ที่มา มติชน
คอลัมน์ เดินหน้าชน
โดย ภาคภูมิ ป้องภัย
เปื่อยครับเปื่อย จะไม่เปื่อยได้อย่างไร เมื่อเริ่มต้นดูขึงขัง จู่ๆ กลับมาตายเอาตอนจบ อย่างนี้คนดูก็เปื่อยซิครับ
อย่างที่ผมเขียนไปเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้วว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะเอาจริงเอาจังกับการสอบสวนคดีทุจริตโครงการชุมชนพอเพียงหรือไม่ ในเมื่อมีนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มธุรกิจภายใต้โครงข่ายของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันอย่างแนบแน่น
เขียนไม่ทันพ้นสัปดาห์เลยครับ...เป็นเรื่องแล้ว
เมื่อเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ได้รวบรวมพยานหลักฐานคดีดังกล่าวที่กองปราบปรามส่งมาให้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 เสร็จแล้ว และเห็นควรเสนอบอร์ดชุดใหญ่พิจารณาให้สำนวนนี้ตกไป เนื่องจากในสำนวนไม่ได้กล่าวหานักการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ในขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (สพช.) ผู้ถูกกล่าวหา มีสถานะเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจที่ ป.ป.ช.จะตรวจสอบได้
อธิบายง่ายๆ คือ สำนวนของกองปราบฯ "โคตรอ่อน" ทั้งๆ ที่ผมอุตส่าห์เขียนชื่นชมฝีมือกองปราบฯ ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สามีของ "แม่เลี้ยงติ๊ก" นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เอาไว้มากมายเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว
แต่เอาเข้าจริงกลับบ้อท่า ลงทุนส่งทีมไปสอบสวนผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ สพช.มาอย่างไร ถึงได้แค่ "ปลาซิวปลาสร้อย" มาเป็นผู้ต้องสงสัย ทั้งๆ ที่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2552 นายสุมิท แช่มประสิทธิ์ ขณะเป็น ผอ.สพช.เข้าแจ้งความกองปราบฯ โดยนำเอกสารระบุรายชื่อพนักงานระดับบริหาร 3 คนของ สพช.มีพฤติกรรมส่อหาประโยชน์กับชุมชนโดยมิชอบ ระบุกลุ่มงานที่สังกัด ระบุกระทั่งให้ออกไปแล้ว 1 คน
จึงเกิดข้อสงสัยตามมาว่า 1.รัฐบาลจ้างลูกจ้างชั่วคราวมาคุมโครงการกว่า 2 หมื่นล้านบาทหรือ 2.กองปราบฯไปสอบสวนที่ สพช.อยู่หลายวัน ไม่รู้หรือว่าผู้ต้องสงสัยเป็นแค่ลูกจ้างชั่วคราว ถ้ารู้แล้วทำไมยังส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.
ไม่เพียงเท่านั้น ทีมข่าวพิเศษ "มติชน" ยังตรวจสอบพบข้อมูลเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกให้ออกตามคำให้การของนายสุมิทนั้น เป็นข้าราชการสังกัดมหาวิทยาลัยรัฐ แต่ถูกทีมงานรองนายกฯขอตัวมาช่วยราชการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ และมาทำงานที่ สพช. ดังนั้น คนคนนี้ไม่ใช่ลูกจ้างชั่วคราวแน่นอน
ตอกย้ำด้วยคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รองผู้บังคับการกองปราบฯ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 ว่า ในสำนวนกล่าวหาเจ้าหน้าที่ สพช. 3 คน มีพฤติการณ์ส่อทุจริต นอกจากนี้ ตำรวจยังสืบสวนพบสมาชิกสภาเขต 1 คน มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
นอกจากนี้ ฝ่ายค้านยังได้นำหลักฐานทั้งภาพและเสียงมาแถลงเปิดโปง แล้วเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทำงานกันอย่างไรครับถึงไม่เอามาประกอบสำนวน กลับเชื่อไปตามสำนวนอ่อนๆ ของกองปราบฯ
ถึงที่สุดแล้วแม้ในสำนวนจะไม่ปรากฏชื่อนักการเมือง แต่ ป.ป.ช.ก็สามารถ "ต่อยอด" จากข้อมูลที่ตำรวจสืบพบสมาชิกสภาเขต และขยายผลได้ ที่สำคัญกฎหมาย ป.ป.ช.ยังให้อำนาจหยิบยกเรื่องขึ้นสอบสวนได้เองโดยไม่ต้องมีชื่อผู้ร้องด้วยซ้ำ
นี่ยังไม่นับข้อสงสัยว่า เมื่อครั้งที่บอร์ด ป.ป.ช.อ่านสำนวนของกองปราบฯแล้ว ไม่รู้หรือว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นแค่ลูกจ้างชั่วคราว
ถ้ารู้แล้วทำไมไม่วินิจฉัยให้ส่งเรื่องกลับ หรือมีมติให้สำนวนตกไป กลับรับเรื่องไว้พิจารณา
ถามว่า มีเจตนาอะไร มีเจตนา "ดอง" เรื่องไว้หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะใช้เวลาเกือบ 3 เดือนจน "เค็ม" ได้ที่ทีเดียว
ผมไม่รู้ว่าบอร์ด ป.ป.ช.จะนำความเห็นของเจ้าหน้าที่เข้าสู่ที่ประชุมเมื่อไหร่ และมีมติอย่างไร แต่ไม่ว่าจะมีมติให้สำนวนตกไป หรือมีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวน
ถือว่ากระบวนการจับทุจริตแบบ "ลับ ลวง พราง" ของทั้งอดีต ผอ.สพช. ตำรวจกองปราบฯ และ ป.ป.ช.ประสบความสำเร็จแล้ว
อย่าได้แปลกใจครับที่ดรรชนีการทุจริตคอร์รัปชั่นประเทศไทยจึงเสื่อมทรุดลงทุกปี จนเกือบเท่ากับพม่าและใกล้อูยูกานด้าเข้าไปทุกที