ที่มา มติชน
วิเคราะห์
พลันที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตอบข้อซักถามกรณี ความไม่ชอบมาพากลในการแจกปลากระป๋องเน่าให้ชาวบ้านผู้ประสบภัย ของกระทรวงพัฒนาการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มีนายวิฑูรย์ นามบุตร เป็นรัฐมนตรีว่าการ ทำนองว่า จะประกาศจุดยืนที่ชัดเจน หลังกลับจากการประชุมที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
เท่านั้นเองข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีก็สะพัดขึ้น
ยิ่งเมื่อนายอภิสิทธิ์ตอกย้ำถึงกรณีปลากระป๋องว่าเบื้องต้นทราบว่า ยังไม่มีการเบิกจ่ายเงินของราชการในการซื้อปลากระป๋อง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นกับประชาชนแล้ว
พร้อมย้ำว่า ยังยึดหลัก 9 ข้อที่ให้ไว้แก่คณะรัฐมนตรี
ยิ่งทำให้กระแสการปรับคณะรัฐมนตรีรุนแรงขึ้น
ทั้งนี้ เพราะแม้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี สามารถก้าวขึ้นสู่อำนาจได้ด้วยเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่า วิถีทางการสลับขั้วแห่งอำนาจจากพรรคพลังประชาชนมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์นั้น เป็นวิถีทางที่ไม่ค่อยมีเสถียรภาพนัก
ทั้งนี้ เพราะ...
ประการแรก เนื่องจากศิษย์เก่าพรรคพลังประชาชนที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อย ย่อมไม่ยินยอมที่จะให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์บริหารราชการแผ่นดินได้อย่างสงบสุข
ดังนั้น ทุกจังหวะก้าวของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งรัฐมนตรี จึงไม่มีระยะเวลา "ฮันนีมูน"
รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้ประชุมและเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นจังหวะๆ ไม่ขาดสาย โดยยึดเอาแนวทาง "ประชานิยม" เพื่ออัดเงินลงสู่มือประชาชน โดยหวังให้ประชาชนใช้สอย และกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้นมา
กระทั่งล่าสุด งบประมาณกลางปีแสนกว่าล้านบาท ก็เป็นฝีมือการดำเนินการเร่งด่วนของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
ประการที่สอง เนื่องจากจุดหักเปลี่ยนอำนาจจากพรรคพลังประชาชนไปเป็นพรรคประชาธิปัตย์นั้นอยู่ตรงความเคลื่อนไหวของ "กลุ่มเพื่อนเนวิน" ซึ่งมีภาพลักษณ์ทางการเมืองไม่สู้ดีนัก
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงต้องสร้างความมั่นใจด้วยการประกาศกฎเหล็ก 9 ข้อให้แก่คณะรัฐมนตรี เพื่อการันตีต่อสังคมว่ารัฐบาลชุดนี้จะปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต
กฎ 9 ข้อประกอบด้วย 1.น้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานให้กับคณะรัฐมนตรีในการถวายสัตย์ปฏิญาณโดยเฉพาะการปฏิบัติงาน ให้เกิดความเรียบร้อยและความสงบสุขในหมู่ประชาชน
2.ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ที่สำคัญคือจะต้องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาและบุคลากรที่มาช่วยงานรัฐมนตรีด้วย 3.ต้องถือว่านโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภา เป็นเป้าหมายร่วมของรัฐบาล 4.การทำงานของรัฐบาลจะต้องเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เอกภาพ 5.รัฐมนตรีทุกคนต้องเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรอย่างสม่ำเสมอ
6.รัฐมนตรีทุกคนเป็นบุคคลสาธารณะ ขอให้ทุกคนปฏิบัติตนโดยคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน ไม่อยากให้มีเงื่อนไขที่นำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นและไม่ศรัทธา 7.จะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม 8.รัฐบาลต้องพร้อมที่จะรับการตรวจสอบในเชิงนโยบายและด้านอื่นๆ ไม่สร้างอุปสรรคขัดขวางการตรวจสอบ ชี้แจงโดยใช้เหตุผล ข้อเท็จจริงและข้อมูล
และ 9.รัฐมนตรีทุกคนไม่มีสิทธิเหนือประชาชน ในแง่ของการปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ความรับผิดชอบทางการเมืองมีมาตรฐานสูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย
ดังนั้น หากการดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง แม้ว่าจะไม่ผิดกฎหมาย หรือจะไม่ได้กระทำความผิดก็ขอให้รัฐมนตรีทุกคนรวมทั้งตนด้วย ต้องยึดถือว่าประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ของตนและประโยชน์ของรัฐบาล
ขณะเดียวกัน พรรคพลังประชาชน ซึ่งภายหลังจากถูกยุบพรรค สมาชิกพรรคพลังประชาชนได้ไปรวมตัวกันที่พรรคเพื่อไทย และเริ่มต้นเปลี่ยนบทบาทจากฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายค้าน
ดังนั้น เมื่อเกิดกรณี "ปลากระป๋องเน่า" ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีนายวิฑูรย์ นามบุตร นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการ
เมื่อนายวิฑูรย์ นามบุตร เป็นศิษย์โปรดของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
ทุกอย่างจึงเข้าทางฝ่ายค้าน!
ทั้งนี้ เพราะหากโครงการดังกล่าวมีพิรุธ มีคนของนักการเมืองเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้อง นายอภิสิทธิ์คงต้องใช้ความเป็นผู้นำ รักษากฎเหล็ก 9 ข้อ ด้วยการปรับคณะรัฐมนตรีเป็นเบื้องต้น
แต่การปรับศิษย์รักของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค พ้นจากตำแหน่งไปทั้งๆ ที่ผลการสอบสวนเรื่องราวต่างๆ ยังไม่สำแดงผล ก็อาจจะสร้างความขุ่นเคืองภายใน "ประชาธิปัตย์" ขึ้นได้
ในทางกลับกัน หากนายอภิสิทธิ์นิ่งเฉยไม่ดำเนินการต่อกรณีดังกล่าว บรรดาฝ่ายค้านที่คอยจับจ้องเพื่อจ้วงแทง ก็จะแห่กันออกมาประณามภาวะผู้นำของนายอภิสิทธิ์
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เมื่อนายอภิสิทธิ์ลั่นวาจาจะประกาศจุดยืนเกี่ยวกับเรื่อง "ปลากระป๋องเน่า" ภายหลังกลับจากต่างประเทศ ผู้คนจะสนใจต่อจุดยืนที่นายอภิสิทธิ์จะประกาศ
เพราะจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ย่อมมีความสำคัญต่อเสถียรภาพทางการเมืองในอนาคตอันใกล้ของรัฐบาล
และมีความสำคัญต่อนายกรัฐมนตรีคนที่ชื่อ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ด้วยเช่นกัน