ที่มา ข่าวสด
วันที่ 15 เม.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิม พระเกียรติ 80 พรรษาฯ ถ.แจ้งวัฒนะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับ ผู้นำ 3 ศาสนา แถลงข่าว "เตือนสติประชาชนชาวไทย ให้ประชาชนทุกศาสนาช่วยกันคลี่คลาย สถานการณ์รุนแรงของบ้านเมืองให้สงบลง" ดังนี้
อมรา พงศาพิชญ์
ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
การเชิญผู้นำทั้ง 3 ศาสนามาแสดงความเห็นต่อสถานการณ์การชุมนุม เพื่อให้ข้อคิด ให้เห็นมุมมองทางศาสนาเพื่อชี้นำประชาชนให้ใช้สติวิเคราะห์สถานการณ์ ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ตรึงเครียดเพื่อหาทางออก เชื่อว่าข้อเสนอแนะทั้ง 3 ศาสนา จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยทั้งประเทศ
อิมรอน มะลูลีม
ประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้เป็นวิกฤตที่ต้องช่วยกันหาทางออก ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า อำนาจสำคัญในฝ่ายบริหารถือว่าล่มสลาย รัฐบาลต้องเร่ร่อนหาที่ประชุมตามสถานที่ต่างๆ ส่วนอำนาจตุลา การเวลานี้กำลังสั่นคลอน เพราะถูกประชาชนมองในแง่มุมต่างๆ นานา
สถาบันหลักทั้ง 3 สถาบัน คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นที่พึ่งของเราทุกคน สังคมไหนถ้าขาดความยุติธรรม ความสามัคคีจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน และไม่ว่าฝ่ายไหนต้องเคารพกฎหมาย ต้องทำให้กฎหมาย ศักดิ์สิทธิ์ แต่ต้องปราศจากจุดหมายปลายทาง ธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมที่ตุลาการต้องพิสูจน์ให้เห็น และทุกคนต้องยึดผลประโยชน์ชาติ
ในยุคที่มีการแข่งขันผลประโยชน์ของประเทศชาติต้องมาก่อน เช่น นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เชิญอดีตรมว.คลัง ของฝ่ายค้านมาทำหน้าที่ที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจการเงิน แสดงให้เห็นว่าการเมืองไม่ได้ยึดติดรูปแบบ มองในแง่ผลประโยชน์ของประเทศชาติ
ผู้นำต้องมีสติและสงวนจุดต่าง และมีจุดร่วม ผู้นำต้องมีคุณสมบัติอดทน
หลักศาสนาอิสลาม จะต้องตอบโต้ความชั่วร้ายด้วยความดี อย่าเอาไฟดับไฟ ต้องเอาน้ำดับไฟ เชื่อว่าสถาบันศาสนาจะช่วยแก้วิกฤตได้ เราต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ทางการเมือง ต้องยกเลิกมือตบตีนตบอย่างเด็ดขาด
และควรแก้กฎหมายการชุมนุมตามมาตรา 63 ให้เป็นแบบรัฐธรรมนูญของอังกฤษ ที่ต้องแจ้งว่าการชุมนุมจะมาชุมนุมเรื่องอะไร มีขอบเขตแค่ไหน ไม่ใช่ไร้เหตุผลแล้วนำไปสู่ความรุนแรง
ส่วนมาตรา 237 ที่ให้ยุบพรรคที่ผมเห็นว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย อย่าให้ความผิดของคนคนเดียวกลายเป็นผิดทั้งหมด เป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติ
- สถานการณ์ขณะนี้ถึงเวลาพิจารณารัฐบาลแห่งชาติหรือยัง
สิ่งไหนที่เป็นเรื่องดีต้องยอมรับ มองหาในสิ่งที่ดีแล้วนำมาใช้กับประเทศชาติ ส่วนตัวเห็นว่าจำเป็นแล้วที่ต้องมีรัฐบาลแห่งชาติ เพราะเวลานี้หมดทางเลือกแล้ว ฟังดูแล้วบางคนอาจเห็นว่าไม่เข้าท่า แต่ยืนยันว่าไม่มีทางไหนที่ดีกว่านี้แล้ว
ถ้าทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม มีส่วนตัดสินใจ มีความรับผิดชอบแล้วจะโทษใครไม่ได้ ประเทศไทยยังมีคนดีและคนเป็นกลางมีอีกเยอะ จึงอยากให้ทุกคนมาร่วมกันเสียสละ
แม้หลายคนคิดว่าการตั้งรัฐบาลแห่งชาติเป็นไปไม่ได้ แต่ผมยังเชื่อมั่นว่ายังทำได้ ถ้าท่านทั้งหลายเสียสละกันบ้าง ลดราวาศอกกันบ้าง ให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างจริงจัง ก็ทำได้
- เมื่อถามว่าการแก้ปัญหาต้องกลับมาสู่หลักนิติรัฐ คือให้ผู้ชุมนุมและคนที่อยู่ต่างประเทศ ยอมรับการดำเนินคดีหรือไม่
หากพูดในภาพรวมทุกคนต้องปฏิบัติตามกติกาให้ชาติบ้านเมืองเดินหน้าไปได้ แต่กฎกติกานั้นต้องมีความยุติ ธรรมชัดเจน 100% ผมคิดว่ากฎกติกาบ้านเราที่มีอยู่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง มองประโยชน์ของชาติเป็นหลัก กฎหมายมีทั้งหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ กฎหมายกำหนดขึ้นโดยมนุษย์ไม่ใช้พระเจ้า ดังนั้นโอกาสที่ผิดพลาดมีอยู่ตลอด
รัฐบาลก็ต้องยอมเพื่อชัยชนะในวันข้างหน้า อยากเตือนสติทั้งสองฝ่ายวันเวลาทำให้ความคิดของคนเปลี่ยนไปได้ ตอนนี้อาจต้องกลืนเลือดตัวเอง แต่ผมอยากเสนอให้ผู้มีอำนาจต้องทำก่อน
มุขนายกเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช
ประมุขอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
อยากเชิญชวนให้มาร่วมกันแสวงหาทางออก โดยเริ่มจากตัวเราก่อนในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง จึงขอให้ทุกคนมีเวลานอก ใช้ช่วงเวลา 18.00 น. ของทุกวันอธิษฐานแผ่เมตตาจิตร่วมใจในเวลาเดียวกัน เชื่อว่าการอธิษฐานภาวนาของคนไทยทุกคนจะทำให้สถานการณ์ของประ เทศไทยดีขึ้น คนจะมีสติมากขึ้น
การสูญเสียที่ผ่านมาไม่ควรนำกลับมาอ้างกันอีกแล้ว และไม่ควรหมดหวังที่จะหันหน้ากันมาพูดคุยเพื่อเจรจาหาทางออก ทุกฝ่ายต้องหยุดและหันมาทบทวนอีกครั้งเพื่อประเทศไทย หยุดเคลื่อนไหวใช้ความรุนแรงหันมาสู่การเจรจา โดยท่าทีที่ประนีประนอม
การเจรจาด้วยสันติวิธีเท่านั้นจะเป็นการแก้ปัญหา เชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะสามารถหาทางออกได้ด้วยการเจรจาครั้งที่ 3 ถ้าฝ่ายใดปฏิเสธการเจรจาไม่ยอมหยุด สังคมก็จะเห็นเองว่าใครเป็นผู้ก่อการร้าย การให้อภัยกันจะเป็นหนทางสู่การแก้ไขปัญหา
ข้อเสนอเรื่องนโยบายแห่งชาติเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ทำได้อยากให้สื่อกระจายข่าววันนี้ไปถึงประชาชนให้มาก เพื่อให้เข้าใจสิ่งดีที่เรากำลังทำกัน
พระธรรมโกศาจารย์
(ประยูร ธัมมจิตโต)
อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์เผชิญหน้ากัน มีผู้ถือนำรัฐฝ่ายหนึ่งและผู้ชุมนุมอีกฝ่ายหนึ่ง และที่น่าวิตกกังวลคือมีผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่ายกระจายไปทั่ว ถ้าเราไม่ตั้งสติแล้วทำลายพร้อมกันประเทศชาติก็ย่อยยับอับจน ชัยชนะที่ได้มาบนซากปรักหักพังของแผ่นดินจะมีประโยชน์อะไร ดั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยตรัสมาแล้วครั้งหนึ่ง
ไม่ว่าเราจะชนะเขาแพ้ หรือคนอื่นชนะเราแพ้ ซึ่งทั้งสองแบบนี้นำไปสู่ความเครียดแค้นชิงชัง ไม่ว่าฝ่ายไหนชนะก็จะผูกเวรกัน จองเวรกันไม่รู้จบ แม้ว่าจะมาให้ตั้งโต๊ะเจรจาก็ไปกันไม่ได้ และจะมาพูดว่าไม่พอใจ ใครทำใครก่อน ไม่ได้นึกถึงปัจจุบันว่ามันวิกฤตขึ้นแล้ว
ที่อาตมาอยากพูดและเป็นสิ่งที่พึ่งปรารถนา คือ ธรรมาธิปไตย หมายถึง ต่างฝ่ายต่างอะลุ้มอล่วย ถอยกันคนละก้าว การให้เขาชนะบ้าง เราชนะบ้าง มันก็ต้องยอมกันบ้าง
บางทียอมแพ้ศึกเพื่อชนะสงคราม ยอมแพ้แนวรบย่อยๆ แต่ส่วนรวมเหลือรอดไว้ ประเทศชาติอยู่รอด สถาบันอยู่รอด อาตมาว่าทั้งสองฝ่ายต้องมาตั้งสติเพื่อไม่ให้ไปสู่อาณาธิปไตย รักษาชาติบ้านเมืองเอาไว้ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าต่างฝ่ายต่างได้ ต่างฝ่ายต่างชนะ
ในสถานการณ์นี้มันถึงขั้นเสียหายถึงแก่ชีวิตและทรัพย์สินแล้วมันเข้าไปในวงจรของการจองเวร อาฆาต พยาบาท ทั้ง 3 ศาสนาอยากขอให้ตัดวงจรตรงนี้ด้วยการให้อภัยกัน เยียวยาบาดแผลที่อยู่ในจิตใจของกันและกัน อย่าเยาะเย้ยกัน ที่สำคัญคือแผ่เมตตา มองกันในแง่ดี
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวไว้ว่า ประ เทศไทยมีคุณธรรมที่รักษาความเป็นไทยอยู่ 3 ประการ คือ 1.ความรักอิสระ เสรี 2.อวิหิงสา คือ ความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งที่แตกต่างกัน และ 3.การประสานประโยชน์ ซึ่งคนไทยถนัดมาก ใครมีดีตรงไหนก็เอามาร่วมกัน มาช่วยกันทำ
คนไทยควรมาตั้งสติและแผ่เมตตา เพื่อไม่ให้เกิดความโกรธเกลียด ควรแผ่ความรักไปทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทางพุทธศาสนาจึงใช้คำว่า "สัพเพ สัพตา"
- รัฐบาลเผยแพร่คลิปที่มีการทำร้ายกันตลอด 24 ช.ม. เป็นการยั่วยุหรือไม่
เราก็รู้อยู่ว่ามีผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่าย เมื่อเราเห็นภัยการเผชิญหน้าแล้วบ้านเมืองมันย่อยยับ ควรตั้งสติและหาทางออกด้วยการเจรจาหรือมีวิธีอื่นๆ ทำก็ได้ซึ่งมีวิธีการทูต ล็อบบี้ก็ได้ และควรสร้างกระแสพลังเงียบให้เป็นทางเดียวกันแล้วมันก็จะถึงจุดที่ยุติลงได้
การไปสู่เป้าหมายให้สังคมไปรอด มีคำว่า "อุเบกขา" คือความไม่ลำเอียง และความเป็นกลางวางเฉย ซึ่งมี 2 แบบ คือ เฉย เพราะโง่ ทางพุทธเรียกว่า อัญญานุเบกขา เด็กคลานอยู่บนบ้านกำลังจะตก พระกำลังจะจำวัดเห็นแล้วไม่ช่วยยังนั่งเฉยๆ ไม่ทำอะไร ทางศาสนาไม่สอนอย่างนั้น
แต่ช่วยอย่างไร ช่วยไปซ้ำเติมก็เหมือนกับไม่ถูกต้อง ต้องช่วยด้วยปัญญาเตือนสติกัน พุทธศาสนาจึงมีคำว่า ญาณุเบกขา มีสติไม่ไปซ้ำเติมสถานการณ์ การที่แต่ละฝ่ายมาช่วยไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตามอาจมาช่วยเตือนสติสังคม หรือจะมาช่วยคนละไม้ละมือเป็นหน้าที่ของเรา
เพื่อไทย
Friday, April 16, 2010
ผู้นำ3ศาสนาเสนอทางแก้วิกฤต
คอลัมน์ รายงานพิเศษ