ที่มา เดลินิวส์
ถ้าหากให้ผมเดาใจสิ่งแรกที่ “นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อยากได้มากที่สุด หลังจากเดินทางกลับมาจากการประชุมเศรษฐกิจโลก ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คือใบลาออกจากการเป็น รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ของ“นายวิฑูรย์ นามบุตร”
มาถึงวันนี้อยากจะบอกกับนายวิฑูรย์ว่า แม้จะชี้แจงอย่างไรคนในสังคมก็ไม่ยอมรับแล้วครับ เพราะมีข้อพิรุธหลายประการผู้บริจาค “ปลากระป๋อง” ซึ่งนำมาสู่ปัญหาใหญ่ให้กับรัฐบาลขณะนี้ ยังไม่เคยปรากฏตัวเพื่อชี้แจงข้อสงสัยต่าง ๆ ให้คนในสังคมได้รับรู้ ยิ่งฝ่ายค้านเข้ามาขุดคุ้ยหรือหน่วยงานของรัฐอย่าง สำนักงานคณะกรรม การอาหารและยา (อย.) เข้าไปตรวจสอบก็พบความผิดปกติมากขึ้นทุกที
ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตอาหารกระป๋อง บุคคลต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แม้ว่าข้อมูลเบื้องต้นจะเป็นเพียงชื่อย่อ แต่วงในหรือคนที่ติดตามปัญหาที่เกิดขึ้น เขารู้กันหมดว่า ใครมีส่วนพัวพันหรือ ทำให้เกิดปัญหา รู้แม้กระทั่งว่านักการเมืองคนไหนนำบริษัทเข้ามาเตรียมการจัดซื้อ “ถุงยังชีพ”
ผมว่าใครเข้ามาทำงาน เป็น รมว.การพัฒนาสังคมฯคนใหม่ จะต้องเข้ามารื้อระบบจัดซื้อสิ่งของ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาจากภัยธรรมชาติกันทั้งหมดเลยครับ มี บริษัทไหน ทำตัวเป็นมาเฟียคุมการจัดซื้อจัดจ้างบ้าง และไม่รู้ว่าที่เกิดเหตุฉาวโฉ่ขึ้นมาครั้งนี้ เพราะ นักการเมืองบางคนมูมมาม หรือตะกละตะกลามจนเกินไป จึงเข้ามารื้อกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างถุงยังชีพ ทั้งที่มีนักการเมือง หรือข้าราชการระดับบิ๊กบางคนดูแลอยู่แล้ว
เหมือนกับสำนวนที่ว่า “เผลอไปเตะชามข้าว” ของใครบางคน ซึ่งกำลังสวาปามงบประมาณหลวงด้วยความเอร็ดอร่อย งานนี้เลยได้รับบทเรียนครั้งสำคัญ เผลอ ๆ อาจจะต้อง ล้างมือจากการเล่น การเมืองไปตลอดชีวิต ด้วยซ้ำ ยิ่งนายวิฑูรย์เพิ่งเข้ามาเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกอีกด้วย แต่ที่น่าสนใจและน่าจะเป็นคำถามคือ ทำไมสิ่งของ บริจาคที่มีปัญหาจึงมีที่ “พัทลุง” จังหวัดเดียว จนทำให้คนเขาลือกันว่าเรื่องนี้มีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นในพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของบ้านเรา
มีนักการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ แอบส่งข้อมูลไปให้พรรคฝ่ายค้าน เพราะอยากให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี อย่างว่าละครับ เป็นฝ่ายค้านมา 8 ปีเต็ม เมื่อถึงเวลาได้เป็นรัฐบาล ใครก็อยากรับตำแหน่งซึ่งเทียบเท่ากับเสนาบดี
และถ้าหากใครสังเกตระยะหลัง เกมในสภาซึ่งต้องรับมือพรรคฝ่ายค้าน บรรดาขุนพลซึ่งเคยเป็นนักบู๊ของพรรคการเมืองเก่าแก่ หายหน้าหายตาไปหมด ไม่ว่าจะเป็น “นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ” หรือบรรดามือเก๋าเกมคอยตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม จนทำให้รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ต้องลงมาทำหน้าที่ในการชี้แจง เวลา พรรคถูกพาด พิงในทางเสียหาย
ทำให้ “พรรคประชาธิปัตย์” ยุคมีนายอภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรคและ “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” เป็นเลขาธิการพรรค ถูกมองว่าแตกต่างจากสมัยที่ “นายชวน หลีกภัย” เป็นผู้นำ และมี “พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์” เป็นเลขาธิการพรรค รับบทฝ่ายบริหารครั้งใดเมื่อมีการแต่งตั้งรัฐมนตรี ปัญหาทุกอย่างก็จบ ไม่มีใครมาทำตัวเป็นคลื่นใต้น้ำ เรียกว่า ใช้ทั้งความดีและบารมี สยบความไม่พอใจสมาชิกในพรรคได้
ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ให้น้ำหนักเรื่องการบริหารประเทศ เนื่องจากต้องฟันฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้การบริหารพรรค หรือ การ เลือกบุคคลให้มาดำรงตำแหน่ง ต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของนายสุเทพ ซึ่งมักจะถูกมองว่าให้น้ำหนักไปยังนักการเมืองในกลุ่มของตนเอง จึงทำให้สมาชิกพรรคหลายคน เกิดความรู้สึกไม่พอใจ
หรือว่าจะเป็น อาถรรพณ์ของพรรคการเมืองเก่าแก่ เป็นรัฐบาลทีไรถึงคราวต้องเกิดปัญหาขัดแย้งภายในทุกที งานนี้ต้องอาศัยบารมีของประธานที่ปรึกษาพรรคฯลงมาช่วยแก้ไขอีกครั้งแล้วมั้งครับ.
"เขื่อนขันธ์"