ที่มา มติชน
ผศ.ดร.มงคลชัย วิริยะพินิจ Mongkolchai@acc.chula.ac.th
จากคอลัมน์ องค์กรแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้ ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
............
ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์สอนวิชาทางด้านการบริหารความขัดแย้ง ผมขอนำประเด็นทางการเมืองนี้มาเป็นบริบทเพื่อที่จะสร้างคำแนะนำสำหรับท่านผู้อ่านในการที่จะสร้างวิธีการบรรเทาความขัดแย้งให้อยู่ในขั้นที่จัดการได้ หรือในขั้นที่จะสามารถที่จะทำให้ความขัดแย้งนั้นหมดไปได้ สาเหตุหนึ่งที่ฝ่ายสองฝ่ายไม่สามารถขจัดความขัดแย้งให้สงบลงได้ หรือมิหนำซ้ำความขัดแย้งอาจก่อตัวทวีคูณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือ การไม่ฟังซึ่งกันและกัน หรือการไม่พยายามที่จะรับรู้ในความคิดเห็นของฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งเกิดจากที่แต่ละฝ่ายเป็นผู้มีทิฐิ หรืออัตตาสูง ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตนเองมากจนเกินไป จนไม่สามารถมีสติพอที่จะเห็นได้ว่าคนอื่น ๆ หรือสิ่งอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัวนั้นเขาเป็นอย่างไร เขาคิดอะไรกันอยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อคนสองคนที่ต่างก็อยู่ในโลกของความคิดของตนเองเท่านั้นมาเจอกัน ก็เห็นทีว่าการบริหารความขัดแย้งจะไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้เลยทีเดียว
เฉกเช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองไทย ที่ "สื่อ" หรือ "สื่อสารมวลชน" นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการที่จะทำให้ความขัดแย้งมากขึ้น หรือ
ลดลงไปได้ แต่เท่าที่สังเกตเห็นในบ้านเมืองไทย ผมเห็นว่าสิ่งที่คนไทยเราสื่อสารกันในเรื่องของการเมืองนั้นก็มีแต่จะทำให้ความขัดแย้งนั้นทวีคูณเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ถ้าจะให้อธิบายเพื่อให้เข้าใจกันอย่างง่าย ๆ กล่าวคือ คนเสื้อเหลืองนั้นก็สื่อสารกันด้วยเนื้อหาที่มีแต่ความคิดเห็นที่เป็นของคนเสื้อเหลือง ถึงแม้ว่าจะมีช่องทางให้ได้รับรู้ถึงสิ่งที่คนเสื้อแดงคิด แต่ก็ไม่คิดจะนำสิ่งที่คนเสื้อแดงคิดมารับรู้ มาประเมิน หรือมาต่อยอดในสิ่งที่คนเสื้อเหลืองได้คิดไว้ และเช่นเดียวกันกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่ไม่ต่างอะไรกับกลุ่มคนเสื้อเหลือง ตรงที่ไม่รับรู้อะไรในสิ่งที่กลุ่มเสื้อเหลืองเขา
คิดหรือเขาเป็น ต่างฝ่ายต่างถูกครอบงำด้วยอารมณ์ของความอยากที่จะเอาชนะ จนทำให้การสื่อสารที่ออกมานั้นออกมาอย่างไร้ซึ่งสติ ยิ่งทำให้กลุ่มคนที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม หรือฝ่ายที่เป็นกลาง มองเห็นความโมโหโทโสของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดภาพการเจรจาทางการเมืองที่ดูมีเหตุผลหรือน่าอภิรมย์แต่อย่างใด
การบริหารขัดแย้งที่ดี หรืออีกนัยหนึ่งคือ การถกเถียงกันอย่างมีสติ การถกเถียงกันอย่างมีสติ คือ การระลึกได้ว่า ณ ขณะนั้น ๆ ท่านกำลังอยู่ภายใต้ความขัดแย้งอยู่ ณ ขณะนั้น ๆ ท่านระลึกได้ถึงความคิดเห็นของตัวท่าน ณ ขณะนั้น ๆ ท่านระลึกได้ถึงความคิดเห็นของฝั่งตรงกันข้าม และ ณ ขณะนั้น ๆ ท่านระลึกได้ว่าท่านกำลังขัดแย้งในเรื่องของประเด็นความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน (หาไม่เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากความอยากที่จะเอาชนะอีกฝ่ายตรงข้าม) การระลึกได้นี้ถือเป็นการรู้เท่าทันความขัดแย้งเพื่อมิให้ความขัดแย้งถลำลึกไปเป็นอารมณ์ และกลายเป็นความจงเกลียดจงชังระหว่างกันและกันเป็นการส่วนตัว การระลึกได้นี้จะทำให้ผู้ขัดแย้งมีสติพอที่จะ "ฟัง" ซึ่งกันและกัน และการตอบโต้หรือเจรจาต่อรองที่เกิดขึ้นจะเป็นในเชิงที่จะตอบโต้กันไปมาตามประเด็นที่ฝ่ายตรงกันข้ามกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ อันจะเป็นการตอบโต้ที่ก่อให้เกิดการต่อยอดเป็นแนวคิด เป็นองค์ความรู้ที่จะนำมาซึ่งทางออกของปัญหา
การต่อยอดทางความคิดนั้น ถือเป็นสิ่งดีอย่างยิ่งต่อการบริหารความขัดแย้ง เพราะต่างฝ่ายต่างรับรู้ซึ่งกันและกันว่าอีกฝ่ายหนึ่งได้น้อมรับประเด็นความคิดเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง ถึงแม้จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะความขัดแย้งหรือการทะเลาะเบาะแว้งที่ไม่จบไม่สิ้นก็เพราะว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ถูกให้รับรู้ว่า ฝ่ายตรงกันข้ามนั้นรับทราบถึงประเด็นที่ได้พยายามสื่อออกไปหรือไม่ และถ้าฝ่ายตรงกันข้ามออกมายืนกรานด้วยคำพูดเดิม ๆ แนวคิดเดิม ๆ อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องออกมายืนกรานคำพูดเดิม ๆ และความคิดเดิม ๆ เช่นกัน ด้วยความรู้สึกที่ว่าฝ่ายตรงกันข้ามยังไม่ได้รับรู้ในสิ่งที่ได้พยายามจะสื่อออกไป
และผมก็กำลังมองว่านี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองในบ้านเมืองไทยนั้นไม่มีวี่แววที่จะถึงจุดจบเสียที เพราะสิ่งที่ถูกสื่อสารกันไปมากันระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงนั้นมิได้เป็นสิ่งที่ตอบโต้กันแต่อย่างใด มิได้เป็นการสื่อสารเพื่อก่อให้เกิดการต่อยอดทางประเด็นทางการเมืองแต่อย่างใด
หลาย ๆ ท่านที่สนใจติดตามข่าวการเมืองแต่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งก็เริ่มรู้สึกเบื่อในสารที่สื่อออกมาจากแต่ละฝ่าย ซึ่งมิใช่เป็นเพราะว่าพวกเขาไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่เป็นเพราะว่าสิ่งที่กลุ่มคนเสื้อเหลือง และกลุ่มคนเสื้อแดงออกมาสื่อให้ฝ่ายตรงข้าม และประชาชนทั่วไปให้รับทราบนั้น เป็นเรื่องแนวคิดเดิม ๆ ประเด็น
เดิม ๆ ตามความยึดติดในตัวตนที่มีอยู่ เนื้อหาที่ออกมาจากสื่อมิได้ก่อให้เกิดการต่อยอดองค์ความรู้อะไรใหม่ ๆ และการที่เอาประเด็นเดิม ๆ ออกมาสื่อกันไปสื่อกันมานั้น ผมก็ไม่เห็นทางออกเลยว่าความขัดแย้งจะจบลงได้อย่างไร หรือถ้าจะให้เปรียบก็คือ คนสองคนทะเลาะกัน มีความคิดที่ต่างกัน แล้วนานวันไปสิบ ๆ ปี ความคิดของคนสองคนนี้ก็ยังเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญก็คือมันยังเป็นความคิดที่ต่างกันเหมือนเดิม
แต่ทว่าถ้าคนสองคนนี้ลองมาคุยกันแบบฟังกันบ้าง ก่อนจะสื่ออะไรออกไปก็ลองเอาประเด็นของฝ่ายตรงกันข้ามมาสะท้อนและอภิปรายกันบ้าง ผมเชื่อว่าเนื้อหาที่จะออกมาในสื่อนั้นน่าจะมีประเด็นหรือแนวคิดอะไรใหม่ ๆ ออกมาด้วย และสิ่งนี้จะช่วยทำให้การเมืองไทยนั้นมีวิวัฒนาการอย่างแท้จริง จริง ๆ แล้วความขัดแย้งมิใช่เรื่องเสียหาย การบริหารราชการบ้านเมือง หรือบริหารองค์กรต้องมีความขัดแย้งกันบ้าง เพื่อให้เกิดมุมมองที่แตกต่างกันไป เพื่อก่อให้เกิดบทสรุปของวิธีการบริหารราชการแผ่นดินที่ดีที่สุด มิเช่นนั้น จะมีทั้งฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านไปเพื่ออะไร ส่วนกรณีของกลุ่มคนเสื้อเหลือง และเสื้อแดงนั้น ถ้าจะมองโลกในแง่ดี ก็ต้องกล่าวขอบพระคุณพวกเขาที่แสดงจิตวิญญาณของความเป็นคนไทย ที่กล้าหาญพอที่จะออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง
แต่อย่างที่ผมได้เรียนให้ทราบว่า การบริหารความขัดแย้งนั้นต้องใช้สติ ต้องใช้ขันติในการระงับความโกรธ และความอยากเอาชนะ เปลี่ยนมาเป็นการใช้ปัญญาเพื่อที่จะหาทางออกให้กับบ้านเมืองไทย โดยพยายามที่จะฟังซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง และนำประเด็นที่ได้จากการฟังมาต่อยอดเป็นองค์ความรู้ที่จะเป็นหนทางไปสู่ความสงบสุขในประเทศชาติต่อไป ผมหวังว่าคนไทยจะกลับมารักกันในเร็ววันนี้