WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, February 2, 2009

ช่างกลผิดตรงไหน สังคมบีบให้เราตีกัน

ที่มา ไทยรัฐ

กลายเป็นแฟชั่นแก้ปัญหาเวอร์ชั่นใหม่ของประเทศไทยไปอีกขั้นแล้ว สำหรับการแก้ปัญหานักศึกษาอาชีวะยกพวกตีกัน

จากเวอร์ชั่นแก้ปัญหาแบบเดิมๆ...วัวหายล้อมคอก พัฒนามาเป็นไฟไหม้ฟาง ตามด้วยแก้ผ้าเอาหน้ารอด

ตอนนี้อัพเกรดเป็นจัดฉากปลูกผักชีโรยหน้าไปเป็นที่เรียบร้อย จากกรณีให้ตัวแทนนักศึกษา 2 สถาบัน อุเทนถวายกับช่างกลปทุมวัน มาจับมือยื่นดอกกุหลาบสมานฉันท์

หลายภาคส่วนเห็นตรงกัน...มันคงแก้ปัญหาอะไรไม่ได้หรอก เพราะที่ผ่านมาเรื่องทำนองนี้มีให้เห็นเป็นประจำทุกปี เด็กยกพวกตีกันที มักจะมีผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องออกมาพูดเสนอแนวทางแก้ปัญหาให้ได้ยินได้ฟังกันทุกทีไป...แต่ไม่เคยแก้ปัญหาได้สักที

ถ้าจะแก้ปัญหานี้ให้ได้ผลอย่างแท้จริง ทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และต้องทำอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 5-6 ปี ถึงได้ผล

จะให้ตำรวจกับครูมาแก้ปัญหานี้ ไม่มีทางสำเร็จ คนไทยทุกคนต้องช่วยกันถึงจะแก้ปัญหาได้

อาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคนิคในกรุงเทพฯ ผู้ใช้ชีวิตคลุกคลีกับเด็กอาชีวะมาร่วม 40 ปี ตั้งแต่เป็นนักศึกษาหัวโจก ระดับมีดีกรีเป็นแค่รองประธานชมรมนักศึกษาภาคใต้ ในยุค ฟ้าสีทองผ่องอำไพ ช่างกลเป็นใหญ่ในแผ่นดินให้ความเห็นแบบไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อ เพราะอาจล้ำเส้น ก้าวก่ายหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ที่สัมผัสชีวิตเด็กอาชีวะมาน้อยกว่า

เด็กอาชีวะที่ใครว่าซ่า ชอบยกพวกตีกัน โรงเรียนระดับที่มีนักศึกษาประมาณ 2,000 คน มีเด็กที่เป็นหัวโจกจริงๆ 50 คนเท่านั้นเอง เด็กส่วนใหญ่ ล้วนแต่เป็นเด็กดี เรียบร้อย ไม่อยากมีเรื่อง ไม่อยากยกพวกไปตีกับใคร

และจริงๆแล้วพวกที่ซ่าๆ ยกพวกไปตีกัน ไม่ได้ทำเพื่อแก้แค้นอะไรกันเท่าไรนักหรอก และไม่ได้ตีเพื่ออวดเก่ง แสดงความกล้าหาญอวดเพื่อนแต่อย่างใด เด็กพวกนี้กลัวเจ็บ กลัวตายเหมือนกัน

สังเกตได้การตีกันมักจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเห็นฝ่ายตรงข้ามมีน้อยกว่า แต่ถ้าฝ่ายตัวเองมีน้อยกว่ามักจะหนี พูดง่ายๆ ถ้าเห็นว่าฝ่ายตัวเองมีพวกมากกว่า ชนะได้ง่าย ถึงจะกล้าเข้าไปรุมกินโต๊ะอีกฝ่ายหรืออีกสถาบัน

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กอาชีวะตีกัน เด็กเรียน เด็กเรียบร้อยที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่มักจะตกเป็นเหยื่อทุกครั้งไป

เนื่องจากเด็กเรียบร้อยมักจะไม่สุงสิงกับใคร ไปไหนไปลำพังไม่กี่คน...เลยกลายเป็นเหยื่อให้ถูกอีกฝ่ายรุมกินโต๊ะได้ง่าย

ในเมื่อทั้งหัวโจกต่างกลัวเจ็บเหมือนกัน ยกพวกตีกันไม่ได้ต้องการแก้แค้น...แล้วที่ตีกันทำเพื่ออะไร?

อดีตหัวโจกสมัยยังวัยคะนองเล่าว่า...บอกไม่ถูกว่าทำไม รู้แต่ว่าตีกันมาตั้งนานแล้ว จนกลายเป็นตำนานของแต่ละสถาบัน

มีบางคนว่า อาจจะมาจากสถาบันอาชีวะมีการนับถือเทวรูปต่างกัน...ฝ่ายช่างก่อสร้างนับถือพระวิษณุประทับในท่ายืน...ส่วนฝ่ายช่างกลนับถือพระวิษณุประทับในท่านั่ง

เพราะสังเกตจากเด็กตีกันมักจะแบ่งเป็น 2 ค่าย คือ ช่างก่อสร้างที่มีอุเทนถวายเป็นผู้นำ กับช่างกลที่มีช่างกลปทุมวันเป็นผู้นำ

แต่สิ่งหนึ่งรู้แน่ก็คือ ตอนเป็นนักศึกษาใหม่ ปีแรกที่เข้าไป รุ่นพี่ในสถาบันมักยกเอาวีรกรรมตีกันนี่แหละมาพูดมาเล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า ที่ผ่านมาโรงเรียนเราได้ยกตัวไปตีกับใครที่ไหนบ้าง พูดด้วยการยกย่องสรรเสริญราวกับเป็นฮีโร่

เด็กปีหนึ่งได้ยินก็พลอยคล้อยตาม อยากเป็นฮีโร่...อยากสร้างตำนานอย่างรุ่นพี่ เพื่อให้ได้รับการยอมรับยกย่อง ตามประสาวัยรุ่น

ค่านิยมภูมิใจ ยกย่องในสิ่งไม่ดี เป็นปมสำคัญในการแก้ปัญหาเด็กอาชีวะ

เราต้องถามตัวเองก่อนว่า ทำไมเด็กอาชีวะถึงได้ภูมิใจในเรื่องแบบนี้...ทำไมเด็กเรียนสามัญถึงไม่เป็นแบบนี้

คำตอบก็คือ...จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้คนในสังคม ในครอบครัวด้วยกันเองมองและมีอคติกับเด็ก กับลูกหลานที่เรียนช่างกลหรือเปล่า

สังคมไทยมองเด็กช่างกลไม่ดีมาตลอด มีอะไรก็จะโทษ จะด่าจะว่าเด็กช่างกล ผมก็เจอมากับตัวเอง สมัยเรียน ม.ต้น เราก็เป็นเด็กเรียนดี เรียบร้อยเหมือนเพื่อน แต่พอมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ พักอยู่ที่เดียวกัน เรียนหนังสือกันคนละแห่ง

เพื่อนเรียนสามัญ เราเรียนช่างกล พอมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ทั้งที่เราไม่ได้ทำอะไรผิด ผู้ใหญ่ก็มักจะโทษว่าเราตัวก่อเหตุ

เรียนช่างกลมันผิดตรงไหน ไม่ดีตรงไหน เรียนสามัญ จบมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศ แต่โกงบ้านโกงเมือง เรียนจบหมอเป็นฆาตกรฆ่าคน ผู้คนในสังคมไม่โกรธโทษ ไม่มีอคติกับสถาบันเหล่านั้น กลับยกย่องเสียอีก ต่างกับพวกเรียนอาชีวะ ถูกว่าถูกด่าตั้งแต่ต้น ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด

สังคมมีอคติ คนในบ้าน คนข้างบ้านด่าดูถูกเด็กช่างกลไม่ดีมาตลอด นี่เอง ที่อาจารย์อดีตหัวโจกช่างกลบอกว่า...เป็นตัวการบีบให้เด็กช่างกลแสดงออกในทางที่ผิด

เด็กวัยรุ่นโดนดูถูกดูแคลน มันจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำตัวประชดสังคม เด็กช่างกลก็เหมือนกัน ทำตัวประชดสังคม ยกย่องสรรเสริญในสิ่งไม่ดี

สังคมลองมองเด็กอาชีวะ เลิกอคติ มองว่า เด็กช่างกลเด็กอาชีวะคือผู้สร้างสรรค์ ผู้สร้างโลก มองในแง่ดี เด็กช่างกลอาจจะเลิกตีกันก็ได้

เรื่องแบบนี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิด อาจารย์ผู้นี้เล่าว่า ยุค 14 ตุลา ช่างกลเลิกตีกัน เพราะหลังจากรัฐบาลเผด็จการถูกโค่นล้มลงไป สังคมไทยมองเด็กอาชีวะในแง่ดี ยกย่องให้เป็นฮีโร่ เพราะเป็นหัวหอก เป็นแนวหน้าของขบวนการนักศึกษาในการกอบกู้ประชาธิปไตย

จนมีคำปลุกใจตามมาว่า...เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ช่างกลเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

แต่มายุคหลัง ฝ่ายทหารบางส่วนมองว่า ขบวนการนักศึกษาเข้มแข็งเกินไป จึงมีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาทำลายขบวนการนักศึกษา แยกเด็กช่างกลออกมาเป็นกระทิงแดง จนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เด็กอาชีวะถูกสังคมประณามอีกครั้ง ตีกันอีกจนมาถึงปัจจุบัน

นอกจากคนไทย สังคมไทยจะต้องมองเด็กอาชีวะใหม่แล้ว จะแก้ปัญหาเด็กตีกันให้ได้ผล...ต้องเลิกให้เด็กใส่เครื่องแบบ ยูนิฟอร์มทั้งหลายต้องยกเลิก

เลิกไปเพื่อปกป้องเด็กส่วนใหญ่ ที่เป็นดีเด็กเรียบร้อยไปไหนไม่กี่คน ไม่มีเครื่องแบบ ไม่มีสัญลักษณ์ พวกหัวโจกที่คอยหาเรื่องมารุมกินโต๊ะ จะได้ไม่รู้จะรุมกินโต๊ะใคร

ยุค 14 ตุลา เด็กอาชีวะไม่ตีกัน เหตุผลหนึ่งก็เพราะไม่ต้องใส่เครื่องแบบ แต่งตัวได้อิสระเหมือนเด็กมหาวิทยาลัย แต่ตอนหลังการเมืองเปลี่ยนไป ทหารเข้ามามีอำนาจ วิธีคิดแบบทหารปกครองคน มองแต่เพียงว่า ต้องมีระเบียบ ต้องมีวินัย มีเครื่องแบบ

การมีเครื่องแบบ มียูนิฟอร์ม ไม่ได้ช่วยให้ประเทศชาติดีขึ้นแต่อย่างใด ดูฝรั่งซิ ไปเรียนไม่เครื่องแบบ บ้านเมืองพัฒนาไปไกลกว่าเรา ไม่ต้องอะไรมาเอาแค่เรื่องขึ้นรถเมล์เขามีการเข้าคิว

ส่วนเราเด็กนักเรียนใส่เครื่องแบบมาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว เข้าคิวมีระเบียบวินัยหรือเปล่า ข้ามถนนก็ยังมั่วเลย

อีกมาตรการที่จะละเลยไม่ได้ อาจารย์อดีตหัวโจกบอกว่า...กระทรวงศึกษาฯควรมีกระบวนการทางจิตวิทยา มาคัดกรองเด็กหัวโจก เพื่อนำตัวเข้าสู่โครงการกล่อมเกลาจิตใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เด็กหัวโจกนั้นอยู่โรงเรียนเราไม่มีทางรู้เลย เพราะต่อหน้าครูจะเรียบร้อย ดูไม่ออก ฉะนั้น จำเป็นจะต้องพึ่งนักจิตวิทยามาช่วยทดสอบสภาพ เพื่อคัดกรองดึงเด็กหัวโจกออกมาเป็นการเฉพาะ

เมื่อดึงออกมาได้ให้แต่ละสถาบันนำพวกหัวโจกเหล่านั้นมาทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ใช่ไปฝึกแบบทหาร เพราะนั่นเป็นการฝึกแบบใช้อำนาจนิยม ยิ่งจะปลูกฝังให้พวกหัวโจกเหล่านี้มีปัญหามากขึ้น

แต่ควรให้ทำกิจกรรมในลักษณะช่วยเหลือสังคม เพื่อปรับสภาพจิตให้หัวโจกได้รู้สึกภาคภูมิใจยกย่องการทำความดี เสียสละให้กับสังคม

ฝึกทำอย่างนี้ไปอย่างต่อเนื่องสัก 5-6 ปี เพื่อให้หัวโจกรุ่นใหม่ได้สร้างตำนานที่ดีๆ เป็นเรื่องที่เล่าขานให้เด็กรุ่นน้องเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

พร้อมกับปล่อยให้หัวโจกที่จมปลักอยู่ในตำนานด้านมืด จบออกไป...จนหมดรุ่นที่จะสืบตำนานตีกันให้เล่าขาน

ทำได้อย่างนี้ ตำนานอาชีวะตีกันถึงจะมีสิทธิเปลี่ยนไป.