ที่มา ข่าวสด
คาดเชือก คาถาพัน
รอยแผลจากวันที่ 10 เมษายนคงจะติดตัวและหัวใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อไปอีกนาน
แต่ทั้งหมดนี้ ยังขึ้นกับว่า นายอภิสิทธิ์ จะตัดสินใจอย่างไรกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนี้
ตอนขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่สวยงามนัก
มาถึงตอน "ลง" ถ้าไม่สวย ไม่สง่างามอีก ก็น่าเสียดาย
เหตุการณ์ 10 เมษายน จะพิสดารซับซ้อนอย่างไรเป็นเรื่องของราชการประจำต้องไปสอบสวน
แต่ความรับผิดชอบทางการเมืองเป็นของนายกรัฐมนตรีแบบเต็มๆ
ตลอดเวลา 1 เดือนเศษที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ออกทีวี แสดงตัวเป็นผู้ดูแลสถานการณ์
ถ้าเหตุการณ์สงบเรียบร้อย ก็รับเครดิตไป แต่เมื่อไม่เรียบร้อย เกิดการล้มตายอย่างที่เห็น
ทางเลือกเหลือไม่มากนัก คือ ลาออก กับยุบสภา
ถ้าลาออก พรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องสรรหานายกฯ คนใหม่ จัดแจงเรื่องราวต่างๆ แล้วยุบสภา
หรืออีกทาง นายกฯ อภิสิทธิ์เป็นผู้ยุบสภาเอง
กรณีหลังคงมีความยุ่งเหยิงตามมาอีกมาก
ถึงได้บอกว่า สถานการณ์ต่อไปนี้ ส่วนหนึ่งอยู่ที่การตัดสินใจของนายกฯ อภิสิทธิ์
มองในแง่ตัวคน ก็น่าเสียดาย ที่คนหนุ่มอนาคตไกลอย่างนายกฯ อภิสิทธิ์ ต้องมาเจอเรื่องร้ายแรงแบบนี้
อาจถึงขั้นหมดอนาคตทางการเมืองได้ง่ายๆ
แต่ผลทั้งหลายย่อมมาแต่เหตุ มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้สถานการณ์เดินมาถึงจุดที่ย้อนกลับไม่ได้อย่างในขณะนี้
การตัดสินใจของนายกฯ อภิสิทธิ์หลายเรื่องในอดีตดูจะมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการตั้งผบ.ตร.ที่ยืดเยื้อมาจนบัดนี้ การเจรจากับเสื้อแดงแล้วไปนั่งทุ่มเถียงออกทีวี มาจนถึงการสลายม็อบในครั้งนี้
อดีตนายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา ถึงกับออกปากบอกว่า นายกฯ คนนี้แปลก ไม่คุยกับใคร นอกจากกลุ่มวอลเปเปอร์ไม่กี่คน
ตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ คอขาดบาดตายกันอยู่ในวงเล็กๆ แคบๆ
แต่ที่จริง ยังมีอีกกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจของนายกฯ อภิสิทธิ์
คือกลุ่มคนชั้นสูงที่มีความคิดตกขอบ ดูเหมือนยิ่งใหญ่ แต่บทบาทและอำนาจกำลังถดถอย
นายกฯ อภิสิทธิ์อายุน้อย ต้นทุนทางสังคมสูง อาจจะเป็น "ความหวัง" ของกลุ่มนี้ที่จะใช้เป็นตัวแทนรักษาอำนาจของตนเอง
เลยกอดคอกัน "ตกโลก" ไปด้วยกัน
เวลาในอำนาจที่เหลือไม่กี่วัน นายกฯ ลองฟังเสียงที่ไม่เคยฟังดูบ้าง
แล้วจะรู้ว่า "ทางสว่าง" มีจริง
เพื่อไทย
Saturday, April 17, 2010
ลาออก-ยุบสภา
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม