“คนจน...ความจน” คือประเด็นที่ กลุ่มเอ็นจีโอ นักวิชาการ ชาวบ้าน ที่มักจะอ้างว่า “เป็นตัวแทนภาคประชาชน” ใช้เคลื่อนไหว วิพากษ์ วิจารณ์นโยบายรัฐบาลให้แก้ปัญหาของ “ความจน และคนจน” และวิพากษ์วิจารณ์ ระบอบทุนนิยม นายทุน ว่าเป็นปิศาจทำให้คนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศยากจนลง มาเกือบทุกยุคทุกสมัย
กระทั่งปัจจุบันเอ็นจีโอ และนักวิชาการที่ตกกับดัก “ความจน” กลายไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการพันธมารที่ประดิษฐ์ถ้อยคำ “ทุนนิยมสามานย์” เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
แล้ว คนจนเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศจริงหรือ?
ดร.โสภณ พรโชคชัยประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ได้เขียนบทความชวนวิวาทะไว้ เกี่ยวกับความเข้าใจที่ “คลาดเคลื่อน” ชื่อ “คนจนในไทยมีเพียง 10%” ความดังนี้...
“คนจนคือชนกลุ่มน้อยนิดในประเทศไทย! จากข้อมูลของ CIA ระบุว่า ประเทศไทยมีคนจนอยู่เพียง 10% ของประชากรทั้งประเทศ แล้วทำไมบางคนยังเข้าใจว่าคนไทยส่วนใหญ่ยากจนอยู่อีก เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตอน คุณรสนา โตสิตระกูล ในฐานะนักการเมืองรุ่นใหม่ ตอบโต้กับคุณปลื้ม ก็ยังอ้างว่าประชาชนไทย 70% ยากจน เรามี “คนยากจน” หรือ “คนอยากจน” จำนวนมากกันแน่ คนที่มักวาดภาพว่าคนไทยส่วนใหญ่ยากจนนั้นเป็นเพราะความเข้าใจผิดหรือมีวาระซ่อนเร้นอะไร เรามักชอบเอาคนจนหรือความจนมาอ้างหรือไม่
*ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้
ข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งที่เชื่อถือได้ต่างระบุสอดคล้องกันว่าประชากรไทยที่ยากจนคืออยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนมีเพียง 9-10% โดยประมาณ แม้แต่เมื่อปี 2505 ประชากรไทยที่ถือว่ายากจนก็มีเพียงครึ่งหนึ่ง (57%) ไม่ใช่ 70% เช่นที่เข้าใจกัน และหลังจากนั้นประชากรที่ยากจนก็เป็นคนส่วนน้อยมาโดยตลอด
จากชุดข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุว่า ณ ปี 2549 จำนวนคนจนลดเหลือ 9.6% ของคนไทยทั้งประเทศ หรือ 6.1 ล้านคนจาก 63.4 ล้านคน ช่องว่างความยากจนก็ลดลง ความรุนแรงของปัญหาความยากจนก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในการลงทะเบียนคนจนในสมัยรัฐบาลทักษิณปรากฏว่ามีผู้ลงทะเบียน ถึง 8,258,435 คนหรือ 13.2% ทั้งนี้อาจเป็นเพราะรวม “คนอยากจน” เข้าไว้ด้วย แต่ก็ยังถือว่าคนเหล่านี้เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย
สำหรับรายละเอียดรายได้ต่อหัวของสภาพัฒน์ฯ พบว่า เส้นความยากจนในเขตกรุงเทพมหานครอยู่ที่รายได้ 2,020 บาทต่อหัวต่อเดือน หมายความว่าในครอบครัวที่หัวหน้าครอบครัวมีรายได้ประมาณ 8,000 บาทต่อเดือน หากต้องเลี้ยงคู่ครองที่ไม่มีรายได้และลูกอีก 2 คน ถือว่าเป็นคนยากจน แต่ถ้าเป็นในชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นความยากจนอยู่ที่ 1,215 บาท ที่กำหนดไว้ต่ำกว่าก็เพราะค่าครองชีพถูกกว่าและชาวชนบทยังสามารถหาผักปลาจากแหล่งธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้เงินอีกด้วย
*ประเทศไทยดีขึ้นกว่าแต่ก่อน
ที่ว่าคนไทยที่ยากจนมีเพียง 10% นั้น ไม่ใช่ไปตีความแบบศรีธนญชัยว่า 90% เป็นคนรวย นอกจากคนยากจนแล้ว ยังมี “คนเกือบจน” คือผู้ที่มีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจนไม่เกิน 20% อีก 8.2% แสดงว่าประชากรส่วนใหญ่ของไทยมากกว่า 80% ไม่ใช่คนยากจนอย่างแน่นอน และในอีกด้านหนึ่งประเทศไทยมี “คนจนมาก” หรือมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนเกินกว่า 20% แต่มีเพียง 3.8% เท่านั้น
การที่ประเทศไทยมีคนจนน้อยลงอย่างเด่นชัดก็เพราะได้พัฒนาจากประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรมแล้ว ในปี 2494 ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ถึง 38% มาจากภาคเกษตรกรรม แต่ในปี 2548 เหลือเพียง 10% ในขณะที่ GDP ภาคอุตสาหกรรมเติบโตจาก 14% เป็น 38% ในช่วงเวลาเดียวกัน สินค้าออกสำคัญในอดีตคือข้าว ยางพารา ไม้สัก แต่ทุกวันนี้ได้แก่ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เสื้อผ้า รถยนต์ เป็นต้น
อย่าง ไรก็ตามประชากรไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในชนบท ซึ่งต่างจากประเทศที่จนกว่าไทย เช่น ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง ทั้งนี้ มีเหตุผลที่ผู้คนมักไม่ทราบก็คือ ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศเกาะ ประชากรจึงมักต้องอยู่ในเขตเมืองท่า แต่ประเทศไทยมีผืนดินติดต่อกันเป็นป่าไม้อันอุดม จึงมีการบุกรุกถากถางป่ากันมากมาย ประมาณว่าหมู่บ้านชนบท 70,000 หมู่บ้าน ครึ่งหนึ่งเกิดเมื่อ 50 ปีหลังนี้เอง
เมื่อ 50 ปีก่อน แอปเปิ้ล 1 ผลราคา 5 บาท แต่ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 10 บาท ครัวเรือนใดมีโอกาสรับประทานทุเรียนหรือมีโทรทัศน์ถือว่าเป็นผู้มีฐานะ แต่เดี๋ยวนี้คนไทยมีกินมีใช้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน อัตราการฆ่าตัวตายที่หลายคนคิดว่าเพิ่มขึ้นก็กลับลดลง และอยู่ในอัตราต่ำกว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกเสียอีก โดยในปี 2549 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 5.7 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน เป็นตัวเลขที่ลดลงจากปี 2548 ที่ 6.3 คน ปี 2547 ที่ 6.9 คน และปี 2546 ที่ 7.1 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน และหากเปรียบเทียบกับทั่วโลก อัตราการฆ่าตัวตายของไทยจัดอยู่อันดับที่ 72 จาก 100 ประเทศ
*การวิเคราะห์เปรียบเทียบ
ในภูมิภาคอาเซียน ประเทศที่ถือว่าไม่มีคนยากจนก็คือบรูไนและสิงคโปร์ ส่วนมาเลเซียดีกว่าไทยคือมีคนยากจนเพียง 5.1% สำหรับประเทศที่มีคนยากจนถึงหนึ่งในสามก็คือกัมพูชา พม่า ลาวและฟิลิปปินส์ ในกรณีประเทศเวียดนามซึ่งเพิ่งสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2550 พบว่ามีคนยากจนเพียง 14.8% ดัง นั้นถ้าใครจะคิดว่าไทยมีคนจนมากกว่าเวียดนามก็คงต้องคิดใหม่ หรือถ้าคิดว่าคนไทยยากจนเป็นส่วนใหญ่ก็คงเข้าใจว่าเราแย่กว่ากัมพูชาหรือ พม่าเสียอีก
สำหรับกรณีชุมชนแออัดในเขตกรุงเทพมหานครนั้น ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยของคนยากจนเป็นส่วนใหญ่ เพราะสภาพัฒน์ ระบุว่า คนยากจนในกรุงเทพมหานครมีไม่ถึง 1% เท่า นั้น หรือต่ำกว่าหนึ่งในร้อย ดังนั้นหากพบใครในกรุงเทพมหานครบอกว่าตนเองยากจน แสดงว่าเขาพูดเล่น โกหกหรือพูดโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้จากการสำรวจยังพบว่า ในชุมชนแออัด ยังมีมือถือ โทรทัศน์ เครื่องเล่นซีดี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า กันเป็นส่วนใหญ่และมีจำนวนมากกว่า 1 หน่วยในครัวเรือนหนึ่งอีกด้วย
*ผลร้ายของความคลาดเคลื่อน
การ มีข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จะสร้างวิสัยทัศน์ที่สร้างสรรค์ได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักบริหารทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ก็ควรมีข้อมูลและความเชื่อที่ถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง การจงใจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนย่อมก่อความเสียหาย เช่น การที่ NGO บางแห่งเคยให้ข้อมูลที่เป็นเท็จอย่างร้ายแรงว่า ประเทศไทยมีโสเภณี 2 ล้านคน ทำให้พจนานุกรมลองแมน เคยให้คำจำกัดความของกรุงเทพมหานครว่าเป็นนครแห่งโสเภณีในปี 2536 จะสังเกตได้ว่านักเคลื่อนไหวทางสังคมมักพยายามโฆษณาว่าปัญหาที่ตนเกี่ยว ข้องอยู่มีขนาดใหญ่ ด้วยหวังให้สังคมให้ความสนใจ และให้ความช่วยเหลือ แต่น่าเสียดายที่ทุกคนก็ใช้วิธีเดียวกันจนเฝือ สังคมเลย “มึน” และกลับคิดว่าปัญหาทั้งหลายนั้นสุดแก้ไข กลายเป็นปัญหาโลกแตกไป
รัฐบาล ทักษิณที่ผ่านมา ก็ได้รับข้อมูลเท็จจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ชุมชนแออัดซึ่งเข้าใจว่าเป็นที่อยู่อาศัยของคนจนมีจำนวนมหาศาล โดยระบุว่าในประเทศไทยมีการบุกรุกที่ดินถึง 5,000 ชุมชน รวม 1.6 ล้านครอบครัว จนเกิดโครงการ “บ้านเอื้ออาทร” และ “บ้านมั่นคง” แต่ความจริง ความต้องการที่อยู่อาศัยมีน้อยมาก สิ่งที่สร้างขึ้นกลับกลายเป็นการ “เอื้ออาทร” ต่อผู้รับเหมาและผู้ร่วมทุนโครงการมากกว่า แทนที่จะสร้างบ้านตามความต้องการจริง กลับสร้างตามความต้องการลวง หรือสร้างเกินกว่าความต้องการจนขายไม่ออก
คนที่ดีใจถ้าประเทศไทยมีคนจนเพิ่มขึ้น ก็คงมีแต่พวก NGO ลักษณะ องค์กรนอกกฎหมายบางแห่งโดยเฉพาะที่รับเงินต่างชาติมาเคลื่อนไหวหรือทำ กิจกรรม เพราะจะได้มีงานทำไปเรื่อย ๆ ผมว่าเราต้องรักศักดิ์ศรีของชาติและของคนไทย ต้องพัฒนาประเทศให้คนไทยหายจน ถ้าเรามัวคิดว่าเรายากจนและติดกรอบคิดแบบคนยากจนอยู่เรื่อย เมื่อไรไทยเราจะลืมตาอ้าปากได้
คนไทยจนๆ เป็นคนส่วนน้อย โปรดอย่านำมาแอบอ้างหากิน”