ที่มา ประชาทรรศน์
คนไทยอ่วม! รัฐบาลจ่อกู้เงินสถาบันการเงินต่างประเทศ 7 หมื่นล้าน หลังตั้งงบประมาณขาดทุนหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ เตรียมชงเข้าครม.เห็นชอบวันนี้ พร้อมยืนยันรัฐบาลไม่ได้ถังแตก ขณะที่นักวิชาการเรียงหน้าค้าน หวั่นคนไทยหนี้ท่วมหัวซ้ำรอยกู้เงินไอเอ็มเอฟ
ในที่สุดสิ่งที่หลายฝ่ายวิตกก็เป็นความจริง เมื่อรัฐบาลได้แบไต๋ว่าจะต้องมีการกู้เงินจากต่างประเทศเป็นเงินถึง 7 หมื่นล่านบาท เพื่อมาใช้ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการตั้งงบประมาณไว้กว่าแสนล้านทั้งๆ ที่ไม่มีตัวเงินอยู่ในมือ
จ่อกู้เงินนอก7หมื่นล้าน
นายกรณ์ จาติกวณิชย์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอเงินสำรองต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 3 ก.พ. นี้ โดยจะเป็นการกู้เงินจากต่างประเทศ จำนวน 70,000 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นเพียงการขอวงเงินในการกู้ยืมจากเวิลด์แบงก์ ไจก้า และเอดีบี ซึ่งหากยังไม่มีการเบิกเงินในส่วนดังกล่าว รัฐบาลยังคงไม่ต้องเสียดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามในส่วนนี้เป็นมาตรการสำรองฉุกเฉินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องทั้งหมดจะนำเสนอต่อรัฐสภาต่อไปตามข้อกฎหมาย
ทั้งนี้ ยังเตรียมขอเสนอเพิ่มทุนให้ธนาคารของรัฐอีก 3 แห่ง ทั้งธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และบรรษัทบริหารสินทรัพย์ขนาดกลางและขนาดย่อมอีกด้วย
ส่วนกรณีที่เงินคงคลังรัฐบาลลดลงจาก 200,000 ล้านบาท เหลือประมาณ 50,000 ล้านบาท ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าคลังจะมีเงินไม่พอจ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการว่า นายกรณ์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าเงินคงคลังที่ลดลงไม่ได้สร้างปัญหาให้กับการจ่ายเงินให้กับข้าราชการ และกระทรวงการคลังก็ไม่ได้ถังแตก รัฐบาลมีเงินจ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการแน่นอน และเงินคงคลังในระดับปัจจุบันมีความเหมาะสมดีอยู่ระดับปกติ ยืนยันว่าเงินคงคลังจะไม่มีการติดลบและจะไม่มีผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
อ้างตั้งงบขาดดุลจำเป็นต้องกู้
นายกรณ์ กล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลตั้งงบประมาณปี 2552 แบบขาดดุล หมายความว่ารายจ่ายจะสูงกว่ารายได้ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐจะไปกู้ยืมเงินจากส่วนต่าง ๆ มาชดเชย ซึ่งการที่รัฐบาลถือเงินคงคลังไว้มากเกินไปก็ไม่เป็นผลดี เพราะเงินทุกบาทที่กระทรวงการคลังถือไว้มีต้นทุนและมีภาระดอกเบี้ย ดังนั้น กระทรวงการคลังต้องบริหารจัดการเงินคงคลังให้มีประสิทธิภาพไม่สร้างปัญหาต่อระบบการเบิกจ่าย ไม่ควรมีเงินคงคลังมากเกินความจำเป็นโดยในเดือนพฤษภาคมรัฐบาลจะมีรายได้ภาษีนิติบุคคลเพิ่ม และภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล
“ย้ำว่าการติดลบของงบประมาณไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะงบประมาณปี 2552 เป็นงบประมาณแบบขาดดุล การมีเงินคงคลังระดับปัจจุบันถือว่าปกติ เหมาะสมดีอยู่แล้ว ไม่ได้สร้างปัญหาต่อความมั่นคง เพราะฐานะการคลังที่มั่นคงประเมินจากปริมาณหนี้สาธารณะและภาระหนี้ต่องบประมาณ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาวะการเงินการคลังของไทยเข้มแข็งมาก” นายกรณ์ กล่าว
เงินคงคลังยังพอจ่ายเงินเดือน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันรัฐบาลกำลังพิจารณาถึงเรื่องการกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อนำมาสำรองให้การบริหารงานในประเทศไม่ให้เกิดปัญหา โดยแหล่งเงินกู้ที่มองไว้จะเป็นการกู้เงินจากองค์การพัฒนาระหว่างประเทศ เช่น เอดีบีที่ให้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน อย่างไรก็ตามยืนยันว่าขณะนี้เงินคงคลังยังมีเพียงพอต่อการใช้จ่าย
“ถ้าหากวันข้างหน้าเศรษฐกิจผันผวนและมีความจำเป็นจะมาคิดหาแหล่งเงินกู้ก็ไม่ทันเลยต้องมีการเตรียมการไว้ แม้ว่าปัจจุบันเงินคงคลังยังเพียงพอต่อการใช้จ่ายต่างๆ แต่ควรจะเตรียมความพร้อมในการเดินไปข้างหน้า ส่วนกรณีเงินคงคลังที่มีตัวเลขออกมาว่าเหลืออยู่ไม่มากนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับฐานะของประเทศเพราะทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ระดับสูง”
ศก.ไม่กระเตื้องหนี้ยิ่งท่วม
นายทนง พิทยะ อดีต รมว . คลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ขาลง ธุรกิจส่งออก ได้รับผลกระทบตัวเลขเงินหายไปกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่รัฐบาลต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ดูว่าตรงไหนเสีย ตรงไหนพัง ไม่ใช่นำเงินมาแจกจ่าย และไปแก้ปัญหาในส่วนที่ยังไม่เกิดผลกระทบ หากเศรษฐกิจในไตรมาสหลังยังไม่ฟื้น รัฐบาลชุดนี้จะต้องลำบาก งานหนัก และน่าเป็นห่วงว่ารัฐบาลจะหาเงินจากไหนมาช่วยเหลือ เพราะการจะช่วยคนจนต้องมีเงินเข้าไปช่วย สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่เป็นต้นตำรับประชานิยม ช่วงนั้นเป็นช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น แต่รัฐบาลชุดนี้กลับอัดฉีดเม็ดเงินในรูปแบบเดียวที่เราทำ คือ ใช้วิธีประชานิยมแบบเศรษฐกิจขาลง ทั้งที่ต้องมียุทธศาสตร์แบบองค์รวม ขณะเดียวกันสภาพของครม.ก็เป็นอุปสรรคสำคัญในการฟื้นฟู เพราะรัฐมนตรีเศรษฐกิจไม่มีการประสานงานกันในแต่ละกระทรวง ไม่มีการวางยุทธศาสตร์ร่วมกัน ทำให้การแก้ปัญหาทำไม่ทันหรือไม่ตรงจุด อีกทั้งความไร้เสถียรภาพทางการเมืองก็เป็นปัญหาหลัก โดยเฉพาะการปฏิวัติก็เป็นปัญหาที่ส่งมาถึงปัจจุบัน
ห่วงอีก3-4ปีไทยตายสนิท
ส่วนแนวทางแก้ไข นายทนง กล่าวว่าในภาพรวมนอกประเทศ ประเทศเอเชียต้องร่วมมือกัน เพื่อค้าขายกันเอง ขณะนี้ในประเทศควรแก้โครงสร้างเศรษฐกิจโดยรวม ควรแก้ด้วยความสามารถในการจัดการเท่าทันกระบวนการโลกาภิวัฒน์ แก้โดยใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส ในระหว่างนั้นนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ซึ่งทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการได้ถามว่า นักเรียนที่ลอกข้อสอบแต่ส่งผิดวิชาตรงนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะเชื่อว่าอีก 3 - 4 ปี เศรษฐกิจไทยคงไม่ใช่แค่เผา แต่น่าจะเป็นการฝังกลบดินไปเลย นายทนงตอบว่า รัฐบาลแจกเงินประชาชน 2000 บาท ต้องถามว่านำไปทำอะไร ทั้งที่ขณะนี้ยังไม่เกิดผลกระทบมาก หากเป็นตนจะนำไปแก้อุตสาหกรรมเอสเอมอี ตัวอย่างการแก้ปัญหานโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทย เช่นกองทุนหมู่บ้าน เจตนาครั้งนั้นคือจุดเริ่มต้นที่พ.ต.ท.ทักษิณ หวังว่าจะสร้างเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านเพื่อพัฒนาให้ประชาชนรู้จักสร้างผลผลิตในแต่ละหมู่บ้านและแก้ปัญหาต่อไป แต่รัฐบาลประชาธิปัตย์กลับนำนโยบายประชานิยมไปใช้แบบผิด โดยการดับเบิ้ลเงินให้แต่ละหมู่บ้านอีก ทั้งที่ประชาชนยังไม่รู้จะนำไปทำอะไร เพราะขณะนี้ผลผลิตอยู่ล้นตลาดแล้ว
หวั่นเศรษฐกิจไทยล้มละลาย
รศ.ดร.ประยงค์ เนตยารักษ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนไม่ค่อยเห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการกู้เงินจากต่างประเทศ เพราะหากมองกันในระยะยาวตนเป็นห่วงว่าหากรัฐบาลไม่สามารถบริหารให้เศรษฐกิจฟื้นได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วก็จะทำให้หนี้สินของประเทศยิ่งพอกพูนมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ จนทำให้ระบบเศรษฐกิจประเทศไทยมีปัญหา
ทั้งนี้ เท่าที่ติดตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแล้วน่าเป็นห่วงเนื่องจากแผนงานไม่ชัดเจนไม่มีประสิทธิภาพ เน้นการแจกเงินอย่างสะเปะสปะ ไม่ใช่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในระดับล่างเพราะคนกลุ่มนี้รัฐบาลต้องพยายามให้พวกเขามีกำลังซื้อให้มาก เพราะหากคนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อจะทำให้เม็ดเงินหมุนไปอย่างรวดเร็ว
“คนระดับล่างจะหมุนเงินเร็ว เพราะหาได้มา 1 บาท ก็จะใช้เงินทั้งหมด 1 บาท โดยไม่มีการเก็บ แต่หากรัฐบาลไปเน้นที่คนรวยจะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีปัญหา เนื่องจากคนกลุ่มนี้หาเงินได้ 1 บาท บางคนก็จะใช้ออกไปเพียง 50 สตางค์ หรือบางคนอาจไม่ใช่เลย เพราะไม่มีเหตุจำเป็นต้องใช้เงิน พวกนี้จะเก็บไว้เป็นเงินออมมากกว่า”
เย้ยไทยขาดสภาพคล่อง
ดร.ญาณกร แสงวรรณกูล นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในส่วนของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะพูด กับการปฏิบัติของนายกรณ์ จาติวนิช รมว.คลังมันส่วนทางกัน หากเปรียบไปแล้วการกระทำดังกล่าวในการวางแผนสำรองเพื่อไปกู้ยืมเงินจากธนาคารต่างประเทศ เหมือนกับบริษัทที่ขาดสภาพคล่อง
“ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้รายงานเรื่องการเก็บภาษีซึ่งไม่เข้าเป้าเท่าที่ควร ทำให้ไม่มีรายได้เป็นเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว เหมือนกับว่าทางรัฐบาลวาดฝันกับเงินคงคลังว่าจะมีมาก เพื่อที่จะหยิบมากระตุ้นเศรษฐกิจก่อน แต่ในทางกลับกัน เงินคงคลังกลับมีไม่มากพอ ทำให้ต้องร่างแผนสำรองในการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ”
นอกจากนี้ ดร.ญาณกร กล่าวว่า หากเราพิจารณาจริงๆ แล้วจะทำให้เข้าใจว่าตอนนี้ทางรัฐบาลไม่มีเงินเข้ามาบริหารมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตอนก่อนที่จะเข้ามาก็คาดหวังว่าจะสามารถเก็บภาษีได้ แต่เอาเข้าจริงก็เก็บไม่ได้ตามยอดที่ระบุไว้ จะใช้เงินคงคลังก็ไม่มี
“ที่ผ่านมาตอนที่ประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลก็มีการทำนโยบายประชานิยมมากมาย แต่ตอนนั้นเป็นแค่การทดลอง พอมาวันหนึ่งทางพรรคไทยรักไทยนำตัวทดลองนั้นกลับมาทำบ้างแต่ได้รับผลดีกว่า เพราะว่าเขาทำทั่วประเทศและเข้าถึงประชาชนจริงๆ พอมาตอนนี้ตนเองได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ก็พยายามที่จะดึงความนิยมกลับมาอีกครั้ง เหมือนเป็นการซื้อเสียง แต่มันดันผิดที่ผิดเวลา เพราะว่าอย่างที่ทราบดีว่าตอนนี้สภาพเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ถามว่ามาตรการดีไหมดี แต่มันมาไม่ถูกเวลา และหลังจากออกมาตรการก็ไม่เห็นได้รับคะแนนนิยมกลับมา”
เก็บภาษีเพิ่มเสียคะแนนนิยม
ดร.ญาณกรกล่าวต่อไปอีกว่า ทางพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคแกนนำของรัฐบาลเขาวางแผนผิด เพราะว่าเวลานี้เขาไม่มีเม็ดเงินที่จะเข้ามาบริหารนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ก็จะออกวิ่งหากู้ยืมเงินจากต่างประเทศตามสไตล์การทำงานของเขา
“ภาษีที่ออกมาจะเรียกเก็บอีกครั้งช่วงปลายเดือนมิถุนายน ถึงจะมีรายได้เข้ามา แต่ ณ ปัจจุบัน เรามีหนี้เป็นเบดทามมิ่ง ถ้ามีเงินอยู่แค่นี้ พรรคประชาธิปัตย์มีทางเดียวที่ไม่สามารถปฏิเสธได้คือการกู้ยืมเงินจากธนาคารต่างประเทศ ไม่อย่างนั้นรัฐบาลตายแน่ รมว.คลังไม่เคยนึกถึงการเก็บภาษีเลย ถ้าลองพิจารณาดูว่าภาษีอันไหนที่ไม่ประสิทธิภาพก็น่าจะมีการปรับปรุง เพราะว่าเงินจำนวนนั้นสามารถนำมาช่วยกู้สภาพวิกฤตได้มากที่เดียว”
นอกจากนี้ หากรัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามที่คาดไว้ ในทางตรงกันข้ามได้มีการออกกฎหมายเพื่อหารายได้เข้าคงคลังด้วยการออกมาตรการการเก็บภาษีที่ดิน และภาษีมรดก ซึ่งเปรียบเสมือนการโยนหินถามทาง เพราะมีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์แล้วว่ามาตรการการเก็บภาษีดังกล่าวมีความซ้ำซ้อน
“หากรัฐบาลประชาธิปัตย์ออกมาตรจัดเก็บภาษีทั้งสองตัวจริง จะยิ่งทำให้คะแนนประชานิยมลดน้อยลงเป็นอย่างมาก เพราะหากคิดเปรียบเทียบกันง่ายๆ ไม่มีใครที่จะยอมเสียผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้น”
ภาษีน้ำมันทำปชช.อ่วมหนัก
ในส่วนของมาตรการในการเพิ่มภาษีการจัดเก็บน้ำมัน ก็เป็นวัตถุประสงค์เดียวกัน เพราะว่ารัฐบาลต้องรีบเร่งในการหารายได้มาเก็บไว้ใช้เงินคงคลัง หากเราลองพิจารณาในแง่ดี มาตรการดังกล่าวจะเป็นการลดปริมาณการใช้พลังงานลง แต่ในทางตรงกันข้ามสินค้าบางตัวที่อาจจะมีแนวโน้มลดลง ก็จะต้องมีการมาพิจารณาใหม่เพราะว่าน้ำมันขึ้นราคา ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ไม่รู้แน่ชัดว่ารัฐบาลคิดอะไรอยู่ หากจะมองว่านี่หากจะเป็นการสวนทางของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจหรือเปล่า ตนมองว่ารัฐบาลอาจจะคิดเหมือนไก่กับไข่ว่าผลที่ได้จะออกมาอย่างไรมากกว่า
“แทนที่รัฐบาลจะค่อยเพิ่มมูลค่าภาษีน้ำมันเป็นลิตรละ 50 สตางค์ ค่อยๆ ขึ้น ไม่ใช่ว่านี้ออกมาตรการมาเพิ่มขึ้นเกือบลิตรละ 2 บาท บางครั้งประชาชนก็รับไม่ได้ เกิดวิกฤต ออยล์ช็อต ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก แทนที่จะบริหารงานแบบนักธุรกิจ แต่นี่ทำงานเหมือนนักกฎหมาย ที่ทำตามกฎแปะๆ แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจริงๆ”
เชื่อสุดท้ายเข้าอีหรอบเดิม
ส่วนมาตรการเงินกู้กับสถาบันต่างประเทศนั้นจะเข้าทำนองเดิมเป็นหนี้ IMF 2 หรือไม่นั้น ดร.ญาณกร กล่าวว่า สุดท้ายเรื่องราวทั้งหมดก็จะเข้าทำนองเดิม เหมือนกับเงินกู้ มิยาซาวา ที่ไม่เห็นจะมีการนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอะไร เงินก้อนนั้นก็หายต่อมไป ทุกอย่างจะวนกลับมาเหมือนเดิม
“หากจะมองแล้วในเรื่องการวางแผนมาตรการทั้งหมดไม่ใช้ว่า รมว.คลังของประชาธิปัตย์ไม่เก่ง เขาเป็นคนเก่ง แต่ไม่เคยลงไปสัมผัสกับปัญหาโดยตรงว่าคนที่มีปัญหาต้องการอะไร เป็นการแก้ไม่ถูกจุด ซึ่งมันจะต่างจาก ส.ส.ที่รู้ว่าคนในพื้นที่นี้ต้องการอะไร ไม่ชอบอะไร ที่ผ่านมารัฐบาลประชาธิปัตย์ก็เป็นอย่างนี้ เอาคนรวยมาเป็น ถามว่าเก่งไหมเก่ง แต่ทำงานไม่ตรงจุดปัญหาก็ไม่จบเสียที ในเมื่อทำงานไม่ตอบโจทย์แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร”
นอกจากนี้ ดร.ญาณกรยังได้กล่าวในช่วงท้ายไว้ว่า ประชาธิปัตย์อย่าเพิ่งไปหวังว่าจะทำนโยบายประชานิยม เพื่อหวังโกยคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า
“ ในตอนนี้ผมประเมินว่าคะแนนเสียงของนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ลดลงไปมาก กับสิ่งที่เขาเข้ามาบริหารประเทศ สุดท้ายก็ทำให้ประชาชนเข้าใจว่า ประชาธิปัตย์ก็ไม่มีดีอะไร สุดท้ายก็กลวง” ดร.ญาณกรกล่าว