ที่มา มติชน
คอลัมน์ โครงร่างตำนานคน
โดย การ์ตอง
นักการเมืองหนุ่มผู้ผ่านประสบการณ์มายาวนาน ยังชี้ให้เห็นอีกว่า "ขณะที่สถานการณ์โลกเป็นแบบนี้ เรากลับมียุทธศาสตร์ที่ผิด ไม่เข้าใจความสำคัญของมิตรประเทศ เราพลาดเพราะใช้วิธีสร้างความขัดแย้ง และขยายความขัดแย้ง ความขัดแย้งนั้นแน่นอนบางส่วนเกิดจากการเดินทางไปเป็นที่ปรึกษาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกระทบความรู้สึกคน แต่ว่าก็ถูกขยายมากจนเกินไป ด้วยกระแสความคิดชาตินิยมแบบคับแคบ และค่อนข้างจะมีแนวโน้มไปในทางคลั่งชาติเพื่อประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะคือเพื่อที่จะทำลายคู่แข่งทางการเมือง และสร้างความนิยมให้กับตนเอง หากวันนี้เราไม่ร่วมกันต่อต้านกระแสคลั่งชาติ เราอาจเสียหายกว่านี้เยอะ การตัดสินใจของรัฐบาลเป็นเรื่องที่หาสาระไม่ได้ หากคิดจะกลับลำอย่างไรก็ขอให้รีบกลับ และสิ่งที่ควรทำตอนนี้คือตั้งหลัก ยืนบนผลประโยชน์ของประเทศ" นายจาตุรนต์กล่าว
ไม่ว่าใครก็ตามที่วางความคิดตัวเองไว้ที่ผลประโยชน์ของชาติ จะเห็นว่าคำเตือนของ "จาตุรนต์ ฉายแสง" มีคุณค่ายิ่ง
เพียงแต่น่าเสียดายยิ่ง ที่ฐานความคิดของนักการเมือง และคนไทยบางกลุ่มบางพวกขณะนี้ ฉาบทาด้วยความคิดเอาชนะคะคาน มุ่งหมายทำลายกันและกันจนไม่เปิดทางให้ปัญญาที่จะทำเพื่อผลประโยชน์โดยรวมของชาติ
ขณะที่เราเอ่ยอ้างประชาธิปไตย แต่กลับกลายเป็นว่าทิศทางที่แต่ละฝ่ายมุ่งส่อไปถึงแนวโน้มที่นำสู่ "อำนาจนิยม" มากกว่า
ประชาธิปไตยคือ การปกครองของประชาชน เพื่อประชาชน และโดยประชาชน
เป้าหมายอยู่ที่การเคารพการตัดสินใจของประชาชน มีความสงบเรียบร้อย การสร้างสังคมสันติสุขให้ประชาชนได้อยู่อาศัยเป็นเป้าหมาย
สังคมสันติสุขจะเกิดขึ้นได้คือ คนในสังคมนั้นมีจิตสำนึกที่จะให้ความเคารพกัน ถือว่าเป็นพวกเดียวกัน เป็นเพื่อนร่วมชาติ อยู่กันอย่างไม่หมิ่นแคลนกัน
ทว่าที่แห็นและเป็นไปในขณะนี้ก็คือ คนสองกลุ่มพยายามทุกวิถีทางเพื่อทำลายล้างกันและกัน
เอาความเป็นพวกเป็นความถูกต้อง แทนการรับฟังเหตุผลของกันและกัน
เหตุผลของฝ่ายตรงกันข้ามจะต้องถูกหักล้าง ถูกสร้างให้เป็นความเลวร้ายโดยไม่นึกที่จะยั้งคิด
เพื่อให้พวกตัวเองสู่ชัยชนะ ทำได้ทุกอย่างแม้กระทั่งไม่รับฟังเสียงของประชาชน กระทั่งไม่ต้องนึกถึงผลประโยชน์ของชาติ
สำนึกแบบนี้เป็น "พวกอำนาจนิยม" เพราะมุ่งแต่แสวงอำนาจให้พวกพ้องตัวเอง โดยไม่สนใจว่าจะสร้างหายนะให้สังคมให้ประเทศอย่างไร
ไม่มีแง่มุมไหนที่สะท้อนสำนึกแบบ "ประชาธิปไตย" ได้เลย
แม้จะมีการเลือกตั้งที่พอให้ความหมายว่า "โดยประชาชน" ได้ และมีนโยบายที่พอจะอ้างว่า "เพื่อประชาชน" อยู่ สำนึกเริ่มแรกของประชาธิปไตยคือ "ของประชาชน" นั้น นับวันยิ่งไม่มีพฤติกรรมใดของนักการเมืองที่สะท้อนว่ารักษาหลักการพื้นฐานนี้ไว้
การตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่ ถูกมองว่า "โง่เขลา ผิดพลาด" การเลือกของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ "นักอำนาจนิยม" ปฏิเสธ
ไม่มีประชาธิปไตยในประเทศที่ปฏิเสธอำนาจ "ของประชาชน" เพราะรัฐบาลเผด็จการของพวกอำนาจนิยม ก็สามารถสร้างภาพว่ามา "โดยประชาชน" และกำหนดนโยบาย "เพื่อประชาชน" ได้
เครื่องมือของ "อำนาจนิยม" ก็คือสร้าง "ชาตินิยมที่คับแคบ" สร้าง "ลัทธิคลั่งชาติ" ขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือทำลาย "อำนาจของประชาชน"