นักวิชาการหยั่งท่าที ผบ.เหล่าทัพ รุมจวก “อนุพงษ์” จ้อผ่านสื่อฯ จั่วหัวกองทัพ “ปฏิวัติเงียบ” เพื่อกดดันรัฐบาล ระบุผิดหลักการประชาธิปไตย ย้ำไม่มีประเทศไหนในโลกทำกัน หวั่นประเทศไทยถอยหลังลงคลองซ้ำรอยรัฐประหารปาหี่เมื่อปี 49
ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองไทยที่กำลังวุ่นวาย จากกลุ่มคนที่ออกมาให้ร้ายรัฐบาล ขัดขวางการบริหารราชการแผ่นดินและทำตัวเย้ยกฎหมาย ทั้งยังปลุกระดมผู้คนผ่านกระบอกเสียงในมือนั้น เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายเริ่มวิตกกังวลว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะเริ่มมีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมชั่วดังกล่าวมากขึ้นทุกวัน และมีการรวมกลุ่มรวมตัว จนเป็นที่มาของข่าวลือว่าจะถูกนำเป็นข้ออ้างในการ...ปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน พฤติกรรมของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่วางตัวไม่เป็นกลาง ไม่เหมาะสมแก่บทบาทของตัวเอง อย่าง 5 นายพลที่ออกโทรทัศน์กดดันการทำงานของรัฐบาล
โดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ที่เคยมีท่าทีน่าชื่นชมในการออกมาย้ำตลอดเวลาว่าไม่คิดปฏิวัติ ก็ทำเอาประชาชนทั้งประเทศผิดหวัง และมีการนำเอาไปเปรียบเทียบกับท่าทีเมื่อคราวได้รับมอบหมายให้ดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ไม่สามารถแก้ปัญหา ไม่สามารถหยุดยั้งพวกทำผิดกฎหมายยึดสถานที่ราชการได้ แต่กลับมาทำเข้มกับรัฐบาลซึ่งมีที่มาถูกต้องตามวิถีทางประชาธิปไตย
จากข่าวลือปฏิวัติที่มีการรับลูกกันเป็นขบวนการ มีการปล่อยข่าวผ่านสื่อในเครือผู้จัดการ รวมไปถึงการออกโทรทัศน์ของผู้นำเหล่าทัพ ผ่านรายการของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ได้กลายเป็นประเด็นที่มีการติติง และวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
ต่อเรื่องดังกล่าว ผศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประชาชนจะรู้อะไรมากน้อยแค่ไหนก็มาจากสื่อ ตนเองก็ทราบข่าวสารเท่าที่ได้อ่านจากสื่อมวลชนป้อนมาเท่านั้น ไม่รู้ลึกขนาดว่าการที่สื่อผู้จัดการรายงานเรื่องการปฏิวัติจะมีมูลความจริงหรือไม่ แต่ก็ยอมรับว่ากระแสข่าวเรื่องการปฏิวัติค่อนข้างเสียงดังมากในตอนนี้
“หากมองข้ามข่าวลือเรื่องนี้ไป แต่เกิดเป็นเรื่องจริงขึ้นมา ผศ.ดร.นวลน้อย ย้ำว่าไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ ไม่ว่าจะครั้งไหนก็ตาม แม้บ้านเมืองขณะนี้มีความขัดแย้งอย่างมาก”
ส่วนกรณีที่มีนายทหารระดับผู้บัญชาการเหล่าทัพเรียงหน้ามาให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง ซึ่งสร้างกระแสให้สังคมว่าเป็นการปฏิวัติเงียบ กล่าวได้ว่า ไม่ใช่เรื่องปกติที่มีนายทหารออกมาแสดงท่าทีอย่างนี้ ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนทำกัน แต่ประเทศไทยก็มีข้อแตกต่างกันอยู่มากบนสถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลเองทำอะไรได้ก็ควรจะทำ ไม่น่าจะปล่อยให้ยืดเยื้อ
ทางด้าน รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้นำเหล่าทัพต่างก็ตระหนักดีว่าการยึดอำนาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่หากยึดอำนาจจะสร้างปัญหามากขึ้น จึงเกิดปรากฏการณ์รัฐประหารหน้าจอ
ไม่ใช่รูปแบบใหม่ เพียงแต่เป็นการกดดันรัฐบาลในที่เปิด จากสมัยก่อนกดดันโดยมองไม่เห็น ก็เปลี่ยนมากดดันกันตรงๆ ผ่านสื่อ เมื่อรัฐประหารยึดอำนาจไม่ได้ ผู้นำเหล่าทัพหันมาใช้แรงกดดันต่อรัฐบาล
เมื่อทหารยืนยันสัญญาผ่านหน้าจอขนาดนี้ว่าไม่ยึดอำนาจ และเสนอรูปแบบกดดันรัฐบาลไปแล้วก็คงไม่มีการเคลื่อนกำลังหรือเกิดความรุนแรง เพราะม็อบรุนแรงมากกว่าอยู่แล้ว ดังนั้นย่อมมีสัญญาณอีกด้านออกมา
“เดาท่าทีรัฐบาลไม่ออกว่าจะทำอย่างไร หรือถ้าไม่ทำอะไรแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ไม่มีใครตอบได้ชัดเจน ต้องรอดูหน้าจอเช่นกันว่าใครจะออกทีวี ออกมาพูดว่าอย่างไร เพราะต่างฝ่ายต่างอาศัยสื่อเป็นตัวกลางในการรับส่งสัญญาณการเมืองขณะนี้ ดูแล้วเหมือนการเมืองอเมริกันที่มีการดีเบตกัน” อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ระบุ