WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, March 9, 2011

สฤณี อาชวานันทกุล: กลไกกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต และปัญหาในไทย (1)

ที่มา ประชาไท

ในยุคที่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนทั่วไปจนแทบจะจินตนาการไม่ได้ว่าชีวิตที่ขาดกูเกิล วิกิพีเดีย เฟซบุ๊ก และอีเมลนั้นเป็นฉันใด และในเมื่ออินเทอร์เน็ตเป็นทั้งสังคม เทคโนโลยี สื่อ และพื้นที่ส่วนตัวที่เป็นสาธารณะ (ตามการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว) คำถามหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันมากขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนผู้ใช้เน็ต คือคำถามที่ว่า เราควรกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตอย่างไร เพื่อให้มันเป็นสังคมที่เราอยากเห็น สร้างประโยชน์และลดโทษให้เหลือน้อยที่สุด

ลอว์เรนซ์ เลสสิก (Lawrence Lessig, http://www.lessig.org) ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายและอินเทอร์เน็ต นักรณรงค์ “วัฒนธรรมเสรี” และผู้คิดค้นสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ อธิบายว่ากลไกที่กำกับดูแลสังคมอะไรก็ตามไม่ได้มีแต่กฎหมายเท่านั้น แต่ยังมีกลไกอื่นที่เราอาจมองไม่เห็นหรือไม่รู้สึกว่ามีอยู่ เขาบอกว่ามีกลไก 4 ประเภทที่กำกับอินเทอร์เน็ต ได้แก่

กฎหมาย (law) – หมายรวมตั้งแต่กฎหมายไปจนถึงระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย โดยมากรัฐเป็นผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย แต่บางกรณีกฎหมายอาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกำกับดูแล เช่น กฎหมายอินเทอร์เน็ตของมาเลเซียมอบหมายให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) มีอำนาจจัดการกับเนื้อหาเอง (self-regulation) โดยใช้ชุดหลักเกณฑ์เดียวกันทุกค่ายที่โปร่งใสและไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้เน็ต

กลไกตลาด (market) – หมายถึงกลไกตลาดที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของอินเทอร์เน็ต รวมถึงธรรมเนียมธุรกิจ (business norms) ด้วย เช่น โครงสร้างอุตสาหกรรมโทรคมนาคม สภาวะการแข่งขันในธุรกิจโฮสติ้ง นโยบายการเก็บข้อมูลผู้ใช้ของไอเอสพีแต่ละราย ฯลฯ

ค่านิยม (social norms) – หมายถึงค่านิยมและจารีตในสังคมที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้เน็ตที่ชอบโพสข้อความ “หาเรื่อง” คนอื่นโดยไม่มีเหตุผล (หรือที่เรียกกันว่า “เกรียน”) บนกระดานสนทนา (เว็บบอร์ด) อาจถูกสมาชิกคนอื่นรุมประณามหรือขับไล่ออกจากเว็บบอร์ดนั้นๆ ได้

สถาปัตยกรรม (architecture) – เลสสิกอธิบายว่าหมายถึง “โค้ด” (code) คอมพิวเตอร์ทุกชนิดที่ถูกเขียนขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ เงื่อนไขหรือข้อจำกัดทางเทคนิค เช่น ซอฟต์แวร์ปิดกั้นเว็บไซต์ หรือโปรโตคอลทีซีพีไอพี (TCP/IP คือชุดเกณฑ์ทางเทคนิคสำหรับการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต)

ประเด็นหลักของเลสสิกที่เขาพยายามชี้ให้เห็นมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 สมัยที่เว็บยังไม่ได้รับความนิยมมหาศาลอย่างในปัจจุบัน คือข้อเท็จจริงที่ว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างไร้ประสิทธิภาพในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต เนื่องจากธรรมชาติ “เปิด” ของอินเทอร์เน็ตสนับสนุนการส่งข้อมูลอย่างเสรี ไม่สนับสนุนอะไรก็ตามที่กีดขวางการส่งข้อมูล

ยกตัวอย่างเช่น ต่อให้ศาลออกหมายศาลให้ปิดกั้นเว็บ เจ้าของเว็บไซต์ก็สามารถไปสร้างที่อยู่ (URL) ใหม่ได้ภายในเสี้ยวนาที ส่วนผู้ใช้ก็สามารถเข้าถึงเนื้อหาเดิมได้ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์หลบเลี่ยงต่างๆ หรือพร็อกซีเซิร์ฟเวอร์ ทำให้คำสั่งปิดกั้นของศาลแทบไม่เป็นผลเลย อีกตัวอย่างหนึ่งคือ สมมติว่าเราอยากเปลี่ยนวิธีการคุยกันผ่านเน็ต เพราะกลัวว่าอีเมลจะถูกสกัดกั้น หรือเพราะอยากลองของใหม่ เราก็สามารถติดตั้งโปรแกรมอีเมลใหม่ หรือใช้บริการอย่างสไกป์ (Skype) ซึ่งทำให้เราได้ยินเสียงกันได้ด้วย เท่ากับว่าการที่เรามีสิทธิเลือกวิธีและช่องทางการสื่อสาร ทำให้เรามีเสรีภาพในการแสดงออก ไม่มีใครสามารถบังคับให้เราต้องใช้โปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่งได้

เลสสิกชี้ว่า กลไกกำกับดูแลประสิทธิภาพสูงที่เข้ามาทดแทนความด้อยประสิทธิภาพของกฎหมาย คือสถาปัตยกรรมหรือโค้ด ด้วยเหตุนี้เขาจึงประกาศว่า “code is law” (โค้ดคือกฎหมาย) และในเมื่อโค้ดคือกฎหมาย เราจึงต้องติดตาม ทบทวน และแก้ไขปรับปรุงทั้งตัวโค้ดและตัวบทกฎหมายที่แท้จริงอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ใครเขียนโค้ดที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้เน็ต

สิทธิเสรีภาพของผู้ใช้เน็ตควรมีความแตกต่างจากสิทธินอกเน็ตหรือไม่? แดนนี โอไบรอัน (Danny O’Brien) ผู้เชี่ยวชาญอินเทอร์เน็ตจาก Electronic Frontier Foundation (http://www.eff.org/) องค์กรที่รณรงค์เสรีภาพอินเทอร์เน็ต (ปัจจุบันเขาย้ายไปอยู่ Committee to Protect Journalists – ติดตามได้จากบล็อก http://www.cpj.org/internet/) เคยกล่าวในงานสัมมนาของเครือข่ายพลเมืองเน็ต ปี 2552 ว่า “ในแง่หนึ่ง สิทธิในการใช้อินเทอร์เน็ตก็ไม่ควรจะแตกต่างจากการใช้สื่ออื่นๆ ที่เราเคยใช้กันมา ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์หรือโทรศัพท์ เพราะถือเป็นเสรีภาพในการแสดงออกผ่านสื่อ ดังนั้นจึงควรถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเหมือนกัน แต่ถ้ามองเฉพาะลงไปในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) จะเห็นว่าประเด็นเรื่องเสรีภาพมีสองเรื่องหลัก คือ เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพที่จะปลอดภัยจากการเฝ้ามอง (surveillance) ของรัฐ ซึ่งถ้าเสรีภาพทั้งสองเรื่องนี้ได้รับการคุ้มครองและส่งเสริม ก็จะนำไปสู่เสรีภาพในด้านอื่นๆ เช่น เสรีภาพในการคิด การพูด เสรีภาพในการรวมกลุ่ม และเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ”

ด้วยกรอบคิดของเลสสิก เราอาจมองวิธี “จัดการ” กับผู้ใช้เน็ตที่โพสเนื้อหาหมิ่นประมาทได้ดังต่อไปนี้

กฎหมาย – เราอาจระบุให้เนื้อหาหมิ่นประมาทเป็นเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย (ซึ่งปกติก็ผิดกฏหมายอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะเขียนขึ้นเป็นพิเศษในกฎหมายคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด)

กลไกตลาด – ถ้าเว็บมาสเตอร์มีค่าใช้จ่ายสูงมากในการจัดการกับเนื้อหาหมิ่นประมาท เว็บมาสเตอร์ก็อาจปิดบริการเว็บบอร์ดเพราะไม่คุ้ม เช่น ถ้าหากกฎหมายระบุว่าตัวกลางต้องร่วมรับผิดตามกฎหมายด้วย เว็บมาสเตอร์ต้องจ้างคนเป็นกองทัพมากลั่นกรองเนื้อหาของผู้ใช้ก่อนที่จะปรากฏบนเว็บ

ค่านิยม – สมาชิกคนอื่นๆ บนเว็บบอร์ด “เพื่อน” บนเฟซบุ๊ก และ “ผู้ตาม” บนทวิตเตอร์ร่วมกันประณามหรือเลิกคบคนที่ชอบโพสข้อความหมิ่นประมาทคนอื่น กดดันให้เขาปรับปรุงตัวเองเพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่น

สถาปัตยกรรม – ไอเอสพีอาจเขียนโค้ดสั้นๆ เปลี่ยนคำทุกคำที่สุ่มเสี่ยงว่าจะถูกฟ้องหมิ่นประมาทให้กลายเป็นคำอื่น เช่น xxx ก่อนที่เนื้อหาของผู้โพสจะปรากฎ

กรอบคิดของเลสสิกช่วยเราได้มากในการประเมินสถานการณ์กำกับดูแลเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้าง (user-generated content) ในประเทศไทย ซึ่งยังห่างไกลจาก “อินเทอร์เน็ตในอุดมคติ” ที่เราทุกคนอยากเห็น นั่นคือ พื้นที่เปิดซึ่งทุกคนสามารถแสดงออกและแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นกันอย่างเสรี และมีกลไกคุ้มครองผู้บริสุทธิ์ในกรณีที่ถูกละเมิด สถานการณ์ในไทยยังห่างไกลจากอุดมคติเนื่องด้วยสาเหตุหลักสองประการดังต่อไปนี้

นิยามของเนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายคลุมเครือ และผู้บังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้าใจธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตเพียงพอ – พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ (“พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์”) มีมาตราที่คลุมเครือหลายมาตรา เนื้อหาที่ทำให้ผู้ใช้เน็ตถูกดำเนินคดีขึ้นอยู่กับการตีความของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไอซีทีเป็นหลัก โดยเฉพาะข้อหา “เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ” (การจับกุมโดยอ้างข้อหานี้หลายครั้งที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะเป็นภัยต่อ “รัฐบาล” มากกว่า “ชาติ”)

ความคลุมเครือของตัวบทกฎหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การบังคับใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มีปัญหาตลอดมา เป็นที่รับรู้กันทั่วไปในแวดวงตัวกลาง ตั้งแต่เว็บมาสเตอร์ ไปจนถึงโฮสติ้งและไอเอสพี นักกฎหมายหลายคนก็มองว่าการปิดกั้นเว็บหลายกรณี “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

ยกตัวอย่างเช่น คุณไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท ที่ปรึกษากฏหมายไพบูลย์ จำกัด อดีตกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กล่าวในงานเสวนา “คลี่ปมกระบวนการบล็อกเว็บ : ปัญหาบังคับใช้กฎหมายหลายมาตรฐาน” ซึ่งชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์จัดขึ้นในปี 2553 ว่า “สาเหตุหลักที่ทำให้คำสั่งปิดบล็อกเว็บไซต์เกิน 50% ในประเทศไทยเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือการขาดผู้รับผิดชอบดูแลกระบวนการบล็อกเว็บไซต์ของกระทรวงไอซีทีอย่างจริงจัง ทำให้มาตรฐานการดำเนินงานเป็นไปอย่างสับสน หลายมาตรฐาน และไร้ความน่าเชื่อถือ” (อ่านข่าวฉบับเต็มได้ที่ http://www.manager.co.th/cyberBiz/viewNews.aspx?newsid=9530000135417)

นอกจากกฎหมายในส่วนของเนื้อหาจะคลุมเครือและการบังคับใช้ยังขาดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแล้ว ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐยังดูเหมือนจะไม่เข้าใจธรรมชาติเน็คเพียงพอ เช่น กรณีที่ ศอฉ. ประกาศแผนผัง “ขบวนการล้มเจ้า” ซึ่งมีข้อมูลที่ผิดพลาดและลากเส้นโยงผู้ใช้เน็ตหลายคนว่ารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนชัดเจน ราวกับเป็นขบวนการที่มีเป้าประสงค์เดียวกันและเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบ ทั้งที่บุคคลเหล่านี้ในความเป็นจริงหลายคนเพียงแต่ชอบตั้งวงวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในเว็บบอร์ดเท่านั้น

อีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงความไม่เข้าใจในธรรมชาติเน็ต คือการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตีความ “ร่องรอย” ต่างๆ ที่เราทิ้งในคอมพิวเตอร์หรือบนอินเทอร์เน็ตโดยอัตโนมัติ คือเราไม่รู้ตัว เช่น ไฟล์ attachment ที่โปรแกรมอ่านอีเมลดาวน์โหลดมาในเครื่อง, cookie ในเครื่อง หรือ history ของบราวเซอร์ ว่าเป็น “หลักฐาน” ที่ “พิสูจน์” ว่าเจ้าของคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นๆ มี “เจตนา” ที่จะกระทำผิด ทั้งที่เนื้อหาพวกนี้มีลักษณะ ตรงกันข้าม กับหลักฐานที่ใช้ในคดีอาญาทั่วไป นั่นคือ ของอย่าง cookie หาง่ายแต่พิสูจน์เจตนายาก เพราะโปรแกรมอาจบันทึกโดยอัตโนมัติ ขณะที่หลักฐานในคดีอาญา เช่น ดีเอ็นเอของคนร้ายในที่เกิดเหตุ มักจะหายากแต่เมื่อพบแล้วก็พิสูจน์เจตนาง่ายกว่า (ว่าผู้ต้องสงสัยตั้งใจกระทำผิด)

สถาปัตยกรรม – ไอเอสพีไทยบางราย “ให้ความร่วมมือ” อย่างไม่เป็นทางการกับภาครัฐ (ซึ่งพอไม่เป็นทางการ ก็ไม่มีใครรู้หรือตรวจสอบได้ว่ากระบวนการนี้มีมาตรฐานหรือไม่) ปิดกั้นเว็บไซต์หลายต่อหลางครั้งโดยที่ไม่มีหมายศาลตามกฎหมาย วิธีปิดกั้นแบบ “เนียนๆ” คือเขียนโค้ดหลอกผู้ใช้เน็ตให้เชื่อว่าหน้าเว็บที่ต้องการจะเข้าถูกลบไปแล้ว (ขึ้นข้อความว่า “404 Not Found”) หรือที่แย่กว่านั้นคือเขียนโค้ดที่ละเมิดสิทธิของเว็บอื่น เช่น หลอกให้คนเชื่อว่ายูทูบ (YouTube) ลบวีดีโอที่ต้องการจะดูไปแล้ว วิธีหลังนี้เท่าที่ผู้เขียนประสบด้วยตัวเองมี 2 กรณี คือคลิปแฉศาลรัฐธรรมนูญ กับคลิปคำพูดของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมัยเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน (ผู้เขียนเป็นลูกค้าของ TRUE Internet แต่ได้รับทราบจากผู้ใช้ CS Loxinfo ว่าโดนหลอกแบบเดียวกัน)

ปกติคลิปวีดีโอที่ยูทูบลบเองจะแสดงข้อความพื้นสีดำ อธิบายสาเหตุที่ลบ (ปกติเป็นเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์) ส่วนข้อความ “หลอก” ของ TRUE กับ CS Loxinfo นั้นจะมีข้อความคล้ายกัน แต่เป็นพื้นขาวและใช้ฟอนต์แตกต่างกันอย่างชัดเจน ดังภาพด้านล่างนี้ –

ข้อความ จากเว็บไซต์ YouTube
หน้ายูทูบจริง

ข้อความหลอก เว็บไซต์ YouTube จากผู้ให้บริการอินเตอร์เนต
หน้ายูทูบหลอก

(อ่านคำอธิบายโค้ดหลอกที่ใช้ได้ที่บล็อก Random Thoughts – http://tewson.com/true-court-clip-censorship)

ผู้เขียนคิดว่าสาเหตุหลักของการละเมิดสิทธิผู้ใช้เน็ต โดยเฉพาะการละเมิดแบบเนียนๆ คือ ตัวกลางอินเทอร์เน็ตยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทำให้ต้องยอมร่วมมือกับภาครัฐมากกว่าจะคำนึงถึงสิทธิของผู้บริโภค (ผู้ใช้เน็ต) ซึ่งไอเอสพีมีหน้าที่พิทักษ์ตามเงื่อนไขการให้บริการและตามรัฐธรรมนูญ

“ความจริงจากโลกเสมือน” ตอนนี้พูดถึงปัญหาในไทยจากมุมมองของกลไกกำกับดูแลสองชนิด คือกฎหมายกับสถาปัตยกรรมไปแล้ว ตอนหน้าจะมาว่ากันต่อถึงกลไก “ค่านิยม” ว่าช่วยเราได้มากน้อยแค่ไหน ปัจจุบันประโยชน์และโทษของกลไกนี้ในสังคมอินเทอร์เน็ตไทยมีอะไรบ้าง.

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://thainetizen.org/thai-internet-regulations-problems