WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, March 8, 2011

ปลดใครกันแน่

ที่มา มติชน



โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์



แม้ไม่ตรงเป้านัก แต่ข้อเรียกร้องของ ส.ส.ประชาธิปัตย์จากสามจังหวัดภาคใต้ต่อปฏิบัติการทางทหารของกองทัพ (จนถึงกับให้ปลด ผบ.ทบ.) ก็เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ที่ ส.ส.เห็นเป็นหน้าที่ของตน ในการตรวจสอบและเสนอแนะปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่นี้...ต่อสาธารณชน

ส.ส.อาจเคยทำเช่นนี้มาแล้วเป็นการภายใน เช่นเจรจากับหัวหน้าพรรคในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่ ส.ส.ในฐานะบุคคลจะมีพลังได้สักเท่าไร หากไม่มีสาธารณชนหนุนหลัง ดังนั้นไม่ว่าข้อเสนอของ ส.ส.จะเป็นอย่างไร นโยบายของรัฐในการจัดการกับความไม่สงบในภาคใต้จึงเหมือนเดิมตลอดมา กล่าวคือ ยกเรื่องทั้งหมดให้กองทัพเป็นผู้จัดการแต่ผู้เดียว

ปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้ไม่ใช่ปัญหาทางทหาร แม้ว่าจำเป็นต้องใช้กำลังทหารจัดการในบางมิติของปัญหา แต่ทหารไม่มีทั้งความชำนาญหรือความสามารถจะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้

ปัญหาหลักของภาคใต้คือการแข็งข้อต่ออำนาจรัฐของประชาชนส่วนหนึ่ง โดยใช้วิธีการทางทหารในการต่อสู้กับรัฐ ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก

ในท่ามกลางความวุ่นวายของสถานการณ์ ปัญหาที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ก็เข้าผสมโรง โดยใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือมากขึ้น เช่น ปัญหายาเสพติด, การค้าของเถื่อน และการแย่งชิงทรัพยากร ทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐเอง ทั้งนี้เพราะอำนาจรัฐอ่อนแอลง และเพราะความระแวงระหว่างต่อกันย่อมมีสูงในทุกฝ่าย

แต่การแข็งข้อต่ออำนาจรัฐนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะมีคนหัวรุนแรงกลุ่มหนึ่งก่อความไม่สงบขึ้น แต่เป็นเพราะมีเงื่อนไขอีกหลายอย่าง ทั้งทางวัฒนธรรม, การเมือง, เศรษฐกิจ และการปกครองที่ทำให้คนกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จ ตราบเท่าที่ไม่จัดการกับเงื่อนไขดังกล่าว ถึงจะใช้กำลังทหารสักเท่าไร ก็ไม่สามารถนำความสงบกลับคืนมาได้

ยิ่งไปกว่านี้ อาจยิ่งทำให้สถานการณ์ความรุนแรงบานปลายมากขึ้นไปอีก เพราะในสถานการณ์ที่ไม่ชัดแจ้งว่าศัตรูคือใคร วิธีการทางทหารกลับยิ่งเพาะศัตรูให้กล้าแข็งมากขึ้น แนวร่วมที่อยู่ห่างๆ ก็จำเป็นต้องเข้าไปขอความคุ้มครองกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ราษฎรธรรมดากลัวภัยจากการปราบปรามก็เช่นเดียวกัน รวมถึงคนที่ได้เห็นญาติมิตรของตนถูก "ปฏิบัติการ" อย่างไม่เป็นธรรม ย่อมมีใจเอนเอียงไปสนับสนุนผู้ก่อความไม่สงบ

ในขณะที่เงื่อนไขต่างๆ ซึ่งควรได้รับการแก้ไขก็ไม่ได้ถูกแก้ไข

นับตั้งแต่เกิดความไม่สงบระลอกใหม่เมื่อต้นปี 2547 เป็นต้นมา ไม่มีรัฐบาลชุดใดคิดถึงการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนสักรัฐบาลเดียว ฉะนั้น นโยบายหลักของทุกรัฐบาลจึงเหมือนกัน นั่นก็คือปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งอาจทำโดยตำรวจหรือทหารก็ตาม

รัฐบาลทักษิณเคยตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ซึ่งได้ศึกษาถึงเงื่อนไขที่รัฐไทยสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น และได้เสนอทางแก้หลายอย่าง แต่รัฐบาลทักษิณแทบไม่ได้นำเอาข้อเสนอใดไปปฏิบัติอย่างจริงจังเลย

ข้อเสนอเหล่านี้ล้วนเป็นข้อเสนอที่ทำได้ยากในทางการเมือง เช่นการเข้าไปแทรกแซงให้มีการจัดสรรทรัพยากรท้องถิ่นอย่างเป็นธรรม โดยไม่ปล่อยให้ทุนเข้าไปแย่งชิงจับจอง โดยอาศัยอำนาจรัฐเพียงฝ่ายเดียว หรือใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมในกรณีกล่าวหาว่าราษฎรบุกรุกอุทยาน, ป่า หรือชายฝั่ง โดยไม่ยอมให้มีการพิสูจน์สิทธิกันด้วยกระบวนการซึ่งเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

จะผลักดันให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ ต้องมีเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างแรงกล้า ที่จะโน้มน้าวสาธารณชนให้คล้อยตาม จึงจะทำให้รัฐบาลมีพลังต่อสู้กับระบบราชการซึ่งไม่ต้องการสูญเสียอำนาจ และต่อสู้กับทุนซึ่งต้องการใช้ช่องโหว่ในการหากำไรกับทรัพยากรท้องถิ่น

แม้แต่รัฐบาลทักษิณซึ่งสามารถกุมคะแนนเสียงในสภาได้อย่างท่วมท้น ก็ไม่กล้ามีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่จะขจัดเงื่อนไขต่างๆ อันเป็นเหตุให้ผู้ก่อความไม่สงบจะใช้เพื่อแสวงหาความสนับสนุนจากประชาชน

รัฐบาลประชาธิปัตย์ซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคหลายสมัย ยิ่งไม่กล้าจะมีเจตนารมณ์ทางการเมืองใดๆ คงปล่อยให้การจัดการปัญหาด้วยวิธีการทางทหารต่อไป ซ้ำยังเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับการทำงานของกองทัพขึ้นไปอีก เพราะตัวได้อำนาจมาจากการแทรกแซงของกองทัพ ไม่ว่าทหารจะเรียกร้องอะไร นับตั้งแต่งบประมาณ, อาวุธยุทโธปกรณ์ หรืออำนาจที่ไม่ต้องตรวจสอบจากกฎหมายใดๆ ก็พร้อมจะยกให้หมด

หลายปีที่ผ่านมา เกิดประโยชน์ปลูกฝังขึ้นแก่กองทัพในนโยบายปล่อยทหารให้จัดการแต่ผู้เดียวนี้

เคยมีความพยายามของคนบางกลุ่มในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ ที่จะถ่วงดุลอำนาจจัดการของทหารในภาคใต้ ด้วยการตั้งหน่วยงานผสมระหว่างพลเรือนและทหารขึ้น เป็นผู้อำนวยการแก้ปัญหาภาคใต้ แต่หน่วยงานดังกล่าวแม้จะถูกตั้งขึ้นตามกฎหมายในภายหลัง ก็ไม่มีอำนาจหรือความพร้อมใดๆ ที่จะปฏิบัติงานดังกล่าวได้

ทุกบาททุกสตางค์ที่ทุ่มลงไปเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ จึงทุ่มลงไปแก่ปฏิบัติการทางทหารโดยสิ้นเชิง

ผลของการแก้ปัญหาด้วยการ "ปราบ" ท่าเดียวนี้เป็นอย่างไร?

ความไม่สงบก็ยังดำเนินต่อไปเป็นรายวันเหมือนเดิม เพียงแต่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นสัญญาณบางอย่าง ซึ่งแปลว่าสถานการณ์ดีขึ้น หรือเลวลงก็ไม่ทราบได้

เช่นเจ้าหน้าที่บ้านเมือง สามารถบอกได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นฝีมือของอาร์เคเคกลุ่มใด มีใครเป็นแกนนำ การที่เจ้าหน้าที่สามารถบอกได้เช่นนี้ อย่างน้อยก็แปลว่าเจ้าหน้าที่มีความรู้เกี่ยวกับศัตรูมากขึ้น แต่ไม่จำเป็นว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่บอกนั้นจะเป็นจริง การทำบัญชีรายชื่อผู้ต้องสงสัยนั้น หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงของรัฐรู้จักทำมานานแล้ว และหลายครั้งด้วยกันก็มักจะผูกชื่อในบัญชีนี้เข้ากับการละเมิดกฎหมายที่จับผู้กระทำผิดไม่ได้อยู่เสมอ

ในกรณีภาคใต้ปัจจุบัน ไม่รู้ชัดว่าการจับ "แพะ" ตามบัญชีรายชื่อยังทำอยู่หรือไม่ ควรที่จะมีการตรวจสอบคดีในศาลว่าผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้ได้รับการยกฟ้องเป็นสัดส่วนเท่าไร อีกประการหนึ่งที่ต้องเข้าใจด้วยก็คือ ผู้ถูกจับเหล่านี้จำนวนมากถูกจับภายใต้กฎอัยการศึกหรือ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ชะตากรรมของเขาจึงน่าอเนจอนาถยิ่งกว่าผู้ต้องหาธรรมดา เพราะอาจถูกลงโทษไปแล้วโดยยังไม่ได้ขึ้นศาล (เช่นถูกบังคับให้เข้าค่ายอบรม) และหากมีคำสารภาพก็น่าสงสัยว่าจะเชื่อถือได้มากน้อยเพียงไร

สรุปก็คือ ไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่า การที่เจ้าหน้าที่สามารถระบุตัวบุคคลได้ เมื่อเกิดเหตุก่อการร้าย นับเป็นความสามารถที่สูงขึ้นด้านการข่าวใช่หรือไม่

บางคนกล่าวว่า ความถี่ในการก่อการร้ายลดลง แต่กลับมีความรุนแรงมากขึ้นในแต่ละกรณี ข้อที่น่ารู้มากกว่า ไม่ใช่ความร้ายแรงของปฏิบัติการเท่ากับการวิเคราะห์เพื่อดูว่า ปฏิบัติการของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบนั้น ต้องการการจัดองค์กรที่ขยายตัวและสลับซับซ้อนขึ้นมากน้อยเพียงไร หากพวกเขาปฏิบัติการถี่น้อยลง แต่กลับมีความสามารถในการจัดองค์กรได้ดีขึ้นกว่าเดิม สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้น่าวิตกมากขึ้นอย่างแน่นอน

แม้แต่สมมุติให้การทหารสามารถแก้ปัญหาความไม่สงบได้ เชื้อของการเคลื่อนไหวเพื่อลดอำนาจรัฐไทยก็ยังอยู่เหมือนเดิม แล้ววันหนึ่งก็จะเกิดความไม่สงบขึ้นอีกอย่างไม่ต้องสงสัย

การที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ในสามจังหวัดภาคใต้กล้าออกมาเสนอความเห็นให้ปลด ผบ.ทบ.นั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะแสดงว่าพวกเขาให้ความสนใจกับสถานการณ์ที่ประชาชนในพื้นที่ต้องเผชิญอยู่ แต่ที่จริงแล้ว นอกจากข้อเสนอนี้ ส.ส.ยังได้เสนอทางแก้หรือปัญหาที่ไม่ได้แก้ในพื้นที่อีกหลายอย่าง ซึ่งกลับไม่เป็นที่สนใจของสื่อมากนัก การที่พวกเขาไม่พูดเรื่องนี้ในพรรคเสียก่อน ก็เพราะเป็นเรื่องใหญ่เสียจนต้องได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชน มิฉะนั้นการเคลื่อนไหวของเขาก็ไม่บังเกิดผล พรรคประชาธิปัตย์น่าจะกลับมาทบทวนตนเองว่า เหตุใด "พรรค" ซึ่งควรเป็นกลไกการต่อรองด้านนโยบายที่มีพลังมากกว่า ส.ส.ในฐานะเอกบุคคล จึงไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้ และไม่ถูกเลือกใช้มาแต่ต้น

อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวของกองทัพในการแก้ปัญหาที่กองทัพไม่มีสมรรถนะจะแก้ได้นี้ ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ไกลเกินคาด ถึงจะเปลี่ยน ผบ.ทบ.คนใหม่อย่างไร กองทัพก็จะยังล้มเหลวเหมือนเดิม สิ่งที่ ส.ส.น่าจะเรียกร้อง จึงน่าจะเป็นการเรียกร้องให้ปลดนายกฯมากกว่า เพราะนายกฯเท่านั้นที่จะแก้ไขปรับปรุงเงื่อนไขทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม, กระบวนการยุติธรรม ฯลฯ ในภาคใต้ได้ นายกฯคนใดที่สัมปทานให้กองทัพไปทำสิ่งเหล่านี้แต่ผู้เดียว ไม่ควรจะดำรงตำแหน่งต่อไป