตริย์ รธน. ม. 163 ไม่เปิดช่องให้ทำได้ แนะการแก้ไข ม. 112 ต้องเสนอในรูปของ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 55 ที่ผ่านมาเว็บไซต์คมชัดลึกรายงาน ว่ากรณีการล่ารายชื่อประชาชน เพื่อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ซึ่งคณะนิติราษฎร์ อ้างว่า ม. 112 เป็นเรื่องเกี่ยวกับมาตรา 36 ในหมวด 3 ที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญปี 50 ที่บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกัน โดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ ม.112 กลับบัญญัติจำกัดสิทธิเสรีภาพในการคิด การเขียน ดังนั้น จึงสามารถเข้าชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ได้นั้น
นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ระบุว่า กรณี ม. 112 ไม่เหมือนกับการหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป หรือดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือหมิ่นศาล เพราะ ม.112 มุ่งคุ้มครองประมุขของรัฐ เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ และเกี่ยวกับมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ด้วย
"จึงไม่ใช่กรณีที่เข้าหมวด 3 อันว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนแต่เพียงอย่างเดียว แต่เข้าหมวด 2 ซึ่งเป็นหมวดพระมหากษัตริย์ด้วย ดังนั้น ประชาชนจึงไม่สามารถเข้าชื่อแก้ไขม.112 ได้ เนื่องจากมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด 3 ที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ เท่านั้น ไม่ได้เปิดช่องให้แก้ไขหมวด 2 ที่เป็นหมวดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์"
นายเจษฎ์ ยังระบุด้วยว่า การแก้ไข ม. 112 ต้องเสนอในรูปของ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา เป็น พ.ร.บ.