ที่มา ประชาไท หากการเมืองบนท้องถนนคือหนึ่งในศาสตราของผู้ด้อยอำนาจ (weapons of the weak) การฆาตกรรมรวมหมู่คือหนึ่งในศาสตราของผู้มีอำนาจมั่งคั่ง (weapons of the wealth) ชนชั้นนำทั่วโลกใช้การฆาตกรรมรวมหมู่อยู่เสมอๆ หากแต่เงื่อนไขที่ทำให้รัฐประสบผลสำเร็จหรือประสบภาวะล้มเหลวจากการใช้การฆาตกรรมรวมหมู่ เกิดจากปัจจัยของโครงสร้างอำนาจที่แตกต่างกันไป ผู้เขียนเชื่อว่าการถกเถียงทำความเข้าใจการฆาตกรรมรวมหมู่โดยรัฐ อาจช่วยหาหนทางคลี่คลายวิกฤติในขณะนี้ได้บ้าง รัฐไทยใช้การฆาตกรรมรวมหมู่ในการปกครองมาโดยตลอด แต่การฆาตกรรมรวมหมู่โดยรัฐไทยหลายต่อหลายครั้งมิได้ส่งผลต่อผู้มีอำนาจในทิศทางเดียวกันเสมอไป คำถามคือ เงื่อนไขใดที่ทำให้การฆาตกรรมรวมหมู่โดยรัฐไทยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาล เงื่อนไขใดที่การฆาตกรรมรวมหมู่ได้รับการยอมรับจากคนทั้งสังคม และทำไมรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจึงยังคงอยู่ในอำนาจได้ แม้จะก่อการฆาตกรรมรวมหมู่ขึ้นใจกลางกรุงเทพฯ มาแล้วครั้งหนึ่ง ประโยคที่ว่า “รัฐบาลอยู่ไม่ได้หากมีผู้ชุมนุมตาย” เคยเป็นเสมือนทฤษฎีการเคลื่อนไหวมวลชนในสังคมไทยมาช้านาน ผู้ที่ยึดมั่นในทฤษฎีนี้มักจะอ้างการเปลี่ยนแปลงหลังจากการฆาตกรรมรวมหมู่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 (ซึ่งหลายคนยังคงตั้งข้อสังเกตว่า การบาดเจ็บล้มตายในเหตุการณ์นั้นอาจจะเกิดขึ้นจากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย) การตายในการชุมนุมทางการเมืองที่ส่งผลให้ต้องเปลี่ยนรัฐบาลครั้งต่อๆ มาคือการฆาตกรรมรวมหมู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 และการฆาตกรรมรวมหมู่ในเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 จนในที่สุดหลายคนปักใจเชื่อกันไปแล้วว่า หากเกิดการตายในการชุมนุมทางการเมือง จะนำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาล การเร่งเร้าให้เกิดการฆาตกรรมรวมหมู่ (ไม่ว่าจะจากฝ่ายใด) กลายเป็นทฤษฎีการเคลื่อนไหวมวลชนที่เหมือนกับจะเชื่อกันว่า “ต้องเสี่ยงให้มากที่สุด จึงจะได้ชัยชนะ” แต่คงไม่ลืมกันว่า ในการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลคราวรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปี 2551(แม้จะไม่สามารถนับได้ว่าเป็นการฆาตกรรมรวมหมู่อย่างชัดเจน เพราะกำลังตำรวจในวันนั้นไม่ได้ใช้อาวุธสงคราม) การตายของผู้ร่วมชุมนุมพันธมิตรฯ เมื่อ 7 ตุลาคม 2553 ก็มิได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทันทีทันใด และเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 การตายของผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. (ที่เป็นผลมาจากการใช้อาวุธสงคราม ด้วยกำลังทหารอย่างชัดเจน) ก็มิได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทันทีทันใด การที่การฆาตกรรมรวมหมู่จะนำไปสู่เปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองในประเทศไทยได้หรือไม่ น่าจะต้องพิจารณาเงื่อนไขสามประการคือ ประการแรก ผู้ตายต้องมีค่าทางการเมือง ต้องเป็นการตายที่มีศักดิ์ศรีเพียงพอในสายตาของชนชั้นนำทางอำนาจ (รวมทั้งชนชั้นกลางกระแสหลักในสังคมไทย ที่พร้อมร่วมฆ่ารวมหมู่ทั้งโดยวาทกรรมและโดยกายกรรม) การฆาตกรรมรวมหมู่โดยรัฐไทยที่ผ่านมาหลายต่อหลายครั้งจึงไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลทุกกรณีไป เพราะคนที่ตายไม่ได้ถูกให้ค่าเท่ากันทุกกรณี ความตายของคนจึงมีค่าไม่เท่ากัน การฆาตกรรมรวมหมู่ในรัฐไทยแต่ละครั้งจึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่แตกต่างกัน สำหรับชนชั้นนำและชนชั้นกลางกระแสหลัก หากคนที่ตายไปเป็นคนไร้ค่า เป็นขี้ข้า เป็นเนื้อร้าย เป็น“ญวน” เป็นผู้ทำลายระเบียบสังคม เป็นคนบ่อนทำลายชาติ เป็นคนมุ่งล้มล้างสถาบัน เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นศัตรูของชาติ เป็นผู้ก่อการร้าย การฆาตกรรมแม้จะใจกลางเมืองหลวงก็จะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใดๆ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีพลับพลาไชย กรกฎาคม2517 หรือที่ไกลศูนย์กลางคือกรณีตากใบ จังหวัดนราธิวาสเมื่อปี 2547 ในกรณีของผู้ชุมนุม นปช. แม้ว่าคนเหล่านี้จะถูกตีตราให้ด้อยค่าด้วยวาทกรรมเหล่านั้นทั้งหมด แต่การฆาตกรรมรวมหมู่ก็ไม่ได้รับการรับรองว่าชอบธรรมโดยสิ้นเชิง ผิดกับกรณีตากใบเมื่อปี 2547 ที่การตายของคนเหล่านั้นไม่ได้มีคุณค่าเพียงพอในสายตาของชนชั้นนำและชนชั้นกลาง ประการที่สอง หากเกิดการเปลี่ยนแปลงหลังการฆาตกรรมรวมหมู่โดยรัฐ อำนาจที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นการดำเนินการของอำนาจพิเศษในสภาวะยกเว้นจากการใช้กฎหมาย งดเว้นจากหลักนิติรัฐในระบอบประชาธิปไตย ผู้นำทางการเมืองที่ก่ออาชญากรรมรวมหมู่จะถูกอำนาจพิเศษชนิดนี้จัดการ เช่น เกิดการรัฐประหาร หรือเกิดนาฏรัฐแสดงอำนาจบารมีพิเศษบนจอโทรทัศน์ กรณี 14 ตุลา 16 และพฤษภา 35 อำนาจพิเศษทำงานด้วยการหยุดยั้งคู่กรณี แล้วถ่ายโอนอำนาจจากผู้นำทางการเมืองคนเก่าไปสู่ผู้นำทางการเมืองคนใหม่ ที่ก็ยังอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำเดิม จากนั้นจึงเริ่มกระบวนการประชาธิปไตยแบบปกติใหม่ กรณี 6 ตุลา 19 การรัฐประหารหลังเหตุการณ์ฆาตกรรมรวมหมู่ที่ธรรมศาสตร์เป็นการเปลี่ยนถ่ายอำนาจที่เป็นการงดเว้นจากระบอบประชาธิปไตยเช่นกัน เพียงแต่การงดเว้นจากระบอบประชาธิปไตยนั้นต่อเนื่องยาวนานกว่าสองกรณีข้างต้น ที่สำคัญคือ หากการฆาตกรรมรวมหมู่โดยรัฐจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงนั้นก็เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงภายในศูนย์กลางอำนาจ ขั้วอำนาจเก่ายังอยู่ แต่เปลี่ยนเฉพาะตัวแสดง จึงไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง โครงสร้างอำนาจทางการเมืองยังคงเป็นอย่างเดิม ดังปรากฏว่าผู้นำที่ก่ออาชญากรรมรวมหมู่ก็ไม่เคยถูกลงโทษแต่อย่างใด แถมบางคนยังได้รับการยกย่องในสังคมด้วยซ้ำ ประการที่สาม กรณีที่เกิดการตายอย่างมีศักดิ์ศรี มีค่าทางการเมือง แต่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทันทีทันใด อาจเพราะเกิดความแตกแยกอย่างร้าวลึกในชนชั้นนำทางอำนาจเอง แสดงว่าในขณะนั้น สังคมการเมืองไทยไม่มีขั้วอำนาจใดสามารถยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ในอันที่จะใช้สภาวะยกเว้นจากระบอบประชาธิปไตยมาดำเนินการกับผู้ก่อการฆาตกรรมรวมหมู่ได้ อำนาจพิเศษไม่อาจทำงานได้ก็เพราะไม่มีอำนาจยกเว้นที่สูงสุด ที่เห็นได้ชัดคือกรณี การบาดเจ็บและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และการฆาตกรรมรวมหมู่โดยรัฐในวันที่ 10 เมษายน 2553 ทั้งสองเหตุการณ์นั้นกระทำโดยรัฐบาลที่มาจากคนละขั้วขัดแย้งทางการเมืองภายในระยะเวลาต่างกันไม่นานนัก ความตายในทั้งสองกรณีก็ “มีค่าทางการเมือง” ในสายตาของชนชั้นนำทางอำนาจในแต่ละฝ่ายไม่น้อยไปกว่ากัน อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงหลังเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 อาจนับได้ว่ามีการแทรกแซงจากอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย เพราะการตายของผู้ชุมนุมได้รับการยกย่องจากชนชั้นนำทางอำนาจว่าเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงอาจส่งผลให้เกิดการเร่งรัดให้ดำเนินการยุบพรรครัฐบาลอย่างกระทันหัน เมื่อกลุ่มพันธมิตรฯยึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 แต่สำหรับกรณีของสถานการณ์ทางเมืองในปัจจุบัน การฆาตกรรมรวมหมู่โดยรัฐที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อวันที่ 10 เมษา 53 อาจไม่ได้มีค่าในสายตาชนชั้นนำทางอำนาจเทียบเท่ากับกรณี 7 ตุลา 51 อำนาจพิเศษ จึงไม่จำเป็นต้องสร้างสภาวะยกเว้นจากระบอบประชาธิปไตยเพื่อเข้ามาแทรกแซงด้วยวิธีพิเศษ แม้กระนั้น การตายของผู้ชุมนุม นปช. ก็มิได้ด้อยค่าจนไร้อำนาจต่อรองดังกรณีพลับพลาไชยปี 17 หรือกรณีตากใบปี 47 เป็นไปได้ที่การเปลี่ยนแปลงหลังเหตุการณ์ 10 เมษา 53 จะเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับกรณี 6 ตุลา 19 ซึ่งผู้ถูกฆาตกรรมรวมหมู่กลายเป็นคนไร้ค่าในสายตาชนชั้นนำทางอำนาจ แต่ยังคงมีค่าพอแก่การเปลี่ยนผู้นำทางการเมืองโดยไม่มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ ด้วยการรัฐประหารหรือวิธีการอื่นใดที่แยบยลยิ่งกว่า แต่การเลือกเดินทางนั้นก็อาจจะเสี่ยงเกินไปสำหรับชนชั้นนำที่กุมอำนาจในขณะนี้อยู่ เนื่องจากภายในชนชั้นนำเองอาจจะไม่ได้มีเอกภาพในการยอมรับสภาวะยกเว้นนั้นอย่างพร้อมเพรียงกัน หนทางที่ยังเหลืออยู่ในออกจากเส้นทางที่จะนำไปสู่การฆาตกรรมรวมหมู่โดยรัฐอีกครั้งหนึ่งในขณะนี้มีไม่มาก หนึ่ง หลังจากที่รัฐบาลปัดข้อเสนอเชิงประนีประนอมของผู้ชุมนุม นปช. แล้ว ผู้ชุมนุมและรัฐบาลอาจยื้อกันไปเรื่อยๆ เพื่อรอผลคดียุบพรรค แต่ในระหว่างนี้ สายเหยี่ยวของทั้งสองฝ่ายอาจเร่งเกมด้วยการเพิ่มระดับความรุนแรงของการกดดัน ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วด้วยการก่อวินาศกรรมสถานที่และชีวิตผู้คน ที่รุนแรงที่สุดคือเมื่อ 22 เมษายนที่ผ่านมา สอง แต่หากในระหว่างรอผลการตัดสินอยู่นี้ รัฐบาลยังดื้อดึงที่จะใช้การฆาตกรรมรวมหมู่ ความตายของผู้ชุมนุม นปช. ก็อาจจะไร้ค่าเพียงพอที่ชนชั้นนำทางอำนาจจะนิ่งดูดายได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาความมั่นคงของโครงสร้างอำนาจแบบเดิมไว้ การเลือกของผู้ชุมนุมที่จะถูกฆาตกรรมรวมหมู่โดยรัฐไทย ด้วยความหวังที่จะพลิกศาสตราของผู้มีอำนาจให้กลายเป็นศาสตราของผู้ด้อยอำนาจ แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจหลังการฆาตกรรมรวมหมู่ ก็อาจจะเป็นการคาดเดาที่ผิดพลาด สาม เมื่อเริ่มเห็นอยู่รำไรว่าความตายของผู้ชุมนุมจะไร้ราคาแก่การต่อรอง การยุติการชุมนุมโดยสมัครใจของผู้ชุมนุมนปช.และการมอบตัวของแกนนำอาจเป็นอีกหนทางหนึ่งของชัยชนะเหนือการฆาตกรรมรวมหมู่โดยรัฐ ด้วยวิธีการอันสันติ เพื่อผลแห่งการเปลี่ยนแปลงการฆาตกรรมอย่างแท้จริงในระยะยาว