ที่มา มติชนออนไลน์
พบหลักฐาน กกต.กระทำเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายอีก มีมติแจกใบแดง-ดำเนินคดีอาญา นายก อบจ.เชียงใหม่-สมาชิกสภาก่อน แล้วให้แจ้งข้อกล่าวหาทีหลัง ปิดโอกาสการชี้แจง ระบุขัด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ-ระเบียบสืบสวน เปิดช่องศาลอุทธรณ์สั่งยกฟ้อง เคยมีคดีตัวอย่างแล้ว
ผู้สื่อข่าว"มติชนนออนไลน์"รายงานเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ว่า ได้ตรวจสอบพบหลักฐานพบว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)น่าจะปฏิบัติฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 และ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาดพ.ศ. 2550 เนื่องจาก กกต.มีมติเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ให้ใบแดง)และดำเนินคดีอาญานายกองค์การบริหารจังหวัด(อบจ.)สมาชิก อบจ.เชียงใหม่ ก่อนที่จะแจ้งข้อหล่าวหาให้แก่บุคคลดังกล่าวและให้บุคคลดังกล่าวชี้แจงข้อกล่าวหา ซึ่งจะทำให้กระบวนการสืบสวนสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องคดีในลักษณะเดียวกันมาแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลักฐานดังกล่าวคือ ข่าวเผยแพร่ของสำนักงาน กกต.ในเว็บไซต์ กกต. ( http://www.ect.go.th/newweb/th/news/detail.php?id=432&SystemModuleKey=cms )ซึ่งเป็นผลการประชุม กกต.ครั้งที่ 6/2552 ซึ่งขึ้นหัวข้อข่าวว่า "กกต. มีมติแจก 2 ใบแดงนายกและ ส.อบจ.เชียงใหม่ อ.สันทราย เขต 2 "ซึ่งมีเนื้อหาข่าวว่า
"นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งที่ 6/2552 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นจำนวน 2 ราย ในการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ อ.สันทราย เขต 2 โดย กกต. มีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ผู้สมัครนายกฯ หมายเลข 3 (ได้รับเลือกตั้ง) และนายสุพล ณ วิชัย ผู้สมัคร ส.อบจ.อ.สันทราย หมายเลข 3 เขต 2 (ได้รับเลือกตั้ง) มีกำหนด 1 ปี ในข้อกล่าวหาว่า ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ทรัพย์สิน(เงิน) แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจฯ และสั่งให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง รวมทั้งให้ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ พร้อมทั้งให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ทั้ง 2 คน รวมทั้งนายอินทร อินสม และนายมังกร กันทา ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย
"ทั้งนี้ให้ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายสุพล ณ วิชัย นายอินทร อินสม และนายมังกรกันทา ให้ชัดเจน และนำเสนอ กกต. พิจารณาอีกครั้งก่อนยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยตามมาตรา 239 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากมติดังกล่าวเห็นได้ว่า กกต.มีมติให้ใบแดงนายบุญเลิศและสมาชิก อบจ.ก่อนแล้ว จึงค่อยให้เจ้าหน้าที่ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่กลุ่มบุคคลดังกล่าวซึ่งเท่ากับไม่ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อกล่าวหาเพื่อนำคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหามาพิจารณา แต่เป็นการลงมติหรือฟันธงไว้ล่วงหน้าแล้วซึ่งน่าจะเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 24 วรรคสองและสามของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งที่บัญญัติไว้เป็นขั้นตอนว่า "ในการสืบสวนสอบสวนตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องให้โอกาสผู้ร้อง ผู้ถูกคัดค้าน หรือผู้ถูกกล่าวหา ทราบเหตุแห่งการร้อง การคัดค้าน หรือการกล่าวหา มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงหลักฐาน รวมทั้งต้องให้โอกาสมาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง..."
"กรรมการการเลือกตั้งแต่ละคนที่ลงมติวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใดต้องลงลายมือชื่อในหนังสือลงมติในเรื่องนั้น และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทำคำวินิจฉัยชี้ขาดซึ่งต้องทำเป็นหนังสือระบุข้อเท็จจริงและเหตุผล พร้อมทั้งลงลายมือชื่อของกรรมการการเลือกตั้งทุกคนที่พิจารณาวินิจฉัย"
นอกจากนั้นระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2550 ข้อ 50 ก็ระบุเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า หลังจากแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแล้วหลักฐานไว้ในสำนวน แหล่งข่าวจาก กกต.แจ้งว่า มีตัวอย่างหลายคดีที่กระบวนการสืบสวนสอบสวนไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น การแต่งตั้งอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนโดยไม่มีอำนาจ การแจ้งข้อกล่าวหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปรากฏว่า ในชั้นศาลได้ยกฟ้องคดีดังกล่าวด้วยเหตุผลว่า การสืบสวนสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น คำสั่งศาลอุทธรรณ์ภาค 2 คดีหมายเลขแดงที่ 2896/2551 วันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 ซึ่ง กกต.ให้ใบแดงนายประจวบ บุญเลิศ ผู้สมัครนายยกเทศมนตรีตำบลดอนเกาะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ดังนั้นถ้ากรณีที่ กกต.ให้ใบแดงนายบุญเลิศแลบะพวกโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหาเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โอกาสที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะยกคำร้องก็มีอยู่สูง @@@@@@@@@@@@@@@@@@@@ ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2550 ข้อ 50 "... เมื่อคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนทำการสืบสวนสอบสวนแล้วมีพยานหลักฐานสนับสนุนพอฟังได้ว่าผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น...ผู้ใดกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือมีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่าเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำ หรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแต่ไม่ดำเนินการเพื่อระงับการกระทำนั้น หรือได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้น ซึ่งจะมีผลให้มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพิกถอนผลการเลือกตั้งเลือกตั้งใหม่ นับคะแนนใหม่ หรือสรรหาสมาชิกวุฒิสภาใหม่ ให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ถูกกล่าวหาแล้วจัดให้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่บุคคลนั้น
"ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและเลขาธิการมีอำนาจในการแจ้งข้อกล่าวหาโดยให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนจัดทำบันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหาตามแบบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดโดยผ่านผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือเสนอเลขาธิการ แล้วแต่กรณีเพื่อพิจารณา หากคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือเลขาธิการเห็นควรแจ้งข้อกล่าวหา ให้ส่งข้อกล่าวหาไปยังผู้ถูกกล่าวหาตามที่อยู่ในหลักฐานใบสมัครหรือหลักฐานของทางราชการ และแจ้งสิทธิที่จะให้ถ้อยคำหรือมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงและนำพยานหลักฐานมาแสดงแก้ข้อกล่าวหา พร้อมกำหนดวัน เวลา และสถานที่ให้ผู้ถูกกล่าวหาไปรับทราบข้อกล่าวหา
"เมื่อผู้ถูกกล่าวหามาพบ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย เลขาธิการ หรือคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนนำบันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหามาแจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ ให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อรับทราบข้อกล่าวหา แล้วรวมหลักฐานดังกล่าวไว้ในสำนวนการสืบสวนสอบสวนหนึ่งฉบับ มอบให้ผู้ถูกกล่าวหาหนึ่งฉบับ จากนั้นให้บันทึกถ้อยคำโดยเร็ว โดยให้แจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกกล่าวหาว่าจะให้การหรือไม่ก็ได้ พร้อมทั้งต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหามีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงหลักฐานในการแก้ข้อกล่าวหา..."