ที่มา ข่าวสด
นำมาสู่ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินครั้งใหญ่และรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
เฉพาะตัวเลขคนตายและบาดเจ็บ
ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ผ่านเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10, 22 และ 28 เม.ย. จนถึงวันที่ 19 พ.ค.
ยอดตายทะลุหลัก 80 เจ็บอีกเกือบ 2,000 คน
รัฐบาลที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ สร้างสถิติเลือดของตนเองขึ้นใหม่ ทุบสถิติเหตุการณ์ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 และพฤษภา 35 กระจุยกระจาย
ยกระดับขึ้นเป็นรัฐบาลมือเปื้อนเลือดยิ่งกว่ารัฐบาลใดๆ ที่ประเทศไทยเคยมีมา
หนักหนาสาหัสไปกว่านั้นคือถึงแม้แกนนำนปช.จะประกาศยุติการชุมนุม และทยอยมอบตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ขณะที่บางส่วนอยู่ระหว่างหลบหนีหัวซุกหัวซุน
แต่เหตุการณ์ความวุ่นวายยังคงเดินขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มีการเผาทำลายห้างสรรพสินค้า ธนาคาร สถานที่ราชการหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จนรัฐบาลต้องประกาศ "เคอร์ฟิว" เพื่อจัดการกับสถานการณ์
เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นว่าสงครามครั้งนี้ยังไม่จบลงง่ายๆ
ทั้งยังมีแนวโน้มจะขยายวงออกไปทั้งทางกว้างและทางลึก
หลังเกิดเหตุจลาจลทั่วเมืองและมีคนตายเจ็บจำนวนมาก
รัฐบาลโดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือศอฉ. ได้ประกาศ "เคอร์ฟิว" เสริมจากพระราชการกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
สั่งห้ามประชาชนออกนอกบริเวณที่พักอาศัยตอนกลางคืนในช่วงเวลาที่กำหนด
พูดง่ายๆ คือ "ปิดตาย" พื้นที่กรุงเทพฯ และอีก 23 จังหวัดพร้อมกันเป็นเวลา 4 วัน ช่วง 3 ทุ่มถึงตี 5
สื่อมวลชนทุกสำนักถูกไล่กลับบ้าน หรือไม่ก็ให้อยู่แต่ในที่ทำงานห้ามออกไปปฏิบัติหน้าที่สืบเสาะข้อมูลข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น
เปิดทางให้เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจเข้าเคลียร์พื้นที่กันเองโดยสะดวกเป็นเวลา 8 ชั่วโมงเต็ม
ผลลัพธ์คือเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัย และตรวจค้นเจออาวุธสงครามจำนวนมาก ทั้งปืน เครื่องกระสุน เครื่องยิงระเบิด และลูกระเบิดร้ายแรง
ทิ้งไว้เกลื่อนกลาดตามสถานที่ซึ่งเคยเป็นแหล่งชุมนุมคนเสื้อแดง
ไหลไปตามท้องเรื่องที่ นายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกรัฐบาล และพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศอฉ. ยึดสื่อทีวีทุกช่องออกแถลงข่าวมันปากอยู่ฝ่ายเดียวว่า
หลักฐานทุกอย่างสอดรับกับพฤติกรรมการ "ก่อการร้าย" ของกลุ่มกองกำลังที่แฝงตัวอยู่ในผู้ชุมนุม
ตัวการใหญ่ที่ก่อเหตุเผาบ้านเผาเมืองไล่เข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์
แล้วโยนความผิดให้รัฐบาล
นานกว่า 2 เดือนก่อนถึงวันประวัติศาสตร์
การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 12 มี.ค. เป้าหมายเดียวคือการเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่
ในทางการเมืองนั้นการยุบสภาถือเป็นแนวทางหนึ่ง ในการตัดสินปัญหาความขัดแย้งตามระบอบประชาธิปไตย
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลซึ่งอ้างว่าตนเองมาตามระบอบประชาธิปไตยต้องเปิดกว้างรับฟัง
แต่ดูเหมือนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ กลับไม่เข้าใจหลักการดังกล่าวทั้งที่ไม่ได้เป็นเรื่องสลับซับซ้อนอะไรเลย
เมื่อเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมต่อต้าน รัฐบาลได้แก้ปัญหาด้วยวิธีการที่เลยเถิด พยายามใช้กำลังความรุนแรงเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมครั้งแล้วครั้งเล่า
เมื่อได้รับการท้วงติงจากกลุ่มองค์กรสันติวิธี แทนที่จะหยุดยั้งฟังเสียงเตือน แล้วหันกลับไปใช้การเจรจาสันติวิธีเป็นทางออก
รัฐบาลกลับเพิ่มดีกรีความรุนแรงเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม
กล่าวหาเป็นกลุ่ม "ผู้ก่อการร้าย" ที่รับแผนมาจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และต้องการ "ล้มล้างสถาบัน" จำเป็นต้องใช้วิธีปราบปรามให้สิ้นซาก
ก่อนเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค. ส.ว.บางกลุ่มรับอาสาเป็นตัวกลางประสานการเจรจา ถึงขนาดส่งตัวแทนไปจับเข่ากับแกนนำนปช.ถึงหลังเวทีการชุมนุม
เพื่อหยุดยั้งสถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
แต่ก็ช้าไปเพียงเสี้ยวนาที
ปฏิบัติการสลายม็อบคนเสื้อแดงจนมีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นใบไม้ร่วง จึงไม่ใช่แค่เรื่องการ "หักหลัง" อย่างที่กลุ่มส.ว.ออกมาโวยวายเท่านั้น
แต่ยังเป็นการทุ่มเดิมพันครั้งสุดท้ายของนายอภิสิทธิ์เองอีกด้วย
ภายหลังเหตุการณ์ 19 พ.ค. แน่นอนว่าแกนนำนปช.จะต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม รวมไปถึงผู้ที่สร้างความหายนะให้กับบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังฝ่ายใดก็ตาม
แต่ข้อสงสัยก็คืออะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังทำให้นายอภิสิทธิ์ ไม่ลังเลใจแม้แต่น้อยในการเอาชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนจำนวนมากเป็นเครื่องสังเวยความอยู่รอดของตนเองและรัฐบาล
นักวิเคราะห์การเมืองที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุการณ์ เชื่อว่าอาจเป็นทหารที่ต้องการให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ อยู่ต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการโยกย้ายในกองทัพเดือนก.ย.นี้
เพราะไม่เช่นนั้นรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ น่าจะหลุดจากอำนาจไปตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. แล้ว
แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ 19 พ.ค. ด้วยความสูญเสียที่มากเกินไปจนกระทบต่อเกียรติภูมิของกองทัพอย่างรุนแรงไม่ต่างจากภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535
ก็เป็นไปได้ที่กองทัพจะตัดสินใจลอยแพนายอภิสิทธิ์
แล้วเลือกให้บุคคลที่สังคมยอมรับขึ้นมารักษาการแทน เพื่อสานต่อแผนโรดแม็ป 5 ข้อที่นายอภิสิทธิ์ริเริ่มไว้ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ แต่จะเมื่อไหร่ยังไม่กำหนดชัดเจน
เนื่องจากทางออกตอนนี้จำเป็นที่สุดคือต้องเอานายอภิสิทธิ์ ออกจากอำนาจให้ได้ก่อน
ไม่เช่นนั้นแผนปรองดองก็ไม่มีทางเดินหน้าต่อไปได้
และยังอาจทำให้วิกฤตลุกลามไปถึงจุดที่คนไทยไม่นึกฝันมาก่อน
เพื่อไทย
Sunday, May 23, 2010
ต้องลาออก ก่อนปรองดอง
ปฏิบัติการกระชับวงล้อมขอคืนพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553