ที่มา ข่าวสด
ภาพลักษณ์ประเทศไทยเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดเหตุรุนแรงทางการเมืองในค่ำวันที่ 10 เม.ย. หลังจากลากยาวมากว่า 1 เดือนแล้ว
ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ประเมินจาก
ฐานะและความสามารถของรัฐบาลในแง่ของดุลการชำระเงินของประเทศ ความมีเสถียรภาพทางการเมือง ผลตอบแทนตราสารหนี้หรือพันธบัตรรัฐบาล การรักษาวินัยทางการคลังซึ่งวัดจากหนี้สาธารณะ ฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศเทียบกับหนี้ต่างประเทศ ความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศด้านการค้า การส่งออก โครงสร้างในภาคการเงิน สภาพคล่องต่างประเทศ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เป็นต้น
ตัวชี้วัดข้างต้นเป็นเครื่องมือในการวัดความเสี่ยงของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของต่างชาติ
โดยพิจารณาได้จากอันดับความน่าเชื่อถือจะแสดงเป็นสัญลักษณ์ตัวอักษรที่มีความหมายต่างๆ ดังนี้
AAA อันดับเครดิตสูงที่สุด มีความเสี่ยงต่ำที่สุดที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
AA อันดับเครดิตรองลงมา และถือว่ามีความเสี่ยงต่ำมากที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
A ความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ
BBB ถือว่ามีความเสี่ยงและความสามารถในการชำระหนี้ในระดับปานกลาง
BB มีความเสี่ยงในระดับสูง
B มีความเสี่ยงในระดับสูงมาก
C มีความเสี่ยงในระดับสูงที่สุด
D อยู่ในสถานะของการผิดนัดชำระหนี้
ตอนนี้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือในโลกที่ได้รับความไว้วางใจมากที่สุด ได้แก่ สแตนด์ดาร์ด แอนด์ พัวร์ หรือเอสแอนด์พี, มูดีส์ อินเวสเตอร์เซอร์วิส และฟิตช์ เรตติงส์ ให้น้ำหนักความเสี่ยงต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยโดยพุ่งเป้าไปที่ปัญหาการเมืองเป็นหลัก
นายคิม เอง ตัน นักวิเคราะห์ของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เอสแอนด์พี ระบุว่า การประท้วงที่รุนแรงในกรุงเทพฯ เป็นสัญญาณไม่ดีนักสำหรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทย
โดยไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้สกุลเงินบาทของไทยจาก A ลงสู่ A- ตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีที่แล้ว แต่มีแนวโน้มเชิงลบเช่นเดียวกับอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศของไทยคงไว้ที่ BBB+
ขณะที่ ฟิตช์ เรตติงส์ ที่จัดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศของไทยไว้ที่ BBB และจัดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้สกุลเงินบาทไว้ที่ A-
โดยมีแนวโน้มมีเสถียรภาพ ก็จ้องจะลดเครดิตลง
นายวินเซนต์ โฮ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายอันดับเครดิตประเทศในเอเชีย สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือฟิตช์ เรตติงส์ ให้เหตุผลว่า
ขณะนี้มีความกังวลว่ากระแสเงินทุนไหลเข้าจะมีเข้ามาอีกหรือไม่หลังเกิดเหตุปะทะกัน ผลตอบแทนพันธบัตรลดลง ฐานะการคลังของไทยย่ำแย่ลงนับตั้งแต่เศรษฐกิจโลกเริ่มถดถอย
ช่วงกลางเดือนพ.ค.นี้ มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส อีกหนึ่งในบริษัทประเมินใหญ่จะเข้ามาเก็บข้อมูลของไทย เพื่อทบทวนอันดับเครดิตของประเทศประจำปี
หากมูดีส์ปรับลดเครดิตความน่าเชื่อถือของไทยจะมีผลกระทบค่อนข้างมากทั้งในแง่การลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศทั่วโลก
ส่งผลให้ต้นทุนการกู้เงินของรัฐและเอกชนสูงขึ้น
เพื่อไทย
Saturday, April 17, 2010
เครดิตไทย
คอลัมน์ คอลัมน์ที่13