ที่มา ประชาไท
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เพิ่งจะเป็นพระเอก เมื่อร่วมกับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ทักท้วงกรณีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณ 746 ล้านบาทให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงแรงงานช่วยเหลือแรงงานไทยในลิเบีย โดยในจำนวนนี้มีงบ 5 ล้านบาท เป็นค่าจ้างเผยแพร่ข่าวความคืบหน้าในการช่วยเหลือแรงงานทาง สถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ 10 ครั้งๆ ละ 5 แสนบาท
ซึ่งสมาคมและสภาทักท้วงว่า เป็นภารกิจของสื่อที่จะต้องเสนอข่าวอยู่แล้ว หน่วยงานของรัฐไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่าย เว้นแต่จะเป็นการจ้างทำพีอาร์บุคคลหรือองค์กรซึ่งไม่มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ผลของการทักท้วงดังกล่าวทำให้อภิสิทธิ์สั่งตัดงบ 5 ล้านบาทออก (ซึ่งก็น่าสนใจติดตามว่างบ 5 ล้านนี้คิดจะเอาไปใช้อย่างไร จ้างสื่อสำนักไหน)
นั่นคือเรื่องที่ต้องปรบมือให้ และยังมีอีกเรื่องที่ต้องปรบมือให้บางคน กับชูนิ้วกลางให้บางคน
เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อยู่ๆ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ก็มีมติให้ส่งตัวแทนเข้ารับการสรรหาเป็นวุฒิสมาชิก ที่องค์กรต่างๆ กำลังส่งชื่อให้ กกต.กันขาขวิด เพื่อคัดเลือกโดย 7 อรหันต์ผู้วิเศษไร้กิเลสตัณหาไม่มีโลภะโทสะโมหะไม่เคยมีพรรคพวกเพื่อนพ้องไม่มีลูกน้องญาติมิตรไม่มีบุญคุณความแค้นกับใคร (บางรายก็นับถือโกเอนก้า) สั่งไม่ได้ ฝากไม่ได้ ล็อบบี้ไม่ได้ แต่ 74 ส.ว.ชุดแรกก็เห็นๆ กันอยู่
อ้าว ชักนอกเรื่อง แต่แค่นั้นก็พอแล้ว เป็นเรื่องแล้ว เพราะในบรรดาองค์กรสื่อทั้งหลาย ซึ่งมีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็น 3 องค์กรหลัก 2 องค์กรแรกที่เป็นพี่ใหญ่ เขายังไม่ส่งเลย ไหงสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์มีมติให้ส่งคนเป็น ส.ว.
กรณีนี้ยังมีประวัติศาสตร์ ที่หลังรัฐประหาร 3 องค์กรสื่อได้มีมติเสนอชื่อ ภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ สมชาย แสวงการ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ “เจ๊หยัด” บัญญัติ ทัศนียเวช ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนถูกนักข่าวด้วยกันล่าชื่อค้าน เป็นเรื่องเป็นราวกันใหญ่โต กระทั่งทั้ง 3 คนต้องลาออก เพื่อไปเป็น สนช. (สงสารเจ๊หยัด ต่อสู้เผด็จการมาตลอดชีวิต กลับมาเสียประวัติตอนแก่)
ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้มี ส.ว.สรรหา องค์กรสื่อก็ไม่เกี่ยวข้อง สมชาย แสวงการ, คำนูณ สิทธิสมาน ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรอื่น เช่น สมชาย แสวงการ ได้รับการเสนอชื่อจากมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด อันมีบุญชัย เบญจรงคกุล เป็นประธานกรรมการ สนธิญาณ (หนูแก้ว) ชื่นฤทัยในธรรม เป็นรองประธานกรรมการ สมชายเป็นกรรมการร่วมกับ ดร.ประกอบ จิรกิติ ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์
หลังจากสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยมีมติให้ส่งตัวแทนเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ บิ๊กค่ายเนชั่น (แขนขวาของหยุ่น) เขียนบทความเรื่อง “เสียงบ่น 'เสียงข้างน้อย' ในองค์กรสื่อ เว้นระยะห่าง-ระยะเห่า-สรรหา ส.ว.” ลงกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ เปิดเผยว่าคณะกรรมการมีเสียงก้ำกึ่ง จึงเชิญที่ปรึกษาไปแสดงความเห็น อดิศักดิ์เป็นที่ปรึกษาคนหนึ่ง เขาไม่เห็นด้วย แต่เขาเป็น “เสียงข้างน้อย” มากๆ ของคณะที่ปรึกษา เสียงส่วนใหญ่โน้มเอียงไปทางสนับสนุน แม้หลายคนเคยไม่เห็นด้วยกับการเสนอชื่อเป็น สนช.แต่ครั้งนี้กลับเห็นว่าการนั่งอยู่ข้างนอกทำอะไรไม่ได้มากเท่ากับการเข้าไปอยู่ข้างใน ทำให้สามารถต่อสู้แทนสื่อและประชาชนได้มากกว่า
อดิศักดิ์เห็นว่าสมาคมนักข่าวควรรักษาระยะห่างกับการเข้าไปข้องแวะตำแหน่งทางการเมือง เพื่อมีอิสระในการตรวจสอบการทำงานของ ส.ว. และยังกังวลในกระบวนการสรรหาของ กกต.ที่เริ่มเสียงหึ่งๆ ว่า มีการล็อบบี้กันหนักมากเงินทองสะพัดแน่นอน แม้จะมั่นใจกับ 7 อรหันต์ (ก็ธรรมดา เพราะอดิศักดิ์เชียร์รัฐประหารตุลาการภิวัฒน์มาตลอด)
เรื่องนี้คงจะวิพากษ์วิจารณ์กันหึ่งในวงการนักข่าววิทยุโทรทัศน์นั่นแหละครับ กระทั่งในที่สุด นายกสมาคมคือ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ คงคิดได้ว่าถ้าขืนปล่อยให้มีมติออกไปอย่างนี้ ก็จะโดนพชร สารพิมพา อำตลอดชาติ จึงตัดสินใจใช้อำนาจนายกสมาคมฯ ยกเลิกมติเสีย ซึ่งก็ทำให้ใครบางคนกินแห้ว
ถามว่าเรื่องนี้ใครอยู่เบื้องหลัง ใครอยากเป็นจนตัวสั่น จนมาผลักดันมติ โดยหวังจะให้สมาคมเสนอชื่อตัวเองเป็น ส.ว.สรรหา ผมไม่รู้ แต่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 8 มีนาคม เขียนไว้ในคอลัมน์ซุบซิบการเมือง ไปหาอ่านกันเอง
ใบตองแห้ง
9 มี.ค.54