ที่มา ข่าวสด
รายงานพิเศษ
สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ... เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ โดยเห็นชอบ 229 ต่อ 85 ไม่ลงคะแนน 7 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 24 คน พิจารณาวาระ 2 ภายใน 7 วัน
ร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ... มีทั้งหมด 39 มาตรา แยกเป็น 5 หมวด
หมวด 1 บททั่วไป (มาตรา 7-9)
หมวด 2 การแจ้งการชุมนุมสาธารณะ (มาตรา 10-15) กรณีการชุมนุมนั้นกระทบต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ
หมวด 3 หน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม (มาตรา 16-19)
หมวด 4 การคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการชุมนุม สาธารณะ และการดูแลการชุมนุมสาธารณะ (มาตรา 20-29)
หมวด 5 บทกำหนดโทษ (มาตรา 30-38) และบทเฉพาะกาล (มาตรา 39)
มีเนื้อหาสาระสำคัญ ดังนี้
มาตรา 7 การชุมนุมสาธารณะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ และการใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมในระหว่างการชุมนุม สาธารณะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ
มาตรา 8 การชุมนุมต้องไม่กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ประทับ และสถานที่พำนักของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
รวมทั้งไม่กีดขวางทางเข้าออกรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาลและหน่วยงานของรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานี รถไฟหรือสถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานศึกษาและศาสนสถาน สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศด้วย
มาตรา 10 ผู้ใดประสงค์จัดการชุมนุม ซึ่งกระทบต่อประชาชน ให้มีหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง (หัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ที่มีการชุมนุมหรือบุคคลอื่น ตามที่รัฐมนตรีประกาศให้เป็นผู้มีหน้าที่รับแจ้ง) ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง
มาตรา 13 หากผู้รับแจ้งเห็นว่าการชุมนุมนั้นกีดขวางทางเข้าออก ตามมาตรา 8 ให้ยื่นคำขอต่อศาล เพื่อให้มีคำสั่งห้ามการชุมนุม และให้ศาลพิจารณาคำขอเพื่อมีคำสั่งห้ามการชุมนุมเป็นการด่วน โดยคำสั่งของศาลให้เป็นที่สิ้นสุด
มาตรา 14 กรณีผู้ประสงค์จัดการชุมนุม ไม่สามารถแจ้งก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง ให้ผู้นั้นมีหนังสือแจ้งการชุมนุม พร้อมคำขอผ่อนผันกำหนดเวลาดังกล่าวต่อผบช.น.ในกทม. หรือผู้ว่าฯ ก่อนเริ่มการชุมนุม
ผู้รับคำขอต้องมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาคำขอผ่อนผัน พร้อมเหตุผลให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้รับคำขอ
กรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่พอใจผลการพิจารณา ให้ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อพิจารณาภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณา คำสั่งของศาลให้เป็นที่สิ้นสุด
มาตรา 15 การชุมนุมที่ศาลมีคำสั่งห้ามการชุมนุม ให้ถือเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 16 ผู้จัดการชุมนุม มีหน้าที่อยู่ร่วมการชุมนุมตลอดเวลา ต้องดูแลรับผิดชอบการชุมนุมให้สงบ ปราศจากอาวุธ ภายใต้ขอบเขตสิทธิและเสรีภาพของรัฐธรรมนูญ ดูแลไม่ให้ขัดขวางประชาชนที่ใช้ที่สาธารณะ ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุม และต้องไม่ยุยงส่งเสริมหรือชักจูงให้ผู้ชุมนุมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด
มาตรา 18 กรณีผู้จัดการชุมนุมมิได้แจ้งว่าจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้าย จะทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าสถานีตำรวจซึ่งรับผิดชอบดูแลการชุมนุมนั้น
มาตรา 19 ผู้ชุมนุมต้องเลิกการชุมนุมภายในเวลาที่ผู้จัดได้แจ้งไว้ต่อผู้รับแจ้ง
มาตรา 20 หัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ที่มีการชุมนุมและผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานีตำรวจ อาจมีคำสั่งปิดการจราจรได้ แต่ให้กระทำการได้เฉพาะบริเวณอันจำกัดและเพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและประชาชน และต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ทั้งนี้ เจ้าพนักงานต้องผ่านการฝึกอบรมให้มีการเข้าใจและอดทนต่อสถานการณ์การชุมนุม ต้องแต่งเครื่องแบบและอาจใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
มาตรา 22 ให้หัวหน้าสถานีตำรวจและผู้ที่ได้รับมอบหมายฯ เป็นเจ้าพนักงานรับผิดชอบดูแลการชุมนุม แต่เพื่อความคล่องตัวและสอดคล้องกับสถานการณ์ หากรัฐมนตรีหรือผบ.ตร.เห็นสมควรก็อาจแต่งตั้งข้าราชการ อาจเป็น ข้าราชการประจำหรือข้าราชการการเมือง เป็นเจ้าพนักงานรับผิดชอบการชุมนุมแทนหัวหน้าสถานีตำรวจ
มาตรา 24 - 27 กรณีมีการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.นี้ ให้เจ้าพนักงานดำเนินการดังนี้
1.ประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในเวลาที่เจ้าพนักงานกำหนด
ทั้งนี้ ต้องไม่ตัดสิทธิของผู้อื่นที่ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมนั้น ที่จะร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม
2.หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม ให้เจ้าพนักงานร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุมนั้น โดยให้ศาลพิจารณาคำขอเป็นการด่วน และให้คำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุด และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศคำสั่งศาลไว้ในที่ที่เห็นได้ง่าย ในพื้นที่ชุมนุมและประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบด้วย
3.ระหว่างรอคำสั่งศาล ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจกระทำการที่จำเป็นตามแผนหรือแนวทางการควบคุมการชุมนุม ที่ ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอแนะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
4.กรณีศาลมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิกตามคำสั่งศาล ให้เจ้าพนักงานประกาศกำหนดพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ควบคุมและประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุมโดยเร็ว และให้รายงานนายกฯเพื่อทราบ
เมื่อกำหนดพื้นที่ควบคุม ให้ผบช.น.ในกทม. ผู้ว่าฯในจังหวัดอื่นหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายให้รับผิดชอบ เป็นผู้ควบคุมสถานการณ์เพื่อให้เลิกการชุมนุมตามคำสั่งศาล
5.เมื่อพ้นระยะเวลาที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุม หากยังมีผู้ชุมนุมอยู่ในพื้นที่ควบคุม ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า และให้ผู้ควบคุมฯดำเนินการให้เลิกการชุมนุม โดยให้ผู้ควบคุมและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายฯ มีอำนาจค้นและจับผู้ที่ยังอยู่ในพื้นที่ควบคุม ยึดหรืออายัดทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ชุมนุมนั้น หรือกระทำการที่จำเป็น ตามแผนหรือแนวทางการควบคุมการชุมนุม โดยผู้ปฏิบัติการต้องผ่านการฝึกอบรมให้มีความเข้าใจและอดทนต่อสถานการณ์การชุมนุม ต้องแต่งเครื่องแบบและใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามที่รัฐมนตรีประกาศ
มาตรา 28 กรณีผู้ชุมนุมกระทำการใดที่มีลักษณะรุนแรงและอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจหรือทรัพย์สินของผู้อื่นจนเกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการกระทำนั้น หากยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้เจ้าพนักงานหรือผู้ควบคุมสถานการณ์ดำเนินการตามมาตรา 26 และ 27 โดยอนุโลม
กรณีที่ผู้ชุมนุมไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของเจ้าพนักงาน ให้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลเพื่อพิจารณาภายใน 30 วันนับแต่วันมีคำสั่ง คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด
บทกำหนดโทษ
มาตรา 30 ผู้จัดการชุมนุมที่กระทบต่อประชาชนโดยไม่ได้แจ้งการชุมนุม ระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
มาตรา 31 ผู้จัดเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นเข้าร่วมชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 32 ผู้จัดการชุมนุมไม่อยู่ร่วมตลอดการชุมนุม ไม่ดูแลและรับผิดชอบให้การชุมนุมสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่ดูแลไม่ให้เกิดการขัดขวางประชาชนที่ใช้ที่สาธารณะ ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงาน หรือกรณีผู้ชุมนุมนำอาวุธเข้ามาในพื้นที่ชุมนุม ขัดขวางการปฏิบัติของเจ้าพนักงาน ระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
มาตรา 33 ผู้จัดการชุมนุมยุยง ส่งเสริมให้ผู้ชุมนุมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด บุกรุกหรือทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นหรือทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและได้รับความเดือดร้อน หรือใช้กำลังประทุษร้ายผู้ชุมนุมหรือผู้อื่น ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 34 ผู้โฆษณาหรือประกาศให้ผู้ชุมนุมใช้กำลังประทุษร้ายผู้อื่นระหว่างการชุมนุม ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 35 ผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้ายอมออกจากพื้นที่ควบคุมภายในเวลาที่กำหนด ไม่ต้องรับโทษสำหรับการกระทำผิดนั้น
มาตรา 36 หากผู้ชุมนุมไม่ยอมออกจากพื้นที่ควบคุมภายในเวลาที่ประกาศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 37 ผู้ที่ไม่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานหรือจากผู้ควบคุมสถานการณ์ พกอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุมไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้มีอาวุธนั้นติดตัวหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าอาวุธนั้นเป็นอาวุธปืน หรือวัตถุอื่นใดที่มีสภาพคล้ายคลึงกัน ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 38 ทรัพย์สินที่ยึดได้จากการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นควรให้ริบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
บทเฉพาะกาล
มาตรา 39 ร่างพ.ร.บ.นี้กำหนดให้การชุมนุมที่กระทบต่อประชาชนที่ใช้ที่สาธารณะที่จัดขึ้นก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ ให้ดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องแจ้งการชุมนุมตามความในหมวด 2 แห่งพ.ร.บ.นี้ แต่การอื่นให้เป็นไปตามพ.ร.บ.นี้