ที่มา มติชน
โดย วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ฝูงชนเหล่านี้แม้กระทั่งม็อบที่จงรักภักดีก็ไม่มีใครสามารถกำกับให้กระทำอะไรได้ดังใจ โดยเฉพาะในยามอยู่กันหนาแน่นและเกิดตกใจวิ่งแยกจากกัน แต่ละคนในฝูงชนจะมีพฤติกรรมของตนเอง โดยขึ้นอยู่กับคนที่อยู่ถัดไป เช่น แรงผลักเบาๆ จากคนข้างๆ ก็จะกลายเป็นแรงผลักไปสู่คนถัดไป แต่ถ้าบริเวณนั้นมีความแออัดมากขึ้น แรงผลักเหล่านี้ก็อาจกลายเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดการตกอกตกใจ ผู้คนวิ่งกันออกไปคนละทิศทางก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงขึ้นได้ทันที
ความเข้าใจพลวัตของการเคลื่อนไหวของฝูงชนเช่นนี้มีความสำคัญมาก เช่น ถ้าเกิดเสียงระเบิด หรือไฟไหม้ขึ้นใกล้ๆ ฝูงชนใหญ่ คนเหล่านี้จะมีปฏิกิริยาอย่างไร? เส้นทางหนีหรือประตูออกควรอยู่ตรงที่ใดในสนามดูกีฬาขนาดใหญ่เมื่อเข้าใจธรรมชาติของฝูงชนแล้ว
ชาวมุสลิมที่ไปเมกกะนับเป็นล้านๆ คนต่อปี และเคยเกิดปัญหาเหยียบกันตายเป็นร้อยคนในอดีต ควรจัดการกับฝูงชนอย่างไรเพื่อหลีกหนีอันตรายอันเกิดจากความหนาแน่นของฝูงชนขนาดใหญ่
John D. Barrow ในหนังสือเกี่ยวกับการใช้คณิตศาสตร์อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ในโลก (100 Essential Things You Didn′t Know You Didn′t Know (2010) ชี้ให้เห็นพฤติกรรมของฝูงชนอย่างน่าสนใจ เขาบอกว่าการไหลของผู้คนก็เหมือนกับการไหลของของเหลว
ผู้คนอาจคิดว่าฝูงชนที่ต่างแตกต่างกันในเรื่องอายุ เพศ รายได้ วัฒนธรรม ฯลฯ จะมีพฤติกรรมในฝูงชนที่ต่างกันจนอธิบายอะไรไม่ได้เลย แต่ Barrow บอกว่าในความเป็นจริงแล้วผู้คนปฏิบัติเหมือนกันอย่างน่าแปลกใจ ความเรียบร้อยอย่างเป็นธรรมชาติของฝูงชนเกิดขึ้นเสมอ ลองสังเกตดูในสถานที่ที่ผู้คนแออัด ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬา รถไฟใต้ดิน สถานีขนส่ง ช็อบปิ้งมอลล์ ฯลฯ ดูก็ได้ ฝูงชนจะจัดการตัวของมันเอง ผู้คนจะเดินไหลเวียนกันเป็นระเบียบ จนเกิดความเป็นธรรมชาติขึ้น ไม่มีความติดขัดจนเกิดความตกใจและวิ่งเหยียบกัน
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะต่างคนกระทำดั่งที่คนข้างเคียงทำ ถ้าคนอยู่ใกล้ๆ เดินเหินปกติไม่มีการตกอกตกใจก็จะกระทำอย่างเดียวกัน อาจเดินสวนกันหรือเดินตามกันตามเส้นทางอย่างสงบสุข
เมื่อศึกษาพฤติกรรมของฝูงชนลึกลงไปก็พบว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 ขั้นตอนเหมือนกับการไหลของของเหลว
ขั้นตอนแรก เมื่อไม่มีคนแออัดมากนัก และฝูงชนเคลื่อนไหวกันไปในทิศทางเดียวกัน เช่น เดินออกจากอัฒจันทร์กีฬาเพื่อกลับบ้าน คลื่นฝูงชนก็จะไหลไปในอัตราความเร็วใกล้เคียงกัน ไม่มีการหยุด และเริ่มเคลื่อนไหวใหม่
อย่างไรก็ดี หากความหนาแน่นสูงขึ้นอย่างมากก็จะเข้าสู่ขั้นตอนสอง คราวนี้ร่างกายจะสัมผัส ผลักกันไปมาและการเคลื่อนไหวเริ่มจะเป็นไปในหลายทิศทาง โดยในภาพรวมการเคลื่อนไหวจะ "กระตุก" ไปมา มีลักษณะไปๆ หยุดๆ คล้ายคลื่นในทะเลที่มาเป็นลูกๆ
คำอธิบายก็คือความหนาแน่นที่เพิ่มขึ้นทำให้อัตราความเร็วของการเดินไปข้างหน้าลดลง และจะมีความพยายามของบางคนที่จะออกไปข้างๆ แทน ตราบที่บางคนคิดว่าจะทำให้ไปได้เร็วขึ้น (คนเหล่านี้มีจิตวิทยาเหมือนกับคนขับรถบางคนบนถนนที่ติดขัดก็จะเลือกหาช่องทางที่ไปข้างหน้าได้เร็วขึ้นด้วยการมุดไปทางซ้ายและขวา) การกระทำเช่นนี้ทำให้เกิดผลกระทบต่อคนอื่น โดยทำให้เคลื่อนไปข้างหน้ากันได้ช้าลง เพราะต้องหลีกไปข้างๆ เพื่อให้คนเหล่านี้แทรกเข้ามา คราวนี้ก็จะเกิดคลื่นไปๆ หยุดๆ ของการเคลื่อนไหวไปข้างหน้าของฝูงชน ณ จุดนี้ยังไม่ถึงกับเป็นอันตราย แต่เป็นสัญญาณว่ามีความเป็นไปได้ว่าสิ่งเลวร้ายกว่านี้กำลังจะเกิดขึ้น
ขั้นตอนสาม เมื่อความแออัดมากยิ่งขึ้นอีก ความวุ่นวายไร้ระเบียบ (chaos) ก็จะเกิดขึ้นคล้ายกับของเหลวเมื่อประสบการอุดตันของท่อก็จะไหลเวียนด้วยความรุนแรงยิ่งขึ้น ผู้คนจะพยายามไปในทิศทางใดก็ได้เพื่อหาที่ว่าง โดยผลักคนที่อยู่ข้างๆ อย่างรุนแรงจนอาจทำให้บางคนล้มลงขวางทาง ซึ่งยิ่งทำให้มีพื้นที่ว่างน้อยลงและตกใจมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกพลัดพรากจากพ่อแม่
เหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นในหลายพื้นที่พร้อมๆ กันในฝูงชนซึ่งใหญ่และหนาแน่นมาก ผลกระทบจะกระจายออกไปอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้ในที่สุด เสียงร้องแสดงความตกใจหรือเจ็บปวดจะยิ่งเร่งเร้าให้แต่ละคนเคลื่อนไหวไปในทุกทิศทางอย่างไร้จุดหมายเพื่อหาที่ว่าง ถ้าไม่มีการแทรกแซงอย่างเป็นระบบเพื่อทำให้ความแออัดลดลง หรือตัดกลุ่มฝูงชนที่เป็นปัญหาออกจากฝูงชนใหญ่แล้ว ก็จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมได้
การเปลี่ยนแปลงจากขั้นตอนหนึ่งถึงสามอาจใช้เวลาไม่กี่นาทีหรืออาจถึงครึ่งชั่วโมงโดยขึ้นอยู่กับขนาดของฝูงชน ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าวิกฤตจะเกิดขึ้นหรือไม่และเมื่อใดกับฝูงชนใดฝูงชนหนึ่ง แต่การเฝ้าติดตามดูลักษณะการเคลื่อนไหวของฝูงชนที่ไปๆ หยุดในบางจุดของฝูงชนใหญ่ สามารถช่วยป้องกันไม่ให้นำไปสู่ขั้นตอนที่สามได้
ความรู้ข้างต้นนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมฝูงชนที่ออกจากสนามกีฬาหลังฟุตบอลลีกเลิก แต่ไม่อาจช่วยการไล่เหยียบกรรมการหรือฝ่ายตรงข้ามได้ เนื่องจากนักคณิตศาสตร์ยังไม่สามารถนำ "ความป่าเถื่อน" มาใช้เป็นตัวแปรในสมการคณิตศาสตร์ได้