หนังสือเล่มต่อมาคือ นิราศหนองคาย ของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งเเรกเมื่อ พ.ศ.2421 แต่ก็ถูกเผาเสียหลังจากพิมพ์ออกมาได้ไม่นาน และมีการพิมพ์อีกครั้งในปี พ.ศ.2498 โดยผู้แต่งก็ถูกลงโทษด้วยการโบย 50 ที และจำคุกอีก 8 เดือน หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งที่สามเมื่อปี พ.ศ.2544 หนังสือนิราศหนองคายของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี จัดเป็นหนังสือ 1 ใน 100 ที่คนไทยควรอ่าน
หนังสือเล่มต่อมาคือ โฉมหน้าศักดินาไทย ของ จิตร ภูมิศักดิ์ หนังสือเล่มนี้คงไม่ต้องกล่าวถึงให้มากความ เพราะเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ปัญญาชนไทยมากที่สุดเล่มหนึ่ง มีการพิมพ์ซ้ำกันหลายครั้ง ระยะหลังมีการเผยแพร่เนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนี้ให้เป็นที่เผยแพร่ในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับประชาชนคนทั่วไป และคงไม่มีช่วงเวลาใดที่เหมาะสมไปกว่าช่วงเวลานี้อีกแล้วที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้
หนังสือต่อไปคือ เทียนวรรณ แต่งโดย คุณสงบ สุริยินทร์ แม้หนังสือเล่มนี้จะมิได้เป็นหนังสือต้องห้ามก็ตาม2 แต่ก็เป็นหนังสือที่น่าอ่านมาก เทียนวรรณนั้นเป็นนามปากกาของ ต.ว.ส. วรรณาโภ เป็นผู้ได้รับฉายาว่า “บุรุษรัตนของสามัญชน” ผู้เกิดในสมัยรัชกาลที่ 3 และมีชีวิตเรื่อยมาจนถึงสมัยของรัชกาลที่ 6 ในหนังสือเล่มนี้ได้บรรยายถึงชีวประวัติและผลงานที่คัดสรรของเทียนวรรณ ซึ่งปัจจุบันหาอ่านได้ยากยิ่ง เทียนวรรณนั้นเป็นทั้งนักหนังสือพิมพ์ นักกฎหมาย เทียนวรรณกล้าวิจารณ์สภาพสังคมในเวลานั้นอย่างตรงไปตรงมา เทียนวรรณเคยวิจารณ์ระบบทาส เจ้านาย ศาล ประเพณีที่คร่ำครึ ฯลฯ เทียนวรรณวิจารณ์หมด ทั้งๆ ที่ในยุคนั้นเป็นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงไม่แปลกใจที่เทียนวรรณถูกจำคุกร่วม 18 ปี ที่น่าสนใจก็คือ ตอนเทียนวรรณออกจากคุกมีคนพูดเชิงสมน้ำหน้าเทียนวรรณว่า “แกมันชิงสุกก่อนห่าม”
ปัญญาชนสยามทั้ง 3 ท่าน คือ เทียนวรรณ ส.ธรรมยศ เเละ จิตร ภูมิศักดิ์ ล้วนแล้วแต่ใช้สติปัญญาผ่านคมปากกาวิพากษ์วิจารณ์ผู้ปกครองและสภาพสังคมไทยในขณะนั้น โดยบุคลิกที่คล้ายกันของทั้ง 3 ท่านคือ การใช้ภาษาที่ดุดัน ตรงไปตรงมาแกมประชดเสียดสี ซึ่งย่อมสร้างความขุ่นเคืองให้กับกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย
ข้อสังเกตของวาทกรรมการชิงสุกก่อนห่าม
หลังจากที่เทียนวรรณออกมาจากเรือนจำ ก็มีคนตำหนิหรือด่าเทียนวรรณว่า ชิงสุกก่อนห่าม วาทกรรมชิงสุกก่อนห่ามเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อคณะราษฎรได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute monarchy) มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional monarchy) นั้นก็ถูกวิจารณ์ในภายหลังว่าเป็นการชิงสุกก่อนห่าม เนื่องจากรัชกาลที่ 7 กำลังพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนอยู่แล้ว ผมเองไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ไม่ทราบว่าหลังจากที่มีการก่อกบฏ ร.ศ.103 ในสมัยรัชกาลที่ 6 นั้นมีการอธิบายความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้นด้วยการกล่าวว่าเป็นการชิงสุกก่อนห่ามหรือไม่
จะเห็นว่าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านในอดีตจนถึงปัจจุบัน หากมีปัญหาเกี่ยวกับการเมืองไทยในด้านต่างๆ เช่น การเลือกตั้ง การได้มาซึ่งรัฐมนตรี ปัญหาการทุจริตของนักการเมือง ฯลฯ ชุดคำอธิบายหนึ่งก็คือความพยายามที่จะอธิบายหรือโน้มน้าวให้กับประชาชนว่า “ประเทศไทยไม่เหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก” “ประเทศไทยมีเอกลักษณ์ ประเพณี ประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนชาติใด ซึ่งมีนัยว่าเพราะฉะนั้นไทยควรมีระบอบการปกครองแบบไทยๆ” หรือ “คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีการศึกษา ดังนั้นจึงไม่มีวิจารณญาณพอที่จะเลือกผู้แทน ซึ่งมีนัยว่าสมควรให้กลุ่มบุคคลหนึ่งมาทำหน้าที่นี้แทน”3 ฯลฯ
ชุดคำอธิบายทำนองนี้กำลังถูกนำเสนอตอกย้ำมากขึ้นทุกทีๆ หากจะสรุปสั้นๆ ก็คือว่า สังคมไทยอย่าเพิ่งชิงสุกก่อนห่ามที่จะเป็นประชาธิปไตยแบบนานาอารยประเทศ เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม ตอนนี้เอา “การเมืองใหม่” ไปก่อน หากทวยราษฎร์มีการศึกษา ความเป็นอยู่ดีขึ้นมากกว่านี้ ก็ค่อยมาพูดเรื่อง ปาลิเมนต์ และก่อนที่จะนำไปสู่การเมืองใหม่ น่าจะจัดให้มีการทดลองหรือจำลองให้คนไทยรู้จักประชาธิปไตยโดยการสร้างเมืองคล้ายกับ “ดุสิตธานี” อย่างที่รัชกาลที่ 6 ทรงจัดให้มีการทดลองเกี่ยวกับการปกครองในระดับท้องถิ่น ในครั้งนี้น่าจะจัดให้มีเมือง “มัฆวานฯ” เพื่อให้ทวยราษฎร์ไทยมีความเข้าใจ “การเมืองใหม่” อย่างถ่องแท้เสียก่อน มิฉะนั้นการปฏิรูปการเมืองไทยคงล้มเหลวอีกเช่นเคย
บทส่งท้าย
ใครก็ตามที่เบื่อเรื่อง “การชุมนุมแบบนันสต๊อป” และ “การเมืองใหม่” จะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์โดยการอ่านหนังสือที่แนะนำเป็นการลับสมอง เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคตก็จะดีไม่น้อย ยิ่งหากอ่านควบคู่ไปกับ “แถลงการณ์ของคณะราษฎร” ก็จะได้อรรถรสดีนักแล แล้วจะรู้ว่าหากเปรียบเทียบกับแนวคิดของเทียนวรรณก็ดี ข้อวิจารณ์ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ดี แนวคิดเรื่องการเมืองใหม่นั้นกลายเป็นของคร่ำครึไปเลย หากเทียนวรรณยังมีชีวิตอยู่ในเวลานี้ ท่านคงนึกประหลาดใจอย่างยิ่งว่า เวลาผ่านไปร่วมร้อยปี แต่ความคิดหรืออุดมการณ์การเมืองไทยกำลังจะย้อนกลับไปสู่ยุคที่ท่านเทียนวรรณยังมีชีวิตอยู่ ผมไม่แน่ใจว่ากลุ่มพันธมิตรฯ “เกิดช้าไป” (คือน่าจะเกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือรัชกาลที่ 6) หรือพวกสนับสนุนประชาธิปไตย “เกิดเร็วไป” กันแน่ ถ้าคราวนี้เกิดรัฐประหารหรือมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลคุณสมชาย และจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติสำเร็จ โดยฝ่ายประชาธิปไตยพ่ายแพ้ และมีการยัดเยียดเรื่องการเมืองใหม่ไว้ในรัฐธรรมนูญสำเร็จ เห็นทีผมคงต้องพูดกับบรรดาผู้รักประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการว่า “พวกเเกมันชิงสุกก่อนห่าม”
1 ในการพิมพ์ครั้งที่สองโดยสำนักพิมพ์มติชนนี้ ปรากฏว่ามีการเก็บหนังสือมิให้มีการจำหน่ายอีกต่อไป ดังนั้นหากใครก็ตามอยากอ่านหนังสือเล่มนี้คงต้องรีบซื้อเก็บไว้
2 ผมไม่เเน่ใจว่าผลงานของเทียนวรรณเองเป็นหนังสือต้องห้ามในยุคหลังๆ หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น “ศิริพจนภาค” มีทั้งหมด 12 เล่ม เป็นการรวมผลงานของเทียนวรรณที่เขียนขึ้นก่อนถูกจำคุก และระหว่างถูกจำคุก และ “ตุลยวิภาค”
3 การสรรหาหรือแต่งตั้ง ส.ว. ชุดปัจจุบัน เป็นการสะท้อนแนวคิดนี้อย่างชัดเจนที่สุด