ที่มา ประชาไท
วงคุยเรื่อง"คน ศิลปะ การเมือง" ที่ร้านเล่า จ.เชียงใหม่ มองวัฒนธรรมเสื้อแดงขาดพื้นที่ในสื่อหลัก ซ้ำถูกสร้างภาพให้ดูรุนแรง ระบุเมื่อ "การปั้นแต่งมติมหาชน" โดยรัฐไม่ได้ผล รัฐจึงต้องใช้กฏหมายลิดรอนเสรีภาพ
วันที่ 5 มี.ค. 2554 ที่ร้าน 'เล่า' จ.เชียงใหม่มีการจัดพิธีเปิดนิทรรศการภาพถ่ายขาว-ดำ Gray "Red-Shirt" พร้อมการเสวนาเรื่อง "คน ศิลปะ การเมือง" โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ รศ.ดร. ไชยันต์ รัชชกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, วันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปลอิสระ บรรยากาศภายในงาน มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างเป็นกันเอง
ภาพบางส่วนในนิทรรศการภาพถ่ายขาว-ดำ Gray "Red-Shirt"
(แฟ้มภาพ ประชาไท)
วัฒนธรรมเสื้อแดงขาดพื้นที่ในสื่อหลัก
วันรัก กล่าวถึงประเด็น "ศิลปะกับการเมืองและการเมืองในศิลปะ" โดยตั้งข้อสังเกตว่า หลังการสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงวันที่ 19 พ.ค. 2553 ทางฝ่ายรัฐรณรงค์โดยอาศัยแรงทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม มีการใช้ศิลปินเพลงป็อบ การจัดนิทรรศการภาพถ่ายมาช่วยรณรงค์พร้อมกับคำจำพวก "หยุดทำร้ายประเทศไทย" "คืนรอยยิ้มให้สยาม" โดยมีการเน้นการใช้คำว่า "รอยยิ้ม" และ "ความรัก" รวมถึงการแสดงภาพความเป็นศาสนาพุทธ ขณะเดียวกันก็มักจะแสดงภาพของผู้ชุมนุมเสื้อแดงไปในทางที่ดูรุนแรง ภาพของการใช้อาวุธ แม้ว่าบางภาพของเสื้อแดงจะไม่ได้รุนแรงเลยแต่ก็พยายามทำให้ดูรุนแรงด้วยวิธีการนำเสนอ
วันรัก ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่างานด้านวัฒนธรรมของฝ่ายอนุรักษ์นิยมเหล่านี้ มีการใช้รูปแบบที่ดูไม่เชย ทำให้ดูเท่ ดูแนวได้ รัฐไทยจึงสามารถดึงความสนใจของวัยรุ่น-คนรุ่นใหม่ได้ ถือว่าประมาทอำนาจทางสุนทรียตรงนี้ไม่ได้เลย
ด้านไชยันต์ รัชชกูล ตั้งคำถามว่าเหตุใดฝ่ายอนุรักษ์นิยม ถึงไม่ยอมมาต่อสู้ในพื้นที่ของการใช้ปัญญา (Intelletual Force) ซึ่งโดยส่วนตัวไชยันต์คิดว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่สนใจในเรื่องการใช้สติปัญญาถกเถียงกัน ถ้าไม่สนใจฟังก็จะใช้กำลัง หรืออีกวิธีคือการอาศัยพื้นที่ด้านศิลปวัฒนธรรมดังที่กล่าวมาก่อนหน้านี้
วันรักเองก็เห็นด้วยว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่สนใจต่อสู้ในพื้นที่ของการใช้ปัญญาแต่หันมาใช้วัฒนธรรมสื่อกระแสหลัก (Mass Media Culture) ทำให้เกิด "การสำแดงทางวัฒนธรรม" (Cultural Manifestation) พอกล่าวถึงประเด็นนี้ ไชยันต์ก็ให้ความเห็นว่าฝ่ายเสื้อแดงเองก็มีสื่อศิลปะของตนเอง เช่น เพลงของคนเสื้อแดง ที่ไม่มีพื้นที่ในสื่อกระแสหลัก แต่มีการเปิดฟังกันเองในหมู่คนเสื้อแดงผ่านวิทยุชุมชน ซึ่งขณะเดียวกันการขาดช่องทางในการสื่อสารทางวัฒนธรรมก็ทำให้การต่อสู้ในเชิงวัฒนธรรมลำบาก
"การปั้นแต่งมติมหาชน" โดยรัฐไม่ได้ผล จึงต้องใช้กฏหมายลิดรอนเสรีภาพ
ด้านพิภพ บอกว่าเท่าที่เขาเห็นมาฝ่ายขวามักจะสร้างวาทกรรมว่าเสื้อแดงมีความเป็นลูกทุ่ง และการที่ศิลปะของเสื้อแดงเช่นเพลงของเสื้อแดงไม่มีพื้นที่แสดงออกในสื่อวิทยุทั่วไปเนื่องจากถูกตีตราว่าไม่ใช่วัฒนธรรมคนเมือง ไม่ใช่วัฒนธรรมปัญญาชน นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตการนำเสนอเรื่องของเสื้อแดงในสื่อกระแสหลักว่ามักจะไม่ถ่ายภาพประชาชนผู้ชุมนุม และหากมีการนำเสนอก็มักมีแต่ภาพลบ ขณะที่เสื้อเหลืองจะมีภาพประชาชนผู้ชุมนุมที่กำลังร้องเล่นเต้นรำอย่างสนุกสนานเฮฮา
"เหมือนคนรวยเท่านั้นที่มีสิทธิเต้นรำได้ ขณะที่คนจนๆ มาเต้นรำแล้วไม่น่าดู" พิภพกล่าว และว่าความพยายามของรัฐในการทำให้เกิด "การปั้นแต่งมติมหาชน" (Manufacturing Consent) นั้นไม่ค่อยเกิดผลเท่าไหร่ รัฐถึงต้องอาศัยมาตรการทางกฏหมายเช่นการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ , พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ รวมถึงการใช้กฏหมายมาตรา 112 เพราะใช้การขับกล่อมทางวัฒนธรรมไม่ได้ผล สาเหตุที่ไม่ได้ผลคงต้องไปถามคนเสื้อแดงดูเอง การแสดงความคิดเห็นของเสื้อแดงจึงถูกการใช้อำนาจเหล่านี้กดทับ ซึ่งถือเป็นเรื่องการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Speech) ของพลเมืองซึ่งเป็นหลักการสากล
วันรัก กล่าวถึงกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมของเสื้อแดง โดยยกตัวอย่างงานคอนเสิร์ตระดมทุนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนนำมาซึ่งการถกเถียงกันซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี โดยสำหรับเสื้อแดงแล้วจุดนี้เหมือนการยกระดับการทำกิจกรรมในพื้นที่ชุมนุมขึ้นมาบนเวที
กรณีที่สื่อของเสื้อแดงถูกปิดช่องทางการแสดงออกนั้น วันรักมองว่าการที่สื่อกระแสหลักผูกขาดทุกอย่างทำให้ต้องช่วยกันตั้งคำถามว่าจะสร้างพื้นที่ได้อย่างไร เนื่องจากเรื่องราวของเสื้อแดงเป็นเรื่องเล่า (Narrative) กระแสรองอยู่แล้ว เช่นเดียวกับในยุค 14 ตุลาฯ เรื่องราวในตอนนั้นช่วงแรกๆ ก็ยังเป็นเรื่องเล่าในกระแสรองอยู่ วิธีการคือเราต้องช่วยกันสร้างเรื่องเล่ากระแสรองขึ้นมาเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งมันจะซึมซับเข้าไปในจิตใจคน เนื่องจากเรื่องราวเหล่านี้มีความเป็นประวัติศาสตร์ในตัวมันอยู่แล้ว
ด้านไชยันต์ร่วมตั้งคำถามว่าศิลปะของฝ่ายรัฐมีผลกระทบกระเทือนมากขนาดไหน ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามว่าเราจะแยกได้อย่างไรว่าอะไรเป็นกระแสหลัก-กระแสรอง โดยไชยันต์ตั้งข้อสังเกตว่าจากนิยามแล้วสื่อกระแสหลักน่าจะหมายถึงสิ่งที่ส่งไปถึงผู้คนส่วนมาก โดยไม่จำกัดที่ลักษณะของสื่อก็เป็นได้
ขณะที่วันรักเตือนว่า เราต้องระวังการประเมินตนเกินจริง (Overestimate) ในเรื่องจำนวน และอย่าคิดว่าสิ่งที่ส่งผ่านให้กันดูจะสามารถมีผลกระเทือนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองได้ทันที เราอาจจะให้ความหวังตัวเองได้ แต่สิ่งที่คนข้างนอกวงเราไม่ได้เห็นอย่างที่เราเห็น ขณะที่เรื่องความเป็นกระแสหลัก-กระแสรองนั้นพิภพมองว่า งานภาพถ่าย Gray "Red Shirt" ในวันนี้น่าจะนับเป็นกระแสหลักได้ แม้จะไม่ตรงตามความหมายของสื่อมวลชนก็ตาม
พิภพมองว่าการที่มีกลุ่มทางการเมืองที่ขัดแย้งกันเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่เห็นด้วยกับการที่มีคนบอกว่าปัญหาในประเทศที่เกิดขึ้นมาจากการที่คนไทยแบ่งแยกกันออกเป็นฝักฝ่าย และการแบ่งแยกเช่นนี้ถือเป็นสิ่งที่ดีเพราะมันคือสิ่งที่บ่งชี้เรื่องความหลากหลายทางความคิด เช่นที่สหรัฐอเมริกา ก็มีการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจน 2 ฝ่ายคือฝ่ายสนับสนุนพรรครีพับลิกัน กับฝ่ายเดโมแครต เพียงปัญหาในประเทศไทยอยู่ตรงที่สนามของฝ่ายที่ขัดแย้งกันสองฝ่ายมีระดับไม่เท่ากัน สนามของอีกสีมักจะสูงกว่าอีกสี สิ่งที่ควรแก้คือการทำให้สนามเท่ากัน
"ปัญหาที่แท้จริงตอนนี้คือการที่ฝ่ายรอยัลลิสต์ไม่ยอมให้คนที่เชื่อต่างจากตนมีชีวิตอยู่" พิภพกล่าว
ศิลปะคือการกระแทกกระทั้น บ่อนเซาะ ความจริงที่ถือว่าเป็นธรรมชาติ
วันรักกล่าวว่า ศิลปะที่มีการนำเสนออุดมการณ์ทางการเมืองชัดเจนจะเรียกว่า โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เช่นศิลปะแนวสัจจสังคมนิยมรัสเซีย จีน แต่งานภาพถ่ายชุดนี้เป็นสิ่งที่มีเรื่องเล่า (Narrative) ในตัวเองและเป็นเรื่องเล่าที่เป็นสิ่งที่เราอยู่กับมันทุกวัน โดยที่มันเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจทางศิลปะ ที่อยากชวนผู้ชมช่วยกันมองว่าเรื่องเล่าที่พวกเราได้รับเป็นเรื่องเล่าแบบใด เราเอาตัวเองไปผูกกับมันได้แค่ไหน มันสะท้อนอะไร และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือไม่
ไชยันต์กล่าวถึงรูปภาพในงานนี้โดยตั้งคำถามว่า งานชุดนี้แตกต่างจากภาพอื่นๆ ที่ถ่ายกันอย่างไร อะไรที่ทำให้ภาพเหล่านี้กลายเป็นชิ้นงานศิลปะ (Object of Art) ขึ้นมาได้ โดยส่วนตัวไชยันต์เห็นว่ารูปในงานนี้มีความเป็นศิลปะมากจากการที่มัน "ลดทอนความจริงที่เราคุ้นเคย" (Defamiliarize Reality) เทียบกับรูปที่ลงตามหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นเหมือนการไปก็อปปี้ภาพความจริงมา แต่ภาพในงานนี้เป็นการทำให้เกิดความจริงใหม่ที่เราไม่คุ้นเคย โดยจะสังเกตเห็นว่ารูปที่นำเสนอมีอยู่เพียงรูปเดียวที่แสดงให้เห็นรูปในระดับผู้นำ และไม่ได้แสดงให้เห็นความอลังการ (Grandeur) ของเสื้อแดง แต่เน้นรูปของบุคคลเป็นคนๆ ไป ต่างจากภาพของ 14 ตุลาฯ รวมถึงพฤษภาทมิฬ ซึ่งมักแสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่ รูปของขบวนการนักศึกษา แต่ไม่มีรูปของบุคคลธรรมดาเหล่านี้
"รูปเหล่านี้ต่างจากศิลปะแนว Propaganda" ไชยันต์กล่าว "แนว Propaganda คือการที่พูดอยากมาอย่างนั้นมันก็ต้องเป็นอย่างนั้น แต่ภาพเหล่านี้ไม่ได้มี Narrative ในตัวมัน เป็นหน้าที่ของคนดูที่ต้องต่อเติมเอง"
ด้านวันรัก ซึ่งให้ความหมายของ "เรื่องเล่า" จากคำว่า "Narrative" ว่าหมายถึงชุดความคิดที่เล่ากันมาอย่างตายตัว เช่น "เราต้องรักพ่อแม่" "เราต้องเป็นผู้หญิงแบบนี้" ฯลฯ และศิลปะเท่านั้นที่ทำให้เกิดการบ่อนเซาะ ตั้งคำถามกับ Narrative และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนถกเถียง ซึ่งในประเทศไทยยังขาดกระบวนการแลกเปลี่ยนถกเถียงกันในแวดวงศิลปะ "ศิลปะคือการกระแทกกระทั้น บ่อนเซาะ ความจริงที่ถือว่าเป็นธรรมชาติ" วันรักกล่าว
วันรักยังได้ตอบคำถามผู้เข้าร่วมเสวนาท่านหนึ่งซึ่งแสดงความเห็นว่าศิลปะแนวเพื่อชีวิต เพื่อการเมืองในปัจจุบันลดลงไปหรือเปล่า ว่า ศิลปะไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องแนวเพื่อชีวิตซีเรียส ศิลปะต้องทำให้มันตลก เช่นที่ บก.ลายจุด ได้รับความนิยมเนื่องจากมีอารมณ์ขันและเป็นอารมณ์ขันแบบที่บ่อนเซาะหรือตั้งคำถาม
คนเสื้อแดงเป็นศิลปินในตัวเอง
ขณะที่พิภพกล่าวว่า ศิลปะสำหรับเขาแล้วคือการแสดงออก (Expression) ซึ่งทำให้คนเสื้อแดงเองมีความเป็นศิลปินอยู่ในตัว เช่น เมื่อตอนที่เขาได้ไปอยู่ในที่ชุมนุมก็จะพบคำขวัญใหม่ๆ ทุกวัน และต้องตีความว่าเขาพูดถึงอะไรกัน และศิลปะจากคนเสื้อแดงนั้นมีความหลากหลายมาก ภาพของคนเสื้อแดงจึงไม่ใช่เป็นแค่วัตถุ (object) ทางศิลปะอย่างเดียว แต่พวกเขาเป็นศิลปินในตัวเองด้วย