ที่มา ไทยรัฐ
ก็กลับจากการประชุม เศรษฐกิจโลก กับ ผู้นำระดับโลก ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตฯ เรียบร้อยแล้ว เรื่องแรกที่ผมอยากให้ นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เร่งจัดการให้เสร็จไปโดยเร็วในวันสองวันนี้ก็คือ รัฐมนตรีที่มีข่าวอื้อฉาว เพื่อไม่ให้เป็น ตัวถ่วงรัฐบาล ในช่วงนี้ รัฐบาลจะได้มีเวลาไป แก้ปัญหาวิกฤติของชาติ โดยไม่ต้องคอยตอบคำถามเหล่านี้ให้เสียเวลา ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก
จะให้ ลาออกเอง หรือ ปรับ ครม.ให้ออกไป ก็ว่ากันไป เรื่องไม่สมควรอย่างนี้ ผมอยากให้รีบทำเสียให้จบ ทิ้งไว้จะทำลายศรัทธารัฐบาลเปล่าๆ วันนี้ สังคมไทยรู้แล้วว่าอะไรควรไม่ควร นักการเมืองเองก็ควรจะมีสำนึกเสียบ้าง
ความจริง หลักปฏิบัติ 9 ข้อของ ครม. ที่ นายกฯอภิสิทธิ์ ได้ ประกาศต่อ ครม.ในการประชุมนัดแรก ควรจะทำให้มีความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไม่ให้รัฐมนตรีนอกลู่นอกทาง ซึ่งตอนนี้ รัฐมนตรีหลายกระทรวงเริ่มย่ำยีหัวใจของประชาชนอีกแล้ว ด้วยการ แต่งตั้งคนที่มีชนักติดหลังในเรื่องทุจริตคอรัปชันคาเขียง ป.ป.ช.ไปเป็น ที่ปรึกษา และ บอร์ดรัฐวิสาหกิจ กันเพียบ
ก็ไม่รู้ผ่าน ครม.ของ นายกฯอภิสิทธิ์ ออกมาได้อย่างไร โดยไม่มีใครทักท้วง
ผมขออนุญาตนำ หลักปฏิบัติ 9 ข้อของ ครม. ที่ นายกฯอภิสิทธิ์ บัญญัติไว้มาลงให้อ่านบางข้อ เผื่อนายกฯอภิสิทธิ์จะลืม เพื่อให้เห็นว่าพฤติกรรมของรัฐมนตรีหลายคน เข้าข่ายผิดหลักการปฏิบัติ 9 ข้อนี้หรือไม่ สมควรอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่
ข้อ 2 เน้นการปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความ ซื่อสัตย์สุจริต ทั้ง ของตัวเอง ผู้ใช้บังคับบัญชา และ ผู้ที่จะเข้ามาช่วยงานให้รัฐมนตรี เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาต่อเสถียรภาพรัฐบาล
ข้อ 6 รัฐมนตรีทุกคนเป็นบุคคลสาธารณะ และในภาวะที่มีทั้งปัญหาเศรษฐกิจและความขัดแย้งในสังคมสูง ขอให้ปฏิบัติตนโดยคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน ไม่อยากให้มีเหตุการณ์นำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นไม่ศรัทธา
ข้อ 9 รัฐมนตรีไม่มีสิทธิเหนือประชาชน ในแง่ของการปฏิบัติตามกฎหมาย และ ความรับผิดชอบทางการเมืองมีมาตรฐานสูงกว่ากฎหมาย นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลจะประเมินว่า หากการดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีคนใดเป็นอุปสรรค แม้จะไม่ได้กระทำผิด ขอให้ทุกคนยึดถือว่า ประโยชน์ ส่วนรวมมาก่อนส่วนตัวหรือรัฐบาล
ถ้า นายกฯอภิสิทธิ์ ยึดหลักการ 9 ข้อนี้อย่างเข้มแข็ง วันนี้ก็แทบไม่ต้องพิสูจน์อะไรแล้ว แต่อยู่ที่นายกฯจะกล้าตัดสินใจปฏิบัติตามหลักการ 9 ข้อนี้หรือไม่ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่จะต้องมาก่อนส่วนตัวหรือรัฐบาล
ระหว่างที่รอ นายกฯอภิสิทธิ์ ท่านไตร่ตรอง ผมก็มีตัวอย่างเรื่อง “ความรับผิดชอบทางการเมือง” ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ มาเล่าสู่กันฟัง เหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานี้เอง
วุฒิสภารัฐอิลลินอยส์ ลงมติเป็นเอกฉันท์ 59-0 ให้ นายร็อด บลาโกเจวิช พ้นจากตำแหน่ง ผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์ ในข้อหา ใช้อำนาจ ไปในทางที่ผิด เขาถูกกล่าวหาว่า พยายามขายตำแห่งวุฒิสมาชิกรัฐอิลลินอยส์ ที่ว่างลง เนื่องจาก บารัก โอบามา วุฒิสมาชิกรัฐอิลลินอยส์ ได้รับเลือกตั้งเป็น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการอิมพีชเมนท์เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีของสหรัฐฯ
แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่วุฒิสภาอิลลินอยส์เห็นว่า พฤติกรรมที่ถูกกล่าวหา สร้างความเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงต่อรัฐอิลลินอยส์ เขาจึงไม่คู่ควรที่จะเป็นผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์อีกต่อไป
เรื่อง คุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ นักการเมือง จะต้องยึดถือยิ่งกว่าประชาชนทั่วไป อย่างที่ นายกฯอภิสิทธิ์ เขียนไว้ในหลักปฏิบัติ 9 ข้อ ของ ครม. ว่า “ความรับผิดชอบทางการเมืองต้องมีมาตรฐานสูงกว่ากฎหมาย” แม้กฎหมายเอาผิดไม่ได้ แต่ นายกรัฐมนตรี และ รัฐสภา สามารถใช้มาตรฐานทางคุณธรรม จริยธรรม เอาออกจากรัฐมนตรีได้ ก็ไม่รู้คนไทยจะมีโอกาสได้เห็น “มาตรฐานการเมืองใหม่” อย่างนี้หรือไม่.
“ลม เปลี่ยนทิศ”