WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, October 23, 2008

ความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์กับการบ่อนทำลายความมั่นคงทางการเมือง (จบ)


โดย รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

1.สภาวะความแตกต่างหลากหลายทางความคิด อุดมการณ์ และผลประโยชน์ปัจเจกของผู้มีเชื้อสายราชนิกูลสายสกุลต่างๆ ไม่ใช่สภาวะเดียวกับสภาวะความเป็น “สถาบัน” ของพระมหากษัตริย์ไทย

สถาบันพระมหากษัตริย์มีปัจเจกบุคคล พระองค์ และท่านต่างๆ เป็นสมาชิกที่มีการจัดโครงสร้างสถานภาพและบทบาทหน้าที่ต่างๆ ทั้งอย่างเป็นทางการเชื่อมโยงกับระบบกฎหมาย และอย่างไม่เป็นทางการเชื่อมโยงกับจารีตปฏิบัติในสังคมไทยปัจจุบัน

ภาวะปัจเจกของบุคคลต่างๆ ที่เป็นสมาชิกในเครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์ท่ามกลางความซับซ้อนของสังคมสมัยใหม่ ทำให้การดำเนินวิถีชีวิต อาชีพการงาน เครือข่ายความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ความคิดและอุดมคติทางสังคมของผู้มีเชื้อสายราชนิกูลแต่ละท่าน (แม้แต่ในครอบครัวเดียวกัน) มีความหลากหลายผันแปรแตกต่าง และไม่จำเป็นต้องดำเนินไปในทิศทางเดียวกันหรือเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด แม้ว่าประชาชนจำนวนมากอาจคาดหวังกันไปเอง (ด้วยความคิดที่ต้องการความสมบูรณ์แบบเชิงอุดมคติแต่มองข้ามความจริงทางสังคม) ว่าแนวทางการดำเนินชีวิต รวมทั้งความคิดทางการเมืองและการแสดงออกของสมาชิกราชนิกูลในสถาบันกษัตริย์ควรจะต้องเป็นแบบอย่างเดียวกัน คือ แบบอย่างองค์พระประมุขของปวงชนชาวไทย

เราสามารถมองเห็นการแสดงออกที่แตกต่างกันของบุคคล พระองค์ และท่านต่างๆ ในเครือข่ายสังคมสถาบันได้ตลอดเวลาว่ามีความหลากหลาย สอดคล้องกันบ้าง หรืออาจมีนัยให้ตีความว่าขัดแย้งกันเองบ้าง แต่ความหลากหลายในรายละเอียดการแสดงออกที่แตกต่างกัน สอดคล้องกันบ้าง หรือมีนัยให้ตีความว่าขัดแย้งกันบ้างดังกล่าวนั่นเอง ที่เป็น “ข้อเท็จจริง” ยืนยันว่าองค์รวมของ “สถาบันพระมหากษัตริย์” ไม่ได้ลำเอียง เลือกข้างหรือเข้าข้างพสกนิกรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือรังเกียจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง พสกนิกรชาวไทยที่ขัดแย้งกันต่างหากที่มักเป็นผู้ “เลือกข้าง” คือเข้าข้างฝ่ายหนึ่งและรังเกียจอีกฝ่ายหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง พสกนิกรเหล่านี้อาจจำเป็นต้องเรียนรู้ความหมายของ “ความเป็นกลางทางการเมือง” (โดยไม่จำเป็นต้องสูญเสียอุดมคติทางการเมืองที่ถูกต้องชอบธรรม) และอาจต้องฝึกฝนพัฒนา “ความใจกว้าง” ทางความคิดของตนมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน (ผู้เขียนสังเกตว่าประชาชนผู้สนับสนุนพันธมิตรฯ จำนวนมากโกรธเมื่อได้ทราบข่าวการพระราชทานคำสัมภาษณ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ขณะเดียวกันผู้สนับสนุนรัฐบาลและ นปช. จำนวนมากก็โกรธที่ได้ทราบข่าวพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพผู้เสียชีวิตฝ่ายพันธมิตรฯ เป็นต้น)

ไม่เพียงเฉพาะข้อเท็จจริงระดับสูงสุดภายในราชวงศ์เท่านั้นที่แสดงความหลากหลายตามธรรมชาติทางสังคม ท่ามกลางความซับซ้อนของสังคมสมัยใหม่ (เช่น องค์พระประมุขไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเสนอขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 รัฐธรรมนูญ 2540 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรง วันที่ 7 ตุลาคม 2551 และทรงพระราชทานเงินช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทั้งฝ่ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงประทานคำสัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับการกระทำของพันธมิตรฯ) ข้อเท็จจริงจากการแสดงออกทางการเมือง ความคิด รวมทั้งการดำเนินชีวิต การงาน เครือข่ายความสัมพันธ์ส่วนบุคคลและรสนิยมทางสังคมวัฒนธรรมของผู้มีเชื้อสายราชนิกูลสายสกุลต่างๆ ในสังคมสมัยใหม่เช่นปัจจุบันก็แสดงความหลากหลายแตกต่างกันบ้าง ขัดแย้งกันเองบ้าง และสอดคล้องกันบ้างตามภาวะธรรมชาติทางสังคมและภูมิหลังประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล และประวัติศาสตร์ครัวเรือนของแต่ละท่าน หรือแต่ละพระองค์
หากเราไม่ใช้ความลำเอียงส่วนตัวของตนเองปกปิดความจริงอีกด้านหนึ่ง หรือปฏิเสธไม่ยอมรับรู้ความจริงอีกด้านหนึ่ง เราจะมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นในข้อเท็จจริงว่า แม้แต่ในแวดวงผู้มีเชื้อสายราชนิกูลลำดับรองลงมาก็มีทั้งท่านที่ไปร่วมสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ และท่านที่สนับสนุนรัฐบาลและ/หรือ นปช. เป็นต้น

2.ความสำคัญของ“ความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์”ต่อสังคมไทยปัจจุบันและอนาคต
ถ้าหากเรามองเห็นและ “เข้าใจ” ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับภาวะหลากหลายแตกต่างของบุคคลขั้นปัจเจกที่ผสมผสานรวมกันเป็นภาวะ “ความเป็นกลาง” ของสถาบันพระมหากษัตริย์ท่ามกลางวิกฤติความขัดแย้งการเมืองในปัจจุบัน และถ้าเรามีความมั่นใจในหลักการสำคัญว่าสถาบันกษัตริย์มีสถานะองค์รวมสูงสุดที่ปวงชนชาวไทย (เจ้าของอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจการเมือง) ต้องร่วมกันพิทักษ์รักษาปกป้องมิให้ถูกทำลายหรือถูกแทนที่โดยระบบการเมืองใหม่ที่มิใช่ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เรายิ่งต้องมี “สติ” ประกอบ “ปัญญา” ไตร่ตรองวินิจฉัยโดยไม่ด่วนสรุปคล้อยตามไปกับกระแสข่าวลือ ข่าวปลุกปั่นยุยงความโกรธชัง ความตื่นกลัว หรือแม้แต่ความท้อถอย วางตนนิ่งดูดายในสถานการณ์ความขัดแย้งถึงที่สุดที่ล่อแหลมต่อการลุกลาม ทำลาย รื้อ ล้างโครงสร้างสถาบันสังคมของไทยแทบทุกส่วนเช่นในภาวการณ์ปัจจุบัน

ถ้าหากปวงชนชาวไทยเชื่อมั่นกันอย่างจริงจังว่า “ระบอบประชาธิปไตย” เป็นระบบการเมืองที่อำนวยประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวมอย่างเป็นธรรมกว่าระบอบเผด็จการทหาร เผด็จการกรรมาชีพ เผด็จการอภิชนาธิปไตย หรือระบอบคณาธิปไตยรูปแบบต่างๆ ฯลฯ ปวงชนชาวไทยเหล่านี้ควรต้องทำความกระจ่างกับตนเองและเครือญาติ มิตรสหาย ด้วยว่าสถาบันกษัตริย์ของไทยในปัจจุบันก็มีความเชื่อมั่นอย่างเดียวกับปวงชนชาวไทย ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสและทรงงานในแนวทางหลักการประชาธิปไตยให้ปรากฏชัดเจนหลายครั้ง สถาบันกษัตริย์ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ดำเนินผ่านประสบการณ์ทางการเมืองภายใต้การใช้อำนาจกดทับของระบอบคณาธิปไตยโดยอำมาตย์และเผด็จการทหารอย่างยาวนาน รวมทั้งการจับกุมคุมขังปราบปรามสมาชิกราชนิกูลโดยกองทัพอำมาตยาธิปไตยครั้งใหญ่ในปี 2476 (กรณีที่ตำราอำมาตยาธิปไตยสายวิชาการธรรมศาสตร์และการเมือง หลัง พ.ศ.2477 เรียกว่า “กบฏบวรเดช”) ประสบการณ์ภายใต้ “ระบอบเผด็จการ” (เช่น กรณีระบอบเผด็จการจอมพลถนอม) เปรียบเทียบกับประสบการณ์ภายใต้ “ระบอบประชาธิปไตย” (เช่น กรณีที่ตำราคณาธิปไตยสายวิชาการธรรมศาสตร์สมัยใหม่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ”) ทำให้ประชาชนที่มีชีวิตผ่านระบอบทั้งสองสามารถประเมินได้ด้วยตนเองว่า ต้องการดำรงชีวิตของตนอยู่ในระบอบการเมืองแบบใด (นี่อาจเป็นมูลเหตุจูงใจสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมกับ นปก. และ นปช. จำนวนมากเป็นผู้มีอายุเกิน 50 ปี ที่เคยผ่านการรับรู้ประสบการณ์ภายใต้ระบอบจอมพลถนอมมาก่อนระบอบทักษิณ)

การเรียนรู้ประสบการณ์เปรียบเทียบระหว่างการดำรงชีวิตอยู่ใน “ระบอบจอมพลถนอม” กับ “ระบอบทักษิณ” ดังกล่าว น่าจะทำให้ปวงชนชาวไทยกับสถาบันกษัตริย์ไทยสมัยใหม่ได้บทสรุปความคิดสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ระบอบประชาธิปไตยมีคุณค่าต่อตนเองสูงกว่าระบอบเผด็จการ ถ้าเป็นเช่นนั้น ปวงชนชาวไทยที่ต้องการ “ระบอบประชาธิปไตย” ก็คือแนวร่วมทางการเมืองของ “สถาบันกษัตริย์” ในสังคมไทยสมัยใหม่ที่ไม่ต้องการถูกกดทับโดยอำนาจของระบอบอื่น หรือการเมืองรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ในฐานะทรงเป็น “ประมุขของปวงชนชาวไทยตามระบอบประชาธิปไตย” จึงเป็นความมั่นคงของปวงชนชาวไทยที่ต้องการรักษาหรือสร้างสรรค์ “ระบอบประชาธิปไตย” ด้วยเช่นกัน

หากยอมรับความเป็นไปได้ตามข้อสังเกตจากการวิเคราะห์ข้างต้น ปวงชนชาวไทยที่เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยสามารถอำนวยประโยชน์และความเป็นธรรมแก่ตนเองได้มากกว่าระบอบการเมืองอื่น หรือ “ระบอบการเมืองใหม่” ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ก็อาจต้องใช้ “สติ” ประกอบ “ปัญญา” ไตร่ตรองกันอย่างระมัดระวังรอบคอบมากยิ่งกว่าเดิมว่า ตนเองควรหรือไม่ควรตั้งข้อรังเกียจ ตั้งข้อปฏิเสธ ตั้งประเด็นนินทากล่าวหาว่าร้าย หรือชักชวนกันละทิ้งความเชื่อมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ (ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความละทิ้งเชิงสัญลักษณ์ เช่น ละทิ้งพระบรมฉายาลักษณ์ หรือการแสดงออกด้วยวาจาและการกระทำอย่างท้าทายต่อต้าน) เพราะการละทิ้งดังกล่าวทั้งในเชิงสัญลักษณ์และการปฏิบัติต่างๆ ล้วนมีผลในทิศทางเดียวกันคือ การแยก “ปวงชนชาวไทย” ออกจาก “สถาบันกษัตริย์” ในการเมืองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ที่ท่องกันขึ้นใจทั่วทั้งประเทศเรียบร้อยแล้ว) การแยกปวงชนชาวไทยออกจากสถาบันกษัตริย์ หรือการแยกสถาบันกษัตริย์ออกจากปวงชนชาวไทย คือความหวังอันสูงสุดของกลุ่มผู้พยายามก่อตั้ง “ระบอบการเมืองใหม่” ที่คณะของตนสามารถควบคุมและส่งคนเข้าไปใช้อำนาจเป็นประโยชน์เพื่อคณะของตน แทนที่ระบอบประชาธิปไตยของปวงชนชาวไทย กลุ่มแกนนำมวลชน (เช่น บางกลุ่มที่แทรกตัวแฝงเร้นอยู่หลังเวที นปช. และหลายกลุ่มที่แทรกตัวอยู่ในคณะ “นักรบ” ของพันธมิตรฯ) ที่ดำเนินความพยายามชักชวนปลุกเร้ากันในแต่ละฝ่ายให้แสดงการละทิ้งสถาบันข้างต้นดังกล่าว น่าจะเป็นทั้ง “แนวร่วมสายตรง” และ “แนวร่วมมุมกลับ” ของกลุ่มผู้วางแผนดำเนินกลยุทธ์แบ่งแยกแล้วปกครอง ซึ่งในกรณีที่ว่านี้เป็นการแบ่งแยกปวงชนชาวไทยออกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหวังผลในการปกครองทั้งประชาชนและสถาบันกษัตริย์ที่จะถูกกดทับจากอำนาจคณาธิปไตยต่อไป เหมือนกรณีที่ต้นตำรับอำมาตยาธิปไตยคณะแรกของไทยเคยกระทำได้สำเร็จหลังเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เป็นต้น

หากกลยุทธ์ “แบ่งแยก” ประชาชนออกจากความเชื่อมั่นในสถาบันกษัตริย์ดังกล่าวประสบผลสุกงอมทางการเมืองเพียงพอในสายตานักดำเนินกลยุทธ์ที่อยู่เบื้องหลังวิกฤติความขัดแย้งปัจจุบัน การรัฐประหารครั้งใหม่ย่อมมีความเป็นไปได้ทั้งในทางปฏิบัติและในโครงสร้างความคิดความต้องการอำนาจสูงสุดของกลุ่มนักนิยมคณาธิปไตยสมัยใหม่ของไทย ซึ่งปรากฏตัวตนออกมาจากแวดวงวิชาชีพวิชาการชั้นสูงหลายประเภท ผสมปนเปกับผู้นำและอดีตผู้นำระดับสูงในระบอบราชการประจำทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน
3.ความสำคัญของอำนาจปวงชนชาวไทย และ “กระบวนการประชาภิวัตน์แท้” ต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

ความขัดแย้งทางการเมืองและการดำเนินกลยุทธ์ปฏิเสธ ดื้อแพ่ง ละเมิดกฎหมายของกลุ่มพันธมิตรฯ ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่าย (รวมทั้งผู้วิเคราะห์เอง) คาดว่าโอกาสที่เป็นจริงในการเจรจายุติความขัดแย้งอย่างสมานฉันท์เพื่อร่วมกันสร้างชาติต่อไปโดยยึดถือระบอบประชาธิปไตย คงเป็นโอกาสที่ลดลงทุกขณะและเหลืออยู่น้อยที่สุดในปัจจุบัน

ถ้าหากการเจรจาสมานฉันท์ภายใต้ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่ความต้องการของกลุ่มพันธมิตรฯ และผู้บงการวางแผนกลยุทธ์ที่อยู่เบื้องหลังพันธมิตรฯ (ซึ่งประกาศความมุ่งหมายจะนำ “การเมืองใหม่” มาใช้แทนที่) ปวงชนชาวไทยผู้เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่แยกตัวออกไปจากสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นประมุข ก็แทบไม่เหลือทางเลือกมากนักในการสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในอนาคต

ทางเลือกที่ถูกบีบรัดให้จำกัดน้อยลงนั้นทางหนึ่ง (ซึ่งยังคงเป็นวิถีทางประชาธิปไตย) คือการเตรียมความพร้อมในการแสดงพลัง “ประชาภิวัตน์แท้” ต่อสู้ตอบโต้กับขบวนการ “ประชาภิวัตน์เทียม” (มวลชนดื้อแพ่ง ฝูงชนละเมิดกฎหมายรวมหมู่ การแอบอิงสืบทอดอำนาจเผด็จการเพื่อใช้อำนาจจากตำแหน่งในองค์กรการเมืองตามรัฐธรรมนูญแบบเลือกปฏิบัติ ขัดหลักนิติธรรม ฯลฯ)

การเตรียมความพร้อม รวมทั้งความตั้งใจจริงในการสร้างพลัง “ประชาภิวัตน์แท้” เพื่อต่อสู้ตอบโต้กับการบิดเบือนทางการเมืองต่างๆ นานา ที่ปรากฏท่ามกลางวิกฤติความขัดแย้งตลอดเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา สามารถจะเป็น “อาวุธทางการเมือง” ที่มิใช่อาวุธสังหารของระบอบเผด็จการ แต่จะมีพลานุภาพในการช่วยเหลือเกื้อหนุนพลังทางสังคมและพลังทางการเมืองส่วนอื่นๆ ในการร่วมพิทักษ์รักษาทั้ง “ระบอบประชาธิปไตย” และ “สถาบันพระมหากษัตริย์” ให้ดำรงอยู่คู่กันอย่างมีคุณค่าเท่าเทียมกันในการเมืองไทยและสังคมการเมืองโลกต่อไปในระยะยาว